ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

VOICE TV21 : ธรรมศาสตร์เผยผลสำรวจ 10 องค์กรในฝันของเด็กไทยที่อยากร่วมงานด้วย พบมีทั้งองค์กรขนาดใหญ่ของไทย-ต่างประเทศ และอยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง กระทรวงสาธารณสุขติดอันดับที่ 10 ด้วย

ขอบคุณภาพจาก SCG Experience

VOICE TV21 รายงานว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ Thammasat Business School ทำการสำรวจ TOP 10 Gen NEXT Dream Workplace หรือ 10 สุดยอดที่ทำงานที่ Gen Next อยากร่วมงาน โดยอันดับ 1 คือ ปูนซีเมนต์ไทย หรือ SCG ตามด้วย ปตท.และ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยทั้งหมดเป็นองค์กรขนาดใหญ่ของไทย และระดับโลก โดยแบรนด์ขององค์กรถือว่ามีผลต่อการเลือกของผู้สมัคร และองค์กรก็จะมีตัวเลือกของผู้สมัครมากยิ่งขึ้น ทำให้ได้คนเก่งและคนมีความสามารถมาร่วมงานกับบริษัท

แต่พบว่า อันดับ 4 คนรุ่นใหม่ หรือ Gen NEXT กลับสนใจที่จะเป็นผู้ประกอบการมีธุรกิจของตัวเอง เช่น การเป็น Start Up หรือธุรกิจ SMEs มากกว่าการเป็นมนุษย์เงินเดือน โดยพบว่าปัจจุบัน หลายคนเมื่อเป็นมนุษย์เงินเดือน และสะสมทุน และเรียนรู้การทำงานอย่างเป็นระบบ มีประสบการณ์มากพอ มักจะลาออกไปทำธุรกิจของตัวเอง

ทั้งนี้ คนรุ่นใหม่ปัจจุบัน หรือ "Gen Next" เป็นคำที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นิยามขึ้น หมายถึงคนที่อยู่ช่วงรอยต่อของปลาย Gen Y ถึง Gen Z เป็นต้นไป

รศ.พิภพ อุดร รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คนที่อยู่ในช่วงวัย Gen Next มีค่านิยมที่ต่างจากคนเจเนอเรชั่นก่อนๆ คือ เป็นคนทำงานยุคใหม่ที่สร้างความปวดหัวให้กับที่ทำงานได้ และพฤติกรรมการบริโภคต่างไปจากเดิมทั้งด้านการใช้จ่าย การรับสื่อ และการสื่อสาร โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลอย่างมาก

ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนคนกลุ่มนี้ประมาณ 20% เพื่อตามพวกเขาให้ทัน ผู้ประกอบการจะต้องมีนโยบายที่ยืดหยุ่น หรือปรับให้เป็นไปตามความต้องการ ทั้งเชิงผู้ซื้อแต่ละรายจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะ One Size Fit All อย่างเมื่อก่อนนั้นคงทำไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เช่น Platform Model เป็นที่ที่ไม่ใช่ให้คนมาซื้อขายอย่างเดียว แต่เป็นการที่ผู้ขายสามารถพัฒนาธุรกิจ และเติบโตบนแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ให้กับผู้ซื้อ

รวมทั้งนายจ้างและองค์กรธุรกิจ ต้องปรับรูปแบบการทำงานรองรับกับจำนวนของ Gen Next ที่เพิ่มมากขึ้น บริษัทต้องมี Multi HR Policy ตั้งแต่การสมัครงาน ผลตอบแทนต่างๆ เป็นต้น โดยควรมีรูปแบบการจ้างงานที่คนสามารถเลือกได้ เพราะบางคนอยากทำงาน 5 วัน หรือแบ่งเป็นทำงานที่ออฟฟิศ 3 วัน และทำงาน 2 วันที่บ้าน เพื่อดึงดูดให้ทาเลนต์ (Talent) หรือคนที่มีความรู้ความสามารถมาอยู่กับองค์กร รวมทั้งค่าตอบแทน การประเมินผล และการโปรโมต ต้องคิดรูปแบบการจัดการใหม่ทั้งระบบการจ้างงานและการติดตาม รวมถึงต้องปรับการประเมินการทำงานที่วัดจากกระบวนการทำงานไปสู่การดูจากผลลัพธ์ของงานซึ่งต้องได้ตามเงื่อนไขที่วางไว้ ไม่ใช่กำหนดด้วยกฎระเบียบ เวลาเข้า-ออกงาน สถานที่ทำงาน

แต่ความยากคือคนเหล่านี้จะถูกเพ่งเล็งจากคนอื่นด้วยความรู้สึกว่าไม่เท่าเทียม ถ้าองค์กรสามารถแบ่งเรื่องงานให้ชัดเจน บอกถึงเงื่อนไขการทำงาน ผลตอบแทน และการประเมินที่ต่างกัน จะทำให้คนในองค์กรมีความเข้าใจและเกิดไม่อิจฉากัน

และต้องเปลี่ยนฝ่ายบุคคล หรือ HR ต้องสร้างกระบวนการที่ทำให้ทุกคนเป็นเพื่อนกัน แทนเน้นขับเคี่ยวการประเมินผล เป็นการสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของคนในองค์กรให้ได้มากที่สุด เพื่อทำให้คนรู้สึกว่าแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีความสุขที่จะทำงานในองค์กรเดียวกัน ซึ่งนับว่าเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง และคนยุค Gen Next จะเป็นคนรุ่นต่อไปในอนาคต

ขอบคุณที่มา : สถานีข่าว VOICE TV21