ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นพ.สสจ.ลพบุรี ชม สปสช.มีระบบการช่วยเหลือเบื้องต้นประชาชนสิทธิบัตรทองที่ดี นำบุคลากรทางการแพทย์ในสังกัดหารือร่วมกับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระ เครือข่ายภาคประชาชน เน้นสร้างความเข้าใจ ลดข้อร้องเรียน ประชาชนได้รับข้อมูล คำแนะนำและความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในระบบบริการสุขภาพมากขึ้น

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.58 ณ ห้องประชุม สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรีร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรีประชุมเชิงปฎิบัติการผู้รับผิดชอบงานรับเรื่องร้องเรียน ปี 59 โดยมี นