ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สสจ.ร้อยเอ็ดแถลงข่าวแจงหญิงท้องแฝดสามเสียชีวิตทั้งแม่และลูกหลังเข้ารักษา รพ. เหตุป่วยไข้หวัดใหญ่รุนแรง ไม่เกี่ยวการสอดท่อช่วยหายใจทำให้เด็กเสียชีวิต ที่แม่หายใจไม่ได้เป็นเพราะน้ำท่วมปอดจากภาวะปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง ระบุหญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะภาวะปอดอักเสบและอาจเสียชีวิตได้ เยียวยาตามแนวทางมาตรา 41

นพ.ปิติ ทั้งไพศาล

เว็บไซต์ร้อยเอ็ดทีวี รายงานว่า เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2558 ณ จ.ร้อยเอ็ด นพ.ปิติ ทั้งไพศาล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดร้อยเอ็ด แถลงข่าวชี้แจงกรณีสตรีตั้งครรภ์เป็นไข้หวัดใหญ่รุนแรงจนเสียชีวิตทั้งแม่และลูกว่ารู้สึกเสียใจกับเหตุการณืที่เกิดขึ้น พร้อมกับชี้แจงรายละเอียด ดังนี้ 

หญิงตั้งครรภ์ อายุ 17 ปี ท้องแรก อาชีพแม่บ้าน อาศัยอยู่ที่อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด สิทธิการรักษา บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตรวจพบว่าท้องแฝดโดยการอัลตราซาวด์เมื่อตั้งท้องได้ 4 เดือน

วันที่ 9 กันยายน 2558 เวลา 00.33 น. มาโรงพยาบาลด้วยอาการ ไข้ ไอ เจ็บคอมา 1 วัน ซึ่งตั้งท้องได้ 8 เดือน ปฏิเสธโรคประจำตัว ตรวจพบมีไข้สูง หมอบอกว่าเป็นโรคหลอดลมอักเสบและให้ยากลับไปกินต่อที่บ้านและให้มาฝากท้องตามนัดในตอนเช้า ซึ่งในตอนเช้าตรวจซ้ำไม่มีไข้ จึงให้ยาบำรุงครรภ์กลับบ้านไป

ต่อมาเวลา 20.30 น. มีไข้ ไอ เจ็บคอและเจ็บครรภ์ จึงกลับมาโรงพยาบาล พบมีไข้สูง ความดันเริ่มสูง 144/81 มม.ปรอท จึงให้นอนรักษาในโรงพยาบาลในห้องรอคลอด

เวลา 21.00 น. ตรวจภายในปากมดลูกเปิด 3 ซม. เนื่องจากท้องแฝด และยังไม่ครบกำหนดคลอด หมอได้คุยกับญาติจะส่งต่อโรงพยาบาลร้อยเอ็ดซึ่งมีความพร้อมทั้งคนและเครื่องมือ ในตอนนั้นตรวจคลื่นหัวใจทารกในท้องพบเต้นเร็ว 170-180 ต่อนาที จึงให้น้ำเกลือและใส่หน้ากากออกซิเจนช่วย และโทรปรึกษาโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ให้ยาฆ่าเชื้อทางหลอดเลือด

เวลา 21.30 น. ผู้ป่วยมีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว เหนื่อยหอบมาก นอนราบไม่ได้ จึงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาใส่ท่อหายใจที่ห้องฉุกเฉินและต่อเครื่องช่วยหายใจ พบความดันสูงมาก 200/120 มม.ปรอท จึงได้ให้ยาลดความดัน และสังเกตอาการจนคงที่แน่ใจว่าสามารถส่งต่อได้

เวลา 22.40 น. ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ถึงเวลา 23.45 น. ระหว่างเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น จึงได้ทำการกู้ชีพ พบหัวใจกลับมาเต้นปกติ จึงย้ายเข้าหอผู้ป่วยวิกฤตศัลยกรรม ภาพรังสีปอดพบปอดขวาเกือบทั้งหมดอักเสบและหัวใจโต ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นอีกครั้งเวลา 01.37 น. ทำการกู้ชีพประมาณ 30 นาที ไม่ตอบสนอง ปรึกษาญาติ ญาติไม่ประสงค์ให้กู้ชีพต่อ ผู้ป่วยเสียชีวิตเวลา 02.02 น. หลังเสียชีวิต ญาติขอให้ผ่าเด็กออก พบเป็นแฝดสาม

ผลการส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื้อเยื่อปอดและเนื้อเยื่อหัวใจ พบเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิด เอ ไทพ์ เอช 3 (Influenza A virus typing H3)

ประเด็นข้อสงสัยของญาติ

ถาม – วันแรกที่มาทำไมไม่ได้นอนโรงพยาบาล

ตอบ – เพราะตรวจและประเมินอาการ ผู้ป่วยไม่มีข้อบงชี้ในการนอนโรงพยาบาล และญาติไม่แสดงความจำนง

ถาม – ตอนเช้านัดมาฝากท้องตามนัด ใช้เวลานานขณะรอมีอาการหนาวสั่น แต่หมอบอกว่าไม่มีไข้

ตอบ – นานเนื่องจากรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ร่วมกับตรวจร่างกายไม่มีไข้

ถาม – หมอบอกจะส่งต่อโรงพยาบาลร้อยเอ็ดตั้งแต่เวลา 21.00 น. รถพร้อม ญาติพร้อม แต่กว่าจะได้ไปก็เวลา 22.40 น. ทำอะไรอยู่ ?

