ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขเร่งส่งเสริมสุขภาพช่องปาก 5 กลุ่มวัยคือหญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ วัย 3-5 ขวบ วัยประถมศึกษา และผู้สูงอายุ ใช้สูตรเด็ด 2-2-2 และหนุนใช้กระชายทำน้ำยาบ้วนปาก ป้องกันฟันผุ คง ฟ.ฟันคู่ชีวิตคนไทย สดุดีสมเด็จย่า เนื่องในวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ และตั้งศูนย์ทันตกรรมพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบด้านทันตกรรมผู้สูงวัยทุกมิติ

วันนี้ (21 ตุลาคม 2558) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก พร้อมด้วย ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย และ นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าว 21 ตุลาคม วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่า “ฟ.ฟันคู่ชีวิตด้วย 2-2-2”

นพ.สุริยะ กล่าวว่า วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี และรัฐบาลประกาศเป็นวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน จัดกิจกรรมรณรงค์ให้ความรู้ด้านสุขภาพช่องปาก และให้บริการทำฟันฟรีทั่วประเทศ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า พระมารดาแห่งการสาธารณสุขไทย โดยผลการรณรงค์คนไทยฟันดี สดุดีสมเด็จย่าในปี 2557 มีหน่วยบริการรวม 3,158 แห่ง มีผู้รับบริการรวมทั้งสิ้น 151,715 คน แบ่งเป็นอุดฟัน 30,104 คน ถอนฟัน 34,910 คน ขูดหินน้ำลาย 29,214 คน เคลือบหลุมร่องฟัน 4,940 คน

ที่ผ่านมาคนไทยร้อยละ 70 มีปัญหาสุขภาพช่องปาก ทั้งฟันผุและโรคปริทันต์ หากไม่รักษา นอกจากมีอาการปวดแล้ว เชื้อโรคจากเหงือกและฟันที่เป็นโรค อาจลุกลามไปอวัยวะอื่นๆ ได้ ส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ ดังนั้นการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2559 นี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงเน้นที่การป้องกันฟันผุ โดยส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มวัย แปรงฟันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ โดยใช้สูตร 2 : 2 : 2 คือ แปรงอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน เพื่อลดเชื้อคราบจุลินทรีย์สะสมในช่องปาก เพราะหากไม่แปรงฟันจะทำให้คราบจุลินทรีย์สะสมหนาขึ้นเรื่อยๆ ช่องปากสกปรก มีภาวะเป็นกรด ไปกัดผิวฟัน ทำให้ฟันผุเร็วและเหงือกอักเสบ  แปรงฟันให้ทั่วทุกซี่ทุกด้านนาน 2 นาที และไม่รับประทานอาหารหลังแปรงฟันอย่างน้อย 2 ชั่วโมง โดยเฉพาะอาหารที่มีแป้งและน้ำตาล เนื่องจากจะทำให้คราบจุลินทรีย์ในปากเพิ่มขึ้นใหม่อย่างรวดเร็ว ทำให้ความเป็นกรดในปากเพิ่มขึ้น เป็นอันตรายต่อเหงือกและฟัน

สำหรับกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯมีสมุนไพรไทยหลายชนิด ที่มีสรรพคุณดูแลสุขภาพช่องปาก ป้องกันฟันผุได้ผลดี โดยเฉพาะ กระชาย ผลการศึกษาวิจัยพบว่าในกระชายมีสารชื่อแพนดูราทิน เอ (Panduratin A) มีฤทธิ์ยับยั้งการเกิดคราบจุลินทรีย์ จากเชื้อ 4 ชนิดที่ทำให้เกิดฟันผุ เช่นสเตรปโตคอคัสมิวแตน (Streptococcus mutans) สเตรปโตคอคคัส แซงกินิส (Streptococcus sanguinis) ให้ผลเทียบเท่ากับยาแผนปัจจุบัน ลดการเกิดโรคปริทันต์ ลดเชื้อราในช่องปาก โดยสามารถกำจัดเชื้อสเตรปโตคอคคัสมิวแตน ภายใน 2 นาที นำมาใช้เป็นยาสีฟันและน้ำยาบ้วนปาก ช่วยลดกลิ่นปากได้ร้อยละ 70-90 พิสูจน์ผลด้วยเครื่องมือตรวจวัดลมหายใจ (Oral Chroma) ซึ่งเป็นเครื่องมือมีในประเทศไทยเพียง 2 แห่ง คือที่คณะทันตแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรจังหวัดปราจีนบุรี

และทำใช้ในครัวเรือนด้วยวิธีไม่ยุ่งยาก โดยใช้กระชาย 1 กำมือ โขลกให้ละเอียดและต้มกับน้ำ 1 ลิตร กรองน้ำและผสมเกลือ 1 หยิบมือ ต้มจนเกลือละลาย และนำมาอมหลังแปรงฟันไว้สักครู่ จึงค่อยบ้วนทิ้งหรือจะกลืนลงท้องก็ไม่มีอันตราย     

นอกจากนี้ ยังมีสมุนไพรพื้นบ้านอีก 4 ชนิดที่แนะนำคือผักคาดหัวแหวน กานพลู มีสารสำคัญออกฤทธิ์เป็นยาชาบรรเทาอาการปวดฟัน ใช้ในกรณีฉุกเฉินเบื้องต้น โดยใช้ดอกของผักคาดหัวแหวนซึ่งมีลักษณะเป็นช่อสีเหลือง มาขยี้และอุดฟัน หรือนำดอกมาตำผสมเหล้าโรงเล็กน้อย และชุบสำลีอุดฟันจุดที่ปวด นอกจากนี้ยังมีข่อย และต้นแก้ว ซึ่งปัจจุบันใช้ผสมในยาสีฟันและน้ำยาดับกลิ่นปาก ยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย

ทพ.สุธา กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2559 นี้ กรมอนามัยจะเน้นการส่งเสริมสุขภาพปากใน 5 กลุ่มวัย กลุ่มที่ 1 ได้แก่หญิงตั้งครรภ์ จะตรวจช่องปากอย่างน้อย 1 ครั้ง ขูดหินปูน ทำความสะอาดฟัน 2.เด็กเล็กอายุ 0-2 ปี ตรวจสุขภาพและพัฒนาการที่คลินิกสุขภาพเด็กดี ฝึกสอนพ่อแม่หรือผู้ดูแลเด็กในการแปรงฟันให้เด็ก ตรวจช่องปากประเมินความเสี่ยงฟันผุ และเด็กที่ฟันมีรอยขาวขุ่น หรือมีการผุระยะเริ่มต้น จะทาฟลูออไรด์ฟรีทุก 6 เดือน ส่วนเด็กอายุ 3-5 ขวบและอยู่ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตรวจช่องปากทุกคนปีละ 1 ครั้ง ทาฟลูออไรด์ฟรีในกลุ่มเสี่ยงภาคเรียนละ 1 ครั้ง ให้ดื่มนมจืดและกินผลไม้เป็นอาหารว่าง

3.กลุ่มนักเรียนประถมศึกษา จะเคลือบหลุมร่องฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ฝึกแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน เพิ่มนโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลมและขนมกรุบกรอบ 4.กลุ่มวัยทำงาน กำลังพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพช่องปากในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงร่วมกับกรมควบคุมโรค และ 5.กลุ่มผู้สูงอายุ จะส่งเสริมให้ตั้งชมรมผู้สูงอายุทุกหมู่บ้าน ให้ดูแลอนามัยช่องปากตนเอง ตรวจช่องปากปีละ 1 ครั้ง ทาฟลูออไรด์ฟรีทุก 6 เดือนป้องกันรากฟันผุ ผู้สูงอายุที่สูญเสียฟันทั้งปากจะบริการใส่ฟันเทียม โดยร่วมมือกับคณะทันตแพทยศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย และกรุงเทพมหานคร ทำฟันเทียมพระราชทานแก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศรวม 45,000 คน รวมทั้งบริการรากฟันเทียมในกรณีที่จำเป็น

นพ.ณรงค์ กล่าวว่า ในปี 2559 นี้ กรมการแพทย์ ได้ตั้งศูนย์ทันตกรรมผู้สูงอายุ ที่สถาบันทันตกรรม จ.นนทบุรี เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบ เตรียมพร้อมบริการด้านทันตกรรมแก่ผู้สูงอายุที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นในสังคมผู้สูงอายุ ทุกมิติ ทั้งบริการตรวจพื้นฐาน ได้แก่ อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน และให้บริการทันตกรรมที่ซับซ้อน เช่น รักษาคลองรากฟัน รักษาโรคปริทันต์อักเสบ บูรณะฟันที่มีความยุ่งยาก ผ่าตัดปุ่มกระดูกงอกที่ขากรรไกร ใส่ฟันเทียม รากฟันเทียม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากที่ดีเหมาะสมกับวัย รวมทั้งมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น