ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมอสูตินรีเวช รพ.โชคชัย” สวนกระแส ขอดูแลคนไข้ รพช. ระบุ หมอหนึ่งคนมีประโยชน์ต่อคนไข้พื้นที่ขาดแคลนมากกว่า เผยช่วง 10 ปี รุกพัฒนาศักยภาพ รพ.ขยายดูแลประชากร 4 อำเภอเข้าถึงการรักษา แถมเปิดผ่าตัดต่อเนื่อง ทำคลอด 1 พันรายต่อปี ผ่าตัดรักษาโรค 700 รายต่อปี ไม่รวมผ่าตัดย่อย ขณะที่ยอดรวม 8 ปี ผ่าตัดแล้วกว่า 5,500 ราย พร้อมให้กำลังใจแพทย์เฉพาะรุ่นน้องทำงาน รพช.อย่าท้อ สะท้อนมุมมองระบบสาธารณสุขไทย จุดเด่นมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าช่วยแพทย์รักษาผู้ป่วยได้เต็มที่ แต่ติงแนวคิดบริหารสาธารณสุขรวมศูนย์ ส่งผลแพทย์และทรัพยากรกระจุกตัวแค่ รพ.ในเมือง    

สูตรสำเร็จหลังการเรียน “แพทย์เฉพาะทาง” คือการมุ่งเข้าสู่การทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) โรงเรียนแพทย์ หรือแม้แต่โรงพยาบาลเอกชน เพราะด้วยความพร้อมทั้งเครื่องมือและครุภัณฑ์ทางการแพทย์ รวมถึงทีมบุคลากรที่ช่วยสนับสนุน ไม่เพียงแต่เอื้อต่อการรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความเสี่ยงให้กับแพทย์เองกรณีเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น 

ด้วยเหตุนี้ ที่ผ่านมาจึงมีแพทย์เฉพาะทางเลือกเข้าทำงานและดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) น้อยมาก นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล แพทย์เฉพาะทางสูตินรีเวช ไม่เพียงแต่เป็นหนึ่งในแพทย์เฉพาะทางในจำนวนน้อยนี้ แต่ยังให้การรักษาและผ่าตัดผู้ป่วยที่โรงพยาบาล (รพ.) โชคชัย ซึ่งเป็น รพช.ในจังหวัดนครราชสีมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันได้เข้าสู่ปีที่ 10 ของการเป็นหมอโรงพยาบาลชุมชนแล้ว

นพ.แมนวัฒน์ โชคสุวัฒนสกุล

นอกจากความผูกผันที่มีต่อคนไข้และ รพ.โชคชัย ในช่วงที่เป็นแพทย์ใช้ทุนเมื่อ 14 ปีก่อน จนกลายเป็นแรงดึงดูดให้ทำงานในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเรียนจบเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านสูตินรีเวชและยังได้เรียนต่ออัลตร้าซาวด์สูตินรีเวชระดับสูงก็ตาม นพ.แมนวัฒน์ เล่าว่า อีกเหตุผลหนึ่งที่สำคัญคือ การได้เห็นความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงการรักษาพยาบาลในช่วงทำงานเป็นแพทย์ใช้ทุน โดยพบว่าคนเมืองมีโอกาสเข้าถึงบริการสุขภาพที่ดีกว่า เพราะมีความได้เปรียบทั้งด้านรายได้และระยะทาง อีกทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมทางการแพทย์ทุกด้านมักตั้งอยู่ในเมือง ต่างจากชาวบ้านที่อยู่ในชนบทและห่างไกล ขณะนั้น รพ.โชคชัย เป็น รพช.เล็กๆ ขนาด 30 เตียง และมีแพทย์ประจำเพียงแค่ 2 คนเท่านั้น คือผู้อำนวยการโรงพยาบาลและตนในฐานะแพทย์ใช้ทุน จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านพื้นที่ห่างไกลได้รับการดูแลด้านสุขภาพที่ดีกว่านี้  

แต่ด้วยข้อจำกัดศักยภาพ รพ.โชคชัยตอนนั้น และตนเองที่เป็นเพียงแพทย์ใช้ทุน จึงทำอะไรไม่ได้มาก แม้ว่าจะมีการผ่าตัดรักษาผู้ป่วยในบางกรณีก็ตาม แต่ส่วนใหญ่จะเลือกส่งต่อคนไข้ไปใน รพ.ในเมืองแทนเพื่อความปลอดภัยคนไข้