ตอบ – เพราะคนไข้มีอาการแย่ลงหายใจหอบเหนื่อย นอนราบไม่ได้ จำเป็นต้องให้การช่วยเหลือโดยใส่ท่อช่วยหายใจและรอสังเกตอาการจนกระทั่งมันใจว่าสามารถส่งต่อได้

ถาม – ทำไมโรงพยาบาลโพนทองไม่ทำการเอ็กซเรย์ปอดจะได้รู้ว่าป่วยเป็นอะไร

ตอบ – เพราะขณะนั้นผู้ป่วยมีอาการหนักเสี่ยงต่อการเสียชีวิต จึงต้องเร่งให้การช่วยเหลืออย่างฉุกเฉิน การเอ็กซเรย์ปอดจึงไม่ใช่ความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษา และสามารถรอมาทำที่โรงพยาบาลร้อยเอ็ดได้

ถาม – ญาติบอกว่าเป็นเพราะแฝดคนที่สามมาจุกที่คอหอยจึงทำให้หายใจไม่ได้ (เนื่องจากฝากครรภ์ตรวจพบแฝด 2หลังผ่าพบเป็นแฝด 3 จึงมีความคิดว่าทำให้แม่หายใจไม่ได้)

ตอบ – ที่แม่หายใจไม่ได้เป็นเพราะน้ำท่วมปอดจากภาวะปอดอักเสบติดเชื้อรุนแรง

ถาม – ญาติบอกว่า ตอนมา รพ.ยังเดินมาเองได้ แต่ไม่กี่ชั่วโมงกลับเสียชีวิต

ตอบ – ไข้หวัดใหญ่ในสตรีตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะภาวะปอดอักเสบและอาจเสียชีวิตได้

ถาม – มีแนวทางป้องกันอย่างไร ? ไม่อยากให้เกิดความสูญเสียอีก

ตอบ – มีนโยบายการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้แก่กลุ่มสตรีตั้งครรภ์อยู่แล้ว แต่มีปัญหาความครอบคลุมและจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอ ทั้งจังหวัดได้รับวัคซีนจำนวน 51,280 โด๊ส สำหรับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีตั้งครรภ์

ถาม -การเยียวยาจะช่วยเหลือญาติและครอบครัวอย่างไร?

ตอบ- บันทึกยื่นขอความช่วยเหลือตามช่องทาง มาตรา 41 แล้วคณะกรรมการจะพิจารณาอีกที

ความรู้เกี่ยวกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ (Influenza virus)

ไวรัสไข้หวัดใหญ่มี 3 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ A, B และ C โดยสายพันธุ์ที่มีการระบาดมากที่สุด คือ สายพันธุ์ A ซึ่งจำแนกต่อโดยไกลโคโปรตีน คือ Haemagglutinin มี 18 ชนิด (H1 – H18) และ Neuraminidase   มี 11 ชนิด (N1-N11) ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในปี พ.ศ. 2552 คือ ไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1

โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคหนึ่งที่พบว่า หญิงตั้งครรภ์มีความเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนจากไข้หวัดใหญ่มากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะภาวะปอดอักเสบและอาจเสียชีวิตได้ ทั้งนี้หญิงตั้งครรภ์มีการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ และมีความต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น โดยพบว่าหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นไข้หวัดใหญ่มีโอกาสต้องรับการรักษาตัวในโรงพยาบาลมากกว่าหญิงที่ไม่ได้ตั้งครรภ์และไม่เป็นไข้หวัดใหญ่ถึง 4 เท่า

โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทยจะพบมากตอนช่วงฤดูฝน และพบต่อเนื่องในช่วงฤดูหนาว เชื้อไข้หวัดใหญ่มักมีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ที่ระบาดเกือบทุกปี คนที่เคยเป็นไข้หวัดใหญ่แล้วก็มีโอกาสเป็นซ้ำได้ เนื่องจากอาจป่วยจากเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่เปลี่ยนสายพันธุ์ไป และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะอยู่ได้ไม่นาน

วัคซีนไข้หวัดใหญ่จะมีส่วนประกอบของเชื้อไข้หวัดใหญ่ 3 สายพันธุ์ โดยเป็น Type A จำนวน 2 สายพันธุ์ คือ H1N1 และ H3N2 และ Type B 1 สายพันธุ์ วัคซีนไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบของสายพันธุ์ไวรัสที่จะบรรจุในวัคซีนทุกปี ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก

ในปัจจุบัน แนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนควรรับวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ โดยสามารถฉีดได้ในทุกช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งนอกจากจะป้องกันไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์แล้ว ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจะผ่านรกจากมารดาสู่ลูกในครรภ์ด้วย ทำให้เมื่อคลอด ลูกจะมีภูมิคุ้มกันไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่แรกเกิดโดยไม่ต้องฉีดวัคซีน ไม่ต้องรอให้ครบตามเกณฑ์ปกติคือ 6 เดือนถึงจะให้วัคซีน การได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ในหญิงตั้งครรภ์จึงเป็นการได้ประโยชน์สองต่อ คือหญิงตั้งครรภ์ได้รับประโยชน์โดยตรง ส่วนลูกได้รับประโยชน์โดยอ้อม

ขอบคุณที่มา : www.roiettv.com