ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เขตบริการสุขภาพกระทรวงสาธารณสุข 12 เขตและกรุงเทพมหานคร พัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและผู้ป่วยโรคจิต เน้นบริการเครือข่ายไร้รอยต่อมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพิ่มบริการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป ขยายบริการลงโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดละ 2 แห่ง ตั้งเป้าเพิ่มการเข้าถึงผู้ป่วยโรคจิตในปี 2559 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45 โรคซึมเศร้าร้อยละ 37         

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ที่โรงแรมดิเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บรรยายพิเศษเรื่อง “ทิศทางและแนวโน้มการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในอนาคต” ในงานประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการแพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และทีมสหวิชาชีพ จำนวน 200 คน ในเครือข่ายผู้ปฏิบัติงานสุขภาพจิตและจิตเวชประจำเขตสุขภาพที่ 1 และ 2 ซึ่งอยู่ในภาคเหนือรวม 13 จังหวัด เพื่อพัฒนาระบบบริการด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชน 

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า จากการประเมินการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตและจิตเวช ปัญหาเป็นไปในทิศทางเดียวกันทั่วโลกพบว่า ผู้ป่วยโรคจิตเข้าถึงบริการต่ำกว่าโรคทางกาย เนื่องมาจากทัศนคติ การยอมรับการรักษา และการพัฒนาระบบริการยังไม่เพียงพอ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวช ให้ครอบคลุมทั่วถึงในทุกเขตสุขภาพ 12 เขต และ กทม.เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางจิต เข้าถึงการดูแลรักษาใกล้บ้าน ได้กินยาต่อเนื่อง ตั้งเป้าภายในปี 2559 ผู้ป่วยโรคจิตเข้าถึงบริการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 45 และผู้ป่วยโรคซึมเศร้าไม่ต่ำกว่าร้อยละ 37

นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาดังกล่าว ได้ดำเนินการทุกเขตสุขภาพ ตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิและศูนย์ความเชี่ยวชาญระดับสูง สร้างระบบดูแลผู้ป่วยรายเก่าและรายใหม่เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายบริการไร้รอยต่อกับโรงพยาบาลเฉพาะทาง ซึ่งมีเพียง 18 แห่งทั่วประเทศ ใช้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ระยะต้นเน้น 4 กลุ่มสำคัญได้แก่ ผู้ป่วยโรคจิต โรคซึมเศร้า รวมทั้งบำบัดผู้ติดสุรา ติดยาเสพติด เนื่องจากในระยะยาวจะเป็นสาเหตุการเกิดโรคจิต ใช้กลไกความร่วมมือและช่วยเหลือกันระหว่างสถานบริการทุกระดับ โดยเพิ่มการบริการตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวช ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ที่โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป มีเตียงฉุกเฉินรับผู้ป่วยจิตดูแลรักษาภายใน 3 – 5 วันอย่างน้อยเขตสุขภาพละ 1 แห่ง สามารถบำบัดอาการเบื้องต้นก่อนส่งดูแลที่โรงพยาบาลเฉพาะทาง ขยายบริการสุขภาพจิตในโรงพยาบาลชุมชนจังหวัดละ 2 อำเภอ และกระจายยารักษาโรคจิตเวชประมาณ 35 รายการทุกจังหวัด เพื่อให้ผู้ป่วยกินยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่อง และให้กรมสุขภาพจิตจัดอบรมแพทย์ พยาบาล อสม. แพทย์สามารถตรวจวินิจฉัย และรักษาจนอาการสงบ ดูแลและติดตามผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องเมื่อกลับสู่ชุมชน

สถานการณ์ในประเทศไทยผู้ป่วยโรคจิตเข้าถึงบริการร้อยละ 42 ขณะที่อเมริกา ยุโรป เข้าถึงร้อยละ 43 ส่วนโรคซึมเศร้า คนไทยเข้าถึงร้อยละ 37 ส่วนที่อเมริกายุโรปเข้าถึงร้อยละ 43 ผลสำรวจในปี 2551 ไทยมีผู้ป่วยโรคจิตร้อยละ 0.8 หรือประมาณ 530,000 คน