นพ.แมนวัฒน์ เล่าต่อว่า หลังเรียนต่อเป็นแพทย์สูตินรีแล้ว จึงกลับมาพัฒนาการบริการของ รพ.โชคชัยอย่างต่อเนื่อง เพิ่มศักยภาพการรักษา โดยเฉพาะการผ่าตัด และแม้จะเป็นสูตินรีแพทย์ แต่นอกจากการทำคลอด ผ่าตัดคลอดและการทำหมัน รวมถึงการผ่าตัดด้านสูตินรีอื่นแล้ว ยังให้การผ่าตัดรักษาโรคให้กับผู้ป่วย ทั้งไส้ติ่งอักเสบ ไส้เลื่อน และกระเพาะทะลุ บางราย รวมถึงการผ่าตัดอื่นที่ใช้ยาชาเฉพาะที่ โดยร่วมกับแพทย์รุ่นน้องที่เป็นแพทย์ใช้ทุน เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่จำเป็นโดยไม่ต้องรอการส่งต่อ และเดินทางเข้าเมืองที่มีระยะทางไกลมากที่เป็นอุปสรรคในคนไข้บางราย

“การเปิดผ่าตัดรักษาคนไข้ที่ รพ.โชคชัยเริ่มต้นมีปัญหาด้านความพร้อมเหมือนกัน ทั้งเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถจัดหาและพัฒนาขึ้นได้ หากแพทย์และทีมมีความพร้อมเพียงพอ รวมถึงทัศนคติที่มุ่งมั่นทำงาน ดังนั้นนอกจากการสนับสนุนจากผู้อำนวยการแล้ว ยังได้ระดมทุนจากประชาชนและองค์กรเอกชนเพื่อเพิ่มศักยภาพ รพ. ทั้งนี้ปัจจุบัน รพ.โชคชัยได้ยกระดับเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง มีแพทย์ประจำทั้งหมด 7 คน โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาล 1 คน อายุรแพทย์ 2 คน กุมารแพทย์ 1 คน สูตินรีแพทย์ 1 คน และแพทย์ใช้ทุนซึ่งเวียนมาปีละ 2 คน

เฉพาะในส่วนงานด้านสูตินรีเวช รพ.โชคชัย รับผิดชอบดูแลประชากรเกือบ 400,000 คน ใน 4 อำเภอ ได้แก่ โชคชัย หนองบุญมาก เสิงสาง และครบุรี โดยมีขยายรองรับด้วยห้องผ่าตัด 2 ห้อง เครื่องดมยา และเครื่องมืออื่นๆ ที่จำเป็น มีระบบสำรองเลือดครบทุกหมู่มีเครื่องอัลตร้าซาวด์ 5 เครื่องโดย 2 เครื่องเป็น 4 มิติ ซึ่งคนไข้ที่นี่ได้ตรวจอัลตร้าซาวด์ 3D ทุกรายในช่วงตรวจคัดกรอง 5 เดือน นอกจากนั้นยังมีอาคารหลังคลอดที่สร้างด้วยเงินบริจาคจากคนในชุมชน ไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน” นพ.แมนวัฒน์ กล่าว

นพ.แมนวัฒน์ กล่าวว่า จากศักยภาพของ รพ.ปัจจุบันทำให้มีผู้ป่วยเข้ารับบริการเพิ่มขึ้นอย่างมาก นอกจากนี้ยังสามารถรับส่งต่อคนไข้จากโรงพยาบาลใกล้เคียงและมีผู้ป่วยในจังหวัดอื่นๆ อย่าง กทม. ปทุมธานี อยุธยา และจังหวัดในภาคอีสานมารับการรักษาที่ รพ. ส่งผลให้กรณีทำคลอดอยู่ประมาณ 1,000 รายต่อปี ขณะที่ผู้ป่วยผ่าตัดต่างๆ อยู่ที่ประมาณ 650-700 รายต่อปี โดยตนเองเป็นผู้รับผิดชอบและดูแลการผ่าตัด รวมทั้งให้คำปรึกษาในรายที่เป็นปัญหา ทั้งนี้หากรวมยอดการผ่าตัดที่ รพ.โชคชัย ในช่วง 8 ปี หลังจากที่ได้จบแพทย์เฉพาะทางและกลับเข้าทำงาน ขณะนี้น่าจะเกิน 5,500 รายแล้ว ไม่นับรวมการผ่าตัดเล็กนอกห้องผ่าตัดอีก

