ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รบกวนสร้างความเข้าใจมากขึ้น เพื่อสุขภาพของคนทั้งประเทศ โดยสัปดาห์นี้ขอนำข้อความของคุณหมอ Methee wong ในเฟซบุ๊กมาอธิบายครับ

จนถึงขณะนี้ "สิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย" ที่สภาวิชาชีพด้านสุขภาพได้ร่วมกันจัดทำขึ้น โดยมีอดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ลงนามรับรองและประกาศให้สาธารณชนรับทราบ ได้ผ่านตาสาธารณชนมาเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากสถานพยาบาล บุคลากรสาธารณสุข และประชาชนส่วนใหญ่ที่เห็นควรว่า "สิทธิย่อมต้องคู่กับหน้าที่" เสมอ

ทั้งนี้ประกาศฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ "เพื่อประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วย" และ "เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและประเทศชาติ" นั่นเอง อาจมีกลุ่มคนบางกลุ่มออกมาคัดค้านว่า "ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีข้อพึงปฏิบัติ หรือไม่ต้องมีหน้าที่ใดๆ" ถึงขนาดให้ยกเลิกข้อพึงปฏิบัติไปทั้งหมดทั้งสิ้น โดยกล่าวอ้างว่า ไม่มีประเทศใดที่กำหนดหน้าที่หรือความรับผิดชอบของผู้ป่วยไว้แต่อย่างใด

นานาอารยประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านเราอย่างเช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ถึงขนาดบัญญัติให้ใช้คำว่า "หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ป่วย" แทนคำว่า "ข้อพึงปฏิบัติ" เนื้อหานอกเหนือไปจากข้อพึงปฏิบัติที่สภาวิชาชีพได้บัญญัติไว้แล้ว ยังมีเนื้อหาที่เน้นย้ำถึงหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบต่อส่วนรวม ต่อเงินภาษีอากร ต่อทรัพยากรด้านสุขภาพอันเป็นของสาธารณะไว้อีกด้วย

เช่น "ผู้ป่วยมีหน้าที่ต้องแจ้งโรงพยาบาล หรือผู้เกี่ยวข้องหากไม่สามารถไปตามนัดหมาย" เพราะเขามองว่า การผิดนัดโดยไม่บอกกล่าวเป็นการรอนสิทธิผู้ป่วยรายอื่นที่จะได้รับการรักษา หรือ "ผู้ป่วยมีหน้าที่ต้องให้ข้อมูลทั้งส่วนตัวและครอบครัว หากเป็นข้อมูลที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล" "ผู้ป่วยมีหน้าที่ต้องถาม เมื่อไม่เข้าใจขั้นตอนการรักษา" "ผู้ป่วยมีหน้าที่ต้องใช้ทรัพยากรด้านการรักษาอย่างเหมาะสมถูกต้องตามที่บุคลากรทางการแพทย์แนะนำ" (ทั้งนี้ไม่จำเป็นว่าการรักษานั้นได้มาฟรีหรือจ่ายเงินเอง) "ผู้ป่วยมีหน้าที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เพื่อให้ตนเองหายหรือดีขึ้นจากโรคตามที่แพทย์แนะนำ" (บทลงโทษคือ ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองหากพิสูจน์ทราบว่าไม่ทำตามที่แนะนำ) "ห้ามผู้ป่วยไปใช้ห้องฉุกเฉินโดยไม่มีความฉุกเฉินจริง" ทั้งนี้เพราะจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจริงได้รับการรักษาล่าช้า เสียชีวิต หรือพิการโดยไม่จำเป็น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มภาระงานของบุคลากรที่ต้องอยู่เวรฉุกเฉินโดยไม่จำเป็น หลายแห่งมีการเรียกเก็บเงินเพิ่ม หากพบว่าไปรับการรักษาโดยไม่ฉุกเฉินจริง

ในสิงคโปร์มีกฎหมายระบุว่า "อวัยวะของผู้วายชนม์ ถือเป็นสมบัติของชาติ" ทั้งนี้เพื่อจะได้นำไปปลูกถ่ายเพื่อช่วยชีวิตคนอื่นได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องรอการยินยอม แต่ก็ยังเปิดช่องหากไม่มีความประสงค์จะบริจาค โดยเจ้าตัวต้องแสดงความไม่ยินยอมเป็นเอกสารแจ้งต่อทางการตั้งแต่ยังมีชีวิต อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามคือ เจ้าตัวจะเสียสิทธิด้านการรักษาพยาบาลในขณะยังมีชีวิตอยู่ (กฎข้อนี้ไม่ยกเว้นแม้ว่าจะนับถือศาสนาอิสลาม)

ในมาเลเซียระบุว่า "พลเมืองทุกคนมีหน้าที่ต้องรักษาสุขภาพให้ดี" เช่น ไม่ดื่มสุรา ไม่กิน Junk food ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศและบุคลากรไม่ต้องรับภาระหนักโดยไม่จำเป็น! "พลเมืองต้องยอมรับการแซงก์ชั่นด้วยมาตรการทางกฎหมายสุขภาพ หากรัฐเห็นว่าจำเป็นเพื่อผลประโยชน์ต่อชาติ"

