ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.วชิระภูเก็ต และ รพ.สระบุรี คว้ารางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ หรือ PMQA ระดับดีเด่นด้านการพัฒนาระบบบริการประชาชน จากสำนักงาน ก.พ.ร. ประจำปี 2558 

วันนี้ (25 กันยายน 2558) ที่หอประชุมกองทัพเรือ กทม. นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมในพิธีรับมอบรางวัลคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐหรือรางวัลพีเอ็มคิวเอ (Public Sector Management Quality Award : PMQA) จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) โดยมีนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในปี 2558 นี้ โรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นหน่วยบริการรักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย ประสบผลสำเร็จและผ่านการคัดเลือกจาก ก.พ.ร. ได้รับรางวัลพีเอ็มคิวเอ ระดับดีเด่น 2 แห่ง คือโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เขตสุขภาพที่ 11 และโรงพยาบาลสระบุรี เขตสุขภาพที่ 4    

โดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ได้รับรางวัลประเภทนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศ จัดทำเครื่องครอบตัวเด็กเพื่อรักษาอุณหภูมิ ใช้สำหรับรักษาอุณหภูมิร่างกายเด็กแรกเกิดที่อยู่ภาวะวิกฤติ ระหว่างการเคลื่อนย้ายจากห้องคลอด ห้องผ่าตัด เพื่อรักษาต่อในหอผู้ป่วยหนัก จากแนวคิดฝาชีครอบอาหารประยุกต์เป็นนวตกรรมฝาครอบตัวเด็กวางบนเปลนอนผู้ป่วย โดยใช้แผ่นพลาสติกอะคลิลิก และติดขดลวดไฟฟ้า ควบคุมความร้อนระบบอัตโนมัติจากแบตเตอรี่แห้งให้ความอบอุ่นในตู้อบ และมีระบบเตือนเมื่อระดับอุณหภูมิร้อนเกินมาตรฐานที่กำหนดคือ 36 องศาเซลเซียส ผลการเทียบมาตรฐานกับตู้อบทั่วไป พบว่ารักษาอุณหภูมิเด็กดีเท่ากัน แต่นำส่งเร็วกว่า ใช้เวลาแค่ 8 นาที ขณะแบบเดิมใช้เวลา 14 นาที น้ำหนักเครื่อง 13 กิโลกรัม เบากว่าตู้อบ 5 เท่าตัว ราคาเพียง 10,000 บาท ถูกกว่า 60 เท่า ใช้การได้ดี และสามารถพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต 

ส่วนโรงพยาบาลสระบุรี ได้รับรางวัลประเภทการพัฒนาบริการที่เป็นเลิศ ในด้านการดูแลรักษาเด็กที่ป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งก่อนหน้านี้เด็กที่ป่วยจะส่งต่อเข้ารักษาที่ใน กทม. โดยแต่ละปีเขตสุขภาพที่ 4 ส่งต่อเด็กป่วยมะเร็งรักษาประมาณ 30 คนต่อปี ดังนั้นตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมา โรงพยาบาลสระบุรีจึงได้พัฒนาทีมสหสาขาวิชาชีพ ทำงานเป็นระบบเครือข่ายต่อเนื่อง มีคู่มือดูแลตามมาตรฐานระดับสากลเช่นเดียวกับโรงพยาบาลใน กทม.เชื่อมโยงทั้งในโรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลจังหวัดในเครือข่าย และชุมชน ผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาครบวงจรตั้งแต่แรกรับตามกระบวนการที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน จนกลับบ้าน และได้รับการติดตามอาการที่บ้านทางโทรศัพท์ สามารถลดอัตราเสียชีวิตเหลือเพียงร้อยละ 4.5 ในปี 2557