ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

มข.ร่วมกับ รพ.ศูนย์ขอนแก่น นำร่องให้ผู้ป่วยโรคเรื้อรังสิทธิบัตรทองภาวะคงที่รับยาที่ ร้านยาได้ แทนการรับยาที่ รพ.ช่วยลดแออัด ผู้ป่วยมีความสะดวกมากขึ้น ร้านยาจ่ายตามใบสั่งยา และเป็นยาของ รพ.ศูนย์ขอนแก่นเท่านั้น พร้อมมีเภสัชกรช่วยแนะนำการใช้ยา และติดตามการใช้อย่างต่อเนื่อง เสนอ สปสช.เปิดให้ร้านยาร่วมเป็น หน่วยร่วมบริการเภสัชกรรม ภายใต้ พ.ร.บ.ยา เพื่อเกิดการดูแลสุขภาพประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ มีเภสัชกรประจำครอบครัว เหมือนหมอครอบครัว

แม้ว่าประเทศไทยจะมีการดำเนินนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึงโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ด้วยอุปสรรคและข้อจำกัดการเข้ารับบริการยังโรงพยาบาล ทำให้ “ร้านขายยา” หรือ “ร้านยา” ยังคงเป็นคำตอบสำหรับประชาชนกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยเพื่อดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้น เพราะนอกจากไม่จำกัดบริการเพียงในเวลาราชการเช่นเดียวกับโรงพยาบาลแล้ว ร้านยายังมีจำนวนมาก โดยขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาถึงกว่า 15,000 แห่ง กระจายอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง เรียกว่าประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

จากจุดเด่นข้างต้นนี้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดการขยายบริการ “ร้านยา” เพราะสามารถเชื่อมต่อกับงานดูแลสุขภาพระดับปฐมภูมิได้ นอกจากเป็นการพัฒนาศักยภาพและมาตรฐานงานบริการให้กับร้านยาแล้ว ยังเป็นหน่วยบริการเภสัชกรรมเพื่อช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับปฐมภูมิได้ ที่ผ่านมาจึงได้มีการริเริ่มดำเนิน “โครงการนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วย” ยังโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น

รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม

รศ.ภญ.สุณี เลิศสินอุดม ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน (ร้านยา) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานสาขาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะผู้ที่ผลักดันโครงการนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วย กล่าวว่า ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการยังโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นมีเป็นจำนวนมาก แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการขยายจัดตั้งศูนย์การแพทย์ที่เชื่อมโยงกับโรงพยาบาลกระจายบริการไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยรอบแล้ว แต่ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับบริการแต่ละวันยังมีจำนวนมากอยู่ จึงมีแนวคิดจัดทำระบบเติมยาที่ร้านยา นอกจากช่วยลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาลแล้ว ยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยที่ต้องเติมยา ไม่ต้องเดินทางมารับยาที่โรงพยาบาล แต่สามารถรับเติมยายังร้านยาใกล้บ้านได้

ดังนั้นในปี 2557 จึงได้เริ่มดำเนิน “โครงการนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วยที่ร้านยา” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในฐานะแกนนำเครือข่ายร้านยาคุณภาพในจังหวัดขอนแก่น ร่วมกับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น และโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น

ในช่วงเริ่มต้นนำร่องระบบเติมยาผู้ป่วยนั้น รศ.ภญ.สุณี กล่าวว่า ร้านยาที่เปิดเข้าร่วมโครงการ ไม่จำกัดเฉพาะร้านยาคุณภาพเท่านั้น เนื่องจากในพื้นที่มีร้านยาคุณภาพที่พร้อมเพียง 4-5 แห่งเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ ประกอบกับหนึ่งในวัตถุประสงค์โครงการฯ คือการพัฒนาคุณภาพร้านยาควบคู่กัน จึงเปิดให้ร้านยาที่มีความพร้อมและมีเภสัชกรประจำร้านเข้าร่วม และได้ขยายจนปัจจุบันมีร้านยาเข้าร่วม 20 แห่ง