ประเทศสังคมนิยมอย่างจีนก็ยังระบุว่า "ผู้ป่วยและญาติต้องให้เกียรติและปฏิบัติต่อบุคลากรอย่างสุภาพและเหมาะสม" หากมีการละเมิดสิทธิบุคลากรโดยไม่มีเหตุอันควร จะถูกลงโทษถึงขนาดจำคุกกันเลยทีเดียว

ประเทศสวีเดนระบุว่า "หากปฏิบัติตนไม่สุภาพต่อบุคลากร ผู้ป่วยจะถูกจำหน่ายออกจากสถานพยาบาล และให้ไปรับการรักษาที่อื่นเอง"

น่าเสียดาย ที่บางกลุ่มอาจไม่เข้าใจ โดยยกกรณีตัวอย่างผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ว่าข้อพึงปฏิบัติไปรอนสิทธิผู้ป่วยในการเปิดเผยความลับนั้น ความจริงมีกฎหมายหลายฉบับคอยอุดช่องโหว่ในประเด็นนี้อยู่แล้ว เช่น ประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความลับอันได้จากการปฏิบัติหน้าที่ ประมวลกฎหมายแพ่งในการฟ้องละเมิดหากใครไปเปิดเผยโดยไม่มีเหตุอันควร ที่สำคัญคือ "พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติถึงกับกำหนดบทลงโทษทางอาญากับผู้ป่วยว่า หากไม่เปิดเผยข้อมูลที่ควรจะเปิดเผยแล้วส่งผลร้ายต่อคนอื่น ผู้ป่วยหรือญาติจะมีความผิดทางอาญาเลยทีเดียว"

การกล่าวอ้างว่า การเปิดเผยข้อมูลนี้แล้วจะตกเป็นที่รังเกียจเดียดฉันท์นั้นน่าจะเกิดจากความไม่รู้ เหตุเพราะทุกวันนี้บุคลากรหาได้มองโรคนี้น่าเกลียดน่ากลัวอย่างในอดีต สถานพยาบาลและหน่วยงานรัฐต่างพากันรณรงค์และให้ความรู้ในการปฏิบัติงาน การป้องกันตนเอง และการอยู่ร่วมกันเป็นอย่างดี ในชีวิตจริงจะเห็นบุคลากรยืนพูดคุยโอภาปราศรัยกับผู้ติดเชื้อไม่ต่างจากการพูดคุยกับคนทั่วไปแต่อย่างใด ที่สำคัญในปัจจุบันมีโรคติดต่อร้ายแรงที่น่ากลัวกว่าการติดเชื้อเอชไอวีอีกมากมาย เช่น ไข้กาฬหลังแอ่น หวัดนก เป็นต้น โรคเหล่านี้ล้วนป้องกันได้ยาก และอัตราตายสูงมากกว่าการติดเชื้อเอชไอวีแบบเทียบกันไม่ติดเลย

จนถึงขณะนี้ สถานพยาบาลและบุคลากรการแพทย์ที่ให้การบริบาลรักษา ผู้ป่วยอย่างเกินกำลัง ได้ร่วมกันรณรงค์ให้ผู้ป่วยได้รับทราบรายละเอียดดังกล่าว เพื่อมิให้ประเทศไทยถูกเรียกว่า "คนป่วยของเอเชีย" อีกต่อไป ด้วยการสร้างความตระหนักรู้ในหน้าที่ของตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ย้ำตั้งแต่เริ่มแรกที่เข้ามาปฏิรูปประเทศว่า "คนไทยทุกคนต้องเคารพสิทธิของคนอื่น และตระหนักในหน้าที่ความรับผิดชอบไปพร้อมๆ กัน"

การคัดค้านต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ว่า ไม่ต้องการ "ข้อพึงปฏิบัติ" ซึ่งหมายความว่า จะขอเอาแต่สิทธิ โดยปฏิเสธหน้าที่ใดๆ นั่นเอง ทำให้อดวิตกไม่ได้ว่า หากเรียกร้องเอาแต่สิทธิ โดยปฏิเสธหน้าที่ความรับผิดชอบเช่นนี้ ประเทศชาติจะมีอนาคตเช่นไร? ลูกหลานของเราจะอยู่กันอย่างไร ?

ที่หมอขอยกคำอธิบายของคุณหมอ methee wong มานี่ ไม่ได้เข้าข้างหมอด้วยกัน แต่เรียนพวกเราทุกคนอย่ามองในแง่ลบทั้งหมด มีอะไรที่ช่วยกัน ต้องทำ การดูแลตนเอง การบอกข้อมูล ยาทุกชนิดที่เข้ามาอยู่ในคลังไม่ว่าหมอจ่าย ซื้อกินเอง ต้องบอกให้หมด ในเรื่องเอชไอวีนั้น ถ้าไม่บอก การรักษาจะผิดหมดและเกิดผลร้ายครับ

จะให้ไหว้หรือกราบก็ยอมครับ ภาวะสาธารณสุขขณะนี้ก็เต็มกลืนจนจะล่มสลายแล้วครับ !

ผู้เขียน : ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา

เผยแพร่ครั้งแรก : คอลัมน์ทอล์คออฟเดอะทาวน์ หนังสือพิมพ์มติชนวันที่ 22 และ 29 พฤศจิกายน 2558