เมื่อพูดถึงการผ่าตัด รพช. แล้ว ในแง่การทำงานของแพทย์ ยอมรับว่ามีความแตกต่างจากการผ่าตัด รพ.ใหญ่ เนื่องจากแพทย์ รพช.ต้องรับผิดชอบทุกอย่าง ตั้งแต่รักษา วินิจฉัยโรค ไปจนถึงผ่าตัด ดมยาและดูแลคนไข้หลังการผ่าตัด หากเกิดปัญหาขึ้นต้องดูแลรับผิดชอบเองทั้งหมด นับว่ามีความเสี่ยงมากกว่า แต่ที่ยังคงเลือกทำงานรักษาคนไข้ที่ รพ.โชคชัย เพราะมองว่า

“หมอคนหนึ่งจะทำประโยชน์ให้กับคนไข้ที่อยู่ในพื้นที่ขาดแคลนได้มากกว่าในเมือง ซึ่งมีทั้งโรงพยาบาลใหญ่และหมอก็มีเยอะแล้ว ไม่ขาดแคลน”

อีกทั้งการทำงานโรงพยาบาลขนาดเล็กมีความอิสระคล่องตัว สามารถดึงศักยภาพที่มีออกมาใช้ได้มากกว่า อยากทำโครงการอะไร พัฒนาอะไรก็ได้รับความร่วมมือดี ด้วยเหตุนี้จึงขอทำงานต่อที่นี่ แม้ว่าที่ผ่านมาหลายครั้งจะมีโอกาสโดยได้รับการชักชวนให้เข้าไปทำงานใน รพศ./รพท. และโรงเรียนแพทย์ก็ตาม  

“ฝากถึงแพทย์เฉพาะทางที่เพิ่งจบกลับมาทำงานว่าอย่าเพิ่งท้อ เราสามารถพัฒนาโรงพยาบาลให้ดีขึ้น พอที่เราจะสามารถทำงานของเราได้อย่างเต็มที่ได้ เพียงแต่ต้องอดทน และมีความพยายามในช่วงแรกเริ่มต้นเท่านั้น”

สำหรับปัญหาในการรักษาที่เกิดจากความบกพร่องและเหตุสุดวิสัย ที่มักเป็นที่วิตกกังวลสำหรับแพทย์จบใหม่ที่ต้องทำงานใน รพช.นั้น นพ.แมนวัฒน บอกว่า 14 ปีของการทำงานที่ รพ.โชคชัย มีกรณีที่เป็นปัญหาเกิดขึ้นเช่นกัน แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว การยอมรับผิดต่อคนไข้และญาติเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย และต้องพยายามเข้าไปแก้ไขและชดเชยความผิดพลาด ทำในทุกๆ เรื่องที่ควรทำ ทั้งการไกล่เกลี่ยกับผู้ป่วยและญาติ การดูแลรักษาคนไข้ต่อเนื่อง รวมไปถึงการพัฒนาปรับปรุงในส่วนที่เป็นปัญหา ประกอบกับการที่แพทย์ดูแลคนไข้ตั้งแรกเริ่ม ทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เข้าใจเจตนาที่ดีต่อกัน ส่งผลให้ทุกกรณีสามารถจบลงด้วยความเข้าใจที่ดีได้

ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นใน รพ.ร่อนพิบูลย์ ที่แพทย์ถูกฟ้องร้องนั้น สาเหตุเป็นเพราะไม่มีระบบรองรับการฟื้นคืนชีพกรณีเกิดปัญหาขึ้น ทำให้ช่วยชีวิตผู้ป่วยไม่ทัน ศาลจึงตัดสินเป็นการทำหัตถการที่ไม่ระวัง ซึ่งญาติเพียงแต่ต้องการให้แพทย์ยอมรับผิดและขอโทษเท่านั้น ไม่ได้ต้องการทำร้ายแพทย์ ประกอบกับขณะนั้นขาดการไกล่เกลี่ยและเจรจาที่ดี จนทำให้เกิดการฟ้องร้องขึ้น จึงเป็นกรณีตัวอย่างที่ทำให้ต้องระมัดระวังยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตามหลังเกิดกรณีที่ รพ.ร่อนพิบูลย์ ส่งผลให้แพทย์ รพช.ส่วนใหญ่เลี่ยงการผ่าตัดคนไข้และส่งต่อแทน ในฐานะหมอผ่าตัดใน รพช.มองว่า ไม่แต่เฉพาะการผ่าตัดเท่านั้น แต่รวมถึงการรักษาผู้ป่วยโรคซับซ้อนยังเป็นสิ่งที่แพทย์ รพช. ต้องพัฒนาต่อไป ด้วยเหตุนี้ไม่เพียงแต่ทำให้ รพ.โชคชัย ยังคงเดินหน้าผ่าตัดรักษาให้กับคนไข้ แต่กลับมีการขยายศักยภาพการผ่าตัดมากขึ้น สำหรับในส่วนกรณีของแพทย์จบใหม่นั้น มองว่าระยะหลังถูกสอนให้ระมัดระวังการผ่าตัดมากขึ้น รวมถึงปัญหากับผู้ป่วย บางครั้งมากไปจนทำให้แพทย์จบใหม่ไม่กล้าผ่าตัด ประกอบกับการเพิ่มพูนทักษะที่น้อย ทำให้เมื่อต้องอยู่คนเดียวที่ รพช.จึงเลือกส่งต่อผู้ป่วยแทน