โดยในส่วนของผู้ป่วยที่สามารถรับเติมยาที่ร้านยาได้นั้น จะต้องเป็นผู้ป่วยที่มีอาการภาวะคงที่ แต่ยังคงต้องกินยาต่อเนื่อง ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและออกใบสั่งยาเพื่อเติมยาที่ร้านยา นอกจากผู้ป่วยโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นแล้ว ผู้ป่วยที่เข้ารับบริการศูนย์การแพทย์สามารถรับการเติมยาที่ร้านยาในระบบนี้ได้เช่นกัน  

“ระบบเติมยาที่ร้านยานี้เป็นเพียงการนำร่องเฉพาะผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น ในต่างประเทศมีการทำมานานแล้ว โดยผู้ป่วยจะนำใบเติมยาไปยังร้านขายยาที่ร่วมโครงการใกล้บ้านตามเวลาที่กำหนด เพื่อรับการเติมยาตามใบสั่งแพทย์โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมารับยาที่โรงพยาบาลอย่างเมื่อก่อน”   

สำหรับบทบาทของร้านยาที่ร่วมโครงการนั้น ผู้จัดการสถานปฏิบัติการเภสัชกรรมชุมชน บอกว่า ร้านยาจะจ่ายยาเติมให้ผู้ป่วยเฉพาะตามที่แพทย์สั่งจ่ายเท่านั้น และเป็นยาของโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่นที่เบิกจ่ายมาที่ร้านยา นอกจากเภสัชกรจะดูประวัติคนไข้แล้ว ยังช่วยให้คำแนะนำถึงการใช้ยาอย่างเหมาะสม รวมถึงติดตามการใช้ยาอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วย

ทั้งนี้สาเหตุที่โรงพยาบาลไม่จ่ายยาให้กับผู้ป่วยทีเดียว 3 เดือน แต่ให้ทยอยรับยาทีละเดือนนั้น เพราะมีรายงานติดตามพบว่า ผู้ป่วยเวลารับยาไปมากๆ ปัญหาคือ นอกจากการจัดเก็บยาที่ไม่เหมาะสม ส่งผลต่อคุณภาพยาแล้ว ผู้ป่วยบางคนยังมีพฤติกรรมละเลยต่อการกินหรือใช้ยา แถมยังมีกรณีนำไปแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านที่มีอาการป่วยใกล้เคียงกัน ซึ่งเภสัชกรร้านยาในโครงการจะติดตามดูกรณีสุ่มเสี่ยงเหล่านี้   

“มีตัวอย่างผู้ป่วยโรคหืดที่มารับการเติมยาในระบบ พบว่าควบคุมอาการโรคไม่ได้ จึงได้ติดตามและพบว่า ผู้ป่วยรายนี้มียาโรคหืดเหลืออยู่หลายกล่อง ทิ้งไว้ที่บ้านโดยไม่เห็นความสำคัญ ดังนั้นเภสัชกรจึงให้คำแนะนำเพื่อให้ผู้ป่วยใช้ยาอย่างถูกต้องในการรักษาโรค”

รศ.ภญ.สุณี เล่าต่อว่า ในช่วงเริ่มโครงการระบบเติมยาที่ร้านยานั้น ในส่วนของผู้ป่วยต้องมีการพูดคุยและทำความเข้าใจก่อน ต้องย้ำว่าแม้เป็นการรับยาที่ร้านยา แต่ผู้ป่วยยังอยู่ในระบบการติดตามรักษาของโรงพยาบาล และยังต้องพบแพทย์ตามนัด ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้ป่วย ขณะเดียวกันยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยที่ต้องรับเติมยาที่โรงพยาบาล ปกติบางรายจะไม่ได้พบแพทย์อยู่แล้วเพราะให้ญาติมารับให้ ดังนั้นการรับเติมยาที่ร้านยาจึงน่าจะเป็นทางเลือกที่ดี   

