ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สหภาพพยาบาลเตรียมร่วมเรียกร้อง 18 ธ.ค.นี้ จี้แก้ปัญหาเงินเดือนข้าราชการสังกัด ก.พ.เหลื่อมล้ำสังกัดอื่น ตันที่ระดับ 7 ไม่มีความก้าวหน้า ชี้พยาบาลเป็นสัดส่วนข้าราชการมากสุดใน ก.พ.คือ 22% แต่เป็นวิชาชีพที่ไม่เท่าเทียมข้าราชการอื่น แถมยังไม่มีการคุ้มครองความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อบาดเจ็บ เสียชีวิตในหน้าที่ ไม่ได้รับการดูแล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 18 ธันวาคม 2558 สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายกว่า 20 องค์กร จะเดินทางมายื่นข้อเรียกร้องเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเงินเดือนข้าราชการพลเรือน โดยในช่วงเช้า ได้นัดพบกันที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)  ข้างทำเนียบรัฐบาล ส่วนช่วงบ่ายจะเข้าพบผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ณ กระทรวงสาธารณสุข

น.ส.มัลลิกา ลุนจักร์

น.ส.มัลลิกา ลุนจักร์ ประธานสหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย (หัวหน้ากลุ่มงานพยาบาล โรงพยาบาลหนองวัวซอ จ.อุดรธานี) เปิดเผยว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ เป็นการเคลื่อนไปพร้อมกับ ชมรม และองค์กรอื่นๆ และไปในนามเครือข่ายข้าราชการพลเรือน ที่มีแนวคิดว่า “ข้าราชการ” ในประเทศไทย จะต้องมีความเสมอภาค เท่าเทียมกัน แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าข้าราชการที่ออกจากระบบ ก.พ. ไป เช่น ครู และข้าราชการท้องถิ่น มีความก้าวหน้ามากกว่าข้าราชการที่ยังอยู่ในระบบ ก.พ. 

“พยาบาลทำงานหนัก ต้องขึ้นเวรดูแลคนไข้ 24 ชั่วโมง กลับเงินเดือนตัน ขณะที่กลุ่มอื่นเงินเดือนไม่ตัน เราควรจะจำยอมไปตลอดหรือไม่ หากเราไม่ทำอะไรตอนนี้วันหน้าจะยิ่งแย่กว่าเดิม สหภาพฯ เลยรวมตัวกับข้าราชการกลุ่มอื่นที่เงินเดือนตันที่ระดับชำนาญการเหมือนกัน เพื่อร่วมกันเคลื่อนไหว การมาคุยกันทำให้เกิดความน้อยเนื้อต่ำใจ และไม่ทราบว่าผู้ใหญ่ได้รับทราบเรื่องนี้หรือไม่ ทางสหภาพพยาบาลเองก็ไปยื่นหนังสือเรื่องนี้หลายครั้ง ได้กลับมาแค่หนังสือตอบรับกลับมาว่ากำลังดำเนินการ แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากกว่าบอกว่าให้รอ เราจึงต้องทวงถามไถ่ว่าติดขัดตรงไหน อย่างไร ต้องถึงขนาดให้นายกรัฐมนตรีสั่งการหรือไม่ เพราะเรารอมานานจนผิดปกติแล้ว” น.ส.มัลลิกา กล่าว

น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า จากการพูดคุยกันกับหลายชมรม พบว่าหลายชมรมไปยื่นเรื่องที่ กพ. ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ทางสหภาพฯ ก็เคยไปยื่นเรื่องเดียวกัน เรื่องก็เงียบไป แล้วจะให้เราทำอย่างไร ดังนั้นหากหลายชมรม หลายองค์กรที่มีปัญหาอย่างเดียวกัน ไปติดตามทวงถามเรื่องความเหลื่อมล้ำเงินเดือนด้วยกันก็น่าจะมีพลังมากขึ้น ทางพยาบาลเองต้องบอกว่าเราไม่ได้อยากให้เงินเดือนขึ้นมากกว่าใคร แต่ขอให้ข้าราชการเหมือนกันมีความเสมอ เท่าเทียมกับ ครู ทหาร ตำรวจ และข้าราชการท้องถิ่น ที่มีความก้าวหน้าไปมากกว่า เงินเดือนไม่ตัน แต่พยาบาลนั้นเมื่อขึ้นไปถึงระดับชำนาญการ (ระดับ 7) เงินเดือนก็จะเริ่มตัน นั่นถือเป็นความผิดของพยาบาลหรือไม่ ที่ต้องถูกแป๊กเงินเดือนเอาไว้

น.ส.มัลลิการ์ กล่าวว่า ข้าราชการพยาบาลเป็นกลุ่มที่มีมากที่สุดใน ก.พ. คิดเป็น 22% ของข้าราชการทั้งหมด และมากกว่าข้าราชการอื่นๆ และพยาบาลสามารถทำได้หมดทุกอย่างในโรงพยาบาล เพราะเจ้าหน้าที่ขาดแคลน ต้องทำแทนแพทย์ เภสัชกร แต่มีพยาบาลวิชาชีพที่ได้ระดับ 8 (พยาบาลวิชาชีพชำนาญการพิเศษ) ไม่ถึง 5% ต่างจากสายงานแพทย์ ทันตแพทย์ มีโอกาสเป็นระดับ 8 ถึง 100% ดังนั้น พยาบาลวิชาชีพจึงเป็นข้าราชการที่เงินเดือนเต็มขั้นมากที่สุด ซึ่งการกำหนดให้มีตำแหน่ง ระดับ 8 เพิ่มขึ้นใหม่ หมายถึงต้องเอาตำแหน่งที่ว่างมายุบเพื่อนำเม็ดเงินไปรวมให้กับตำแหน่งใหม่  จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ข้าราชการพลเรือนทุกคนเป็นระดับ 8 ได้เหมือนข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ที่มีโอกาสเป็นระดับ 8 ได้ทุกคน ดังนั้นการขอขยายเพดานเงินเดือนข้าราชการพลเรือนให้เท่าเทียมกับข้าราชการประเภทอื่น ๆ  จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมที่สุด

น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีพยาบาลไปรวมตัวกันมากน้อยแค่ไหน แต่ก่อนหน้านี้ที่แกนนำพยาบาลเคยไปเรียกร้องก็ไปกันประมาณไม่กี่ร้อยคน แต่คราวนี้คงมากขึ้น เพราะจำนวนข้าราชการที่เดือดร้อนมีมากขึ้น

น.ส.มัลลิกา กล่าวว่า นอกจากเรื่องความเหลื่อมล้ำนี้แล้ว ทางสหภาพต้องการผลักดันให้มีการออกกฎหมายอีก 2 ฉบับคือ 1.กฎหมายที่ว่าด้วยความปลอดภัยในการทำงานของวิชาชีพ เป็นกฎหมายคุ้มครองคนทำงาน ซึ่งจะว่าด้วยการควบคุมชั่วโมงการทำงาน ภาระงาน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ปฏิบัติและผู้ป่วยมากที่สุด และ 2.กฎหมายคุ้มครองผู้ให้บริการสุขภาพ เพราะที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุกับผู้ให้บริการ เช่น ไปส่งคนไข้แล้วเกิดอุบัติเหตุบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ก็ให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไม่ต้องดิ้นรนไปทำประกันชีวิตกันเอง หรือเกิดเหตุขึ้นมาแล้วต้องไปขอบริจาคเงินมาช่วยเหลือกัน.