ดังนั้นในฐานะ รพ.โชคชัย เป็น รพ.ศูนย์กลาง 4 อำเภอ จึงทำหน้าที่ให้คำปรึกษา เพิ่มพูนทักษะให้กับแพทย์รุ่นน้อง รพ.ใกล้เคียง เพื่อให้ความมั่นใจ โดยเปิดให้พาทีมและคนไข้เข้ามาฝึกผ่าตัดที่ รพ.โชคชัยได้ และเมื่อมีความพร้อมเขาจะสามารถผ่าตัดที่ รพ.เองได้ ขณะเดียวกันหากตนเองต้องผ่าตัดผู้ป่วยที่ซับซ้อนก็จะขอคำปรึกษาและความช่วยเหลือจากแพทย์รุ่นพี่ใน รพ.จังหวัดเช่นกัน โดยกรณีการผ่าตัดที่ยุ่งยากจะเชิญแพทย์ดมยาจาก รพ.จังหวัด และศัลยแพทย์จาก รพ.อื่นมาช่วยกันผ่าตัดที่นี่ ซึ่งการมีระบบรองรับแบบนี้จะทำให้น้องๆ ผ่าตัดผู้ป่วยด้วยความมั่นใจ เป็นประโยชน์กับคนไข้เต็มที่

นอกจากนี้ นพ.แมนวัฒน์ ยังได้ฝากมุมมองต่อระบบสาธารณสุขของประเทศในฐานะที่เป็นแพทย์ทำงานในระบบมา 14 ปี ว่า สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือการที่ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยได้เริ่มทำงานในช่วงรอยต่อของการเริ่มต้นโครงการ ซึ่งที่ชัดเจนมากคือคนไข้เพิ่มขึ้น ทั้งตัวเองและเพื่อนๆ ต่างบ่นไม่ชอบใจเพราะเหนื่อยมากขึ้น แต่พอทำงานนานขึ้นกลับรู้สึกมีความสุขกับการทำงานในฐานะแพทย์มากกว่าเดิม เพราะในการรักษาผู้ป่วยไม่เคยต้องลังเลถึงฐานะคนไข้และค่าใช้จ่าย ถ้าจำเป็นต้องตรวจและรักษาอะไรให้กับคนไข้ รวมถึงการส่งต่อก็ทำได้ และพอเป็นแพทย์เฉพาะที่ต้องดูแลคนไข้ซับซ้อนยิ่งชัดเจนมากขึ้น เพราะหากให้คนไข้ต้องจ่ายค่ารักษาเอง คงไม่มีคนไข้เข้าถึงการรักษาได้มากมายขนาดนี้ เชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศก็พอใจกับโครงการนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุง คือแนวคิดการบริหารทรัพยากรแบบรวมศูนย์ที่ทุกอย่างไปอัดอยู่ในเมือง การจัดสรรทรัพยากรไม่เหมาะสม แพทย์และบุคลากรจึงยังคงขาดแคลนต่อเนื่อง จึงอยากให้ระดับนโยบายผลักดันการกระจายทรัพยากรออกมามากกว่านี้ ไม่จำเป็นต้องมี รพ.ใหญ่ทุกอำเภอ แต่ควรกระจายออกมาให้คนไข้เข้าถึงง่ายขึ้น และเป็นการช่วยดึงคนไว้ในระบบด้วย เนื่องจากส่วนหนึ่งที่แพทย์ลาออกไม่ใช่เพราะไม่อยากทำงานในภาครัฐ แต่เป็นเพราะระบบและทรัพยากรต่างๆ ไม่เอื้อ ทำให้แพทย์ต้องเหนื่อยและเริ่มต้นด้วยตัวเองมาก หากต้องการดูแลคนไข้ได้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