ทั้งนี้ช่วงแรกของการดำเนินโครงการ ผู้ป่วยบางรายมีความสับสนอยู่บ้าง เพราะคิดว่าสามารถรับยาที่ร้านยาใดก็ได้ จึงต้องชี้แจงว่าเป็นการจำกัดเฉพาะร้านยาร่วมโครงการ เพราะมีเภสัชกรประจำร้านเพื่อผู้ป่วยจะได้รับการจ่ายยาจากเภสัชกรโดยตรง โดยจะมีแผนที่และเบอร์โทรศัพท์เภสัชกรร้านยาให้

ซึ่งจากภาพรวม 1 ปีของการดำเนินโครงการนำร่องระบบเติมยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต่างพึงพอใจ และมีผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอยากให้มีการเติมยาให้กับผู้ป่วยที่ร้านขายยาเช่นกัน เพราะการรอรับยาที่โรงพยาบาลต้องใช้เวลานาน บางคนต้องลางานทั้งวันเพื่อมารับยาเท่านั้น

ส่วนการลดความแออัดผู้ป่วยในโรงพยาบาล แม้ว่าขณะนี้จะยังไม่เห็นผลชัดเจน แต่หากมีการขยายโครงการไปพื้นที่ต่างๆ และการดำเนินระบบเติมยาที่ร้านยาอย่างจริงจัง เชื่อว่าจะเห็นผลในเรื่องนี้ได้

นอกจากผู้ป่วยที่ได้รับประโยชน์จากระบบเติมยาแล้ว รศ.ภญ.สุณี กล่าวต่อว่า ยังส่งผลดีต่อระบบสุขภาพภาพรวม เพราะเป็นการสนับสนุนให้เภสัชกรทำงานใกล้ชิดกับชุมชนมากขึ้น ซึ่งกิจกรรมในร้านยาร่วมโครงการ ไม่ได้มีเพียงแต่การเติมยาเท่านั้น แต่ยังมีการคัดกรองความเสี่ยง และให้คำแนะนำด้านสุขภาพ ซึ่งร้านยาบางแห่ง เภสัชกรยังมีกิจกรรมออกเยี่ยมบ้าน นอกจากนี้ร้านยายังช่วยแบ่งเบาภาระงานเภสัชกรรมของโรงพยาบาล ในการให้คำแนะนำและจัดการปัญหาการใช้ยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง  

“การทำเรื่องนี้จะทำให้เภสัชกรมีบทบาทในระบบสุขภาพมากขึ้น ไม่จำกัดเพียงแค่การขายยาเท่านั้น ซึ่งยังประโยชน์ให้กับระบบสุขภาพมากกกว่า ซึ่งร้านยาถือเป็นงานบริการปฐมภูมิที่อยู่ใกล้ชิดชุมชนแท้จริง หากเราช่วยกันสนับสนุนโดยคิดนอกกรอบ ดึงร้านยาและวิชาชีพสุขภาพอื่นๆ ที่อยู่นอกโรงพยาบาลเข้ามาช่วยดูแลสุขภาพประชาชน เป็น “เภสัชกรประจำครอบครัว” เหมือนกับหมอครอบครัว จะทำให้ระบบสาธารณสุขประเทศดียิ่งขึ้น”

รศ.ภญ.สุณี กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้โครงการระบบเติมยาที่ร้านยายังเป็นเพียงโครงการนำร่องและยังทำให้ระบบเป็นจริงไม่ได้ เนื่องจากร้านยาไม่ได้เป็นหน่วยร่วมบริการตามระเบียบ สปสช.ได้ ที่เป็นอุปสรรค เพราะทำให้ไม่สามารถติดตามดูผู้ป่วยในระบบต่อเนื่องได้และการส่งต่อข้อมูลของผู้ป่วยแก่โรงพยาบาลเป็นไปได้ยาก

ดังนั้นจึงอยากให้ สปสช.เปิดให้ร้านยาร่วมเป็น “หน่วยร่วมบริการเภสัชกรรม” ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ยา ซึ่งต้องย้ำว่าไม่ใช่ “หน่วยร่วมบริการรักษาพยาบาล” ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.สถานพยาบาล ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการดูแลประชาชนที่มีประสิทธิภาพและเป็นระบบยิ่งขึ้น