ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข หนุนใช้การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานกับแพทย์ให้บริการในใน รพ.ของรัฐ เพิ่มทางเลือกในการรักษาและการเข้าถึงบริการการแพทย์ผสมผสานแก่ประชาชน ชูเป็นสาขาที่ 12 ตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2559 นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ อธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เขตสุขภาพที่ 6 เป็นประธานในพิธีวันสถาปนาโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ครบรอบ 75 ปี และพิธีเปิดโรงพยาบาลแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี

นพ.โสภณ ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดให้การพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็น 1 ใน 13 สาขาหลักตามแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ตามนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มุ่งเน้นการใช้ภูมิปัญญาไทยการแพทย์แผนไทยที่โดดเด่นและมีข้อมูลวิชาการสนับสนุน มาร่วมใช้ดูแลผู้ป่วยแบบผสมผสานกับแพทย์แผนปัจจุบันและสหวิชาชีพ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการดูแลสุขภาพแก่ประชาชน ตั้งเป้าให้ รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป จัดคลินิกบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานรักษาโรคทั่วไปและเฉพาะโรค ได้แก่อัมพฤกษ์/อัมพาต ไมเกรน ข้อเข่าเสื่อม ภูมิแพ้ อย่างน้อย 1 คลินิก ให้ได้ร้อยละ 80 และมีบริการการแพทย์แผนไทยในแผนกผู้ป่วยนอกคู่ขนานกับการแพทย์แผนปัจจุบันร้อยละ 70 พัฒนา รพ.แพทย์แผนไทย เพิ่มบริการคลินิกผู้ป่วยนอกและหอผู้ป่วยด้วยแพทย์แผนไทยครบทุกแห่ง และมีแพทย์แผนไทยใน รพ.สต.ครอบคลุมทั้ง 9,000 แห่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการการแพทย์ผสมผสานมากขึ้น

“รพ.แพทย์แผนไทยเจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็น 1 ใน 14 แห่งเป้าหมายการพัฒนา รพ.แพทย์แผนไทยตัวอย่าง เป็นการบูรณาการการแพทย์แผนไทยเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพให้ครบทุกมิติ และยกระดับมาตรฐานและขยายประโยชน์จากการแพทย์แผนไทย รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาความเป็นเลิศด้านบริการสุขภาพ ในการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ซึ่งนอกจากจะเป็นการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพแล้ว ยังช่วยสร้างเศรษฐกิจของประเทศอีกด้วย” นพ.โสภณ กล่าว    

ด้าน นพ.จรัญ บุญฤทธิการ ผู้อำนวยการ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า รพ.การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร มีผู้ป่วยมารับบริการเฉลี่ยวันละ 50–100 คน มีหอผู้ป่วยรับไว้รักษาใน รพ.จำนวน 18 เตียง ใช้ทฤษฎีการแพทย์แผนไทยในการตรวจ วินิจฉัย รักษา ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพ ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลตามมาตรฐาน โดยสหสาขาวิชาชีพด้านสาธารณสุข เชื่อมโยงการรักษา ส่งต่ออย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้ป่วยและลดค่าใช้จ่ายด้านการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน

นอกจากนี้ ได้มีการวิจัย การเก็บรวบรวมองค์องความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและการใช้ยาสมุนไพรอย่างเป็นระบบ มีฐานข้อมูลสามารถสืบค้นและนำไปพัฒนาต่อยอดเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพได้ และเป็นแหล่งฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรด้านแพทย์แผนไทยให้มีคุณภาพ เป็นการอนุรักษ์และยกระดับภูมิปัญญาไทย ช่วยให้ประเทศและประชาชนพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพอย่างยั่งยืน สำหรับการให้บริการเน้นโรคที่เป็นจุดแข็งของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และมีแนวทางการรักษา (CPG) ชัดเจน ได้แก่ อัมพฤกษ์ อัมพาต โรคสะเก็ดเงิน การดูแลมารดาหลังคลอด โรคกระดูกและข้อ โรคตับแข็ง และโรคพาร์กินสัน โดยแพทย์แผนไทยจะตรวจ วินิจฉัยระบบธาตุทั้ง 4 และตรีโทษ เส้นสิบ ดูสีผิว ลิ้น และการบำบัดรักษาด้วย การนวด การอบ การประคบ การกดจุดปรับสมดุลแต่ละที่ การเผายา ย่างยา รวมทั้งการใช้ยาสมุนไพรที่ปรุงยาตามทฤษฎีแพทย์แผนไทยและตามคัมภีร์ เฉพาะผู้ป่วยแต่ละรายด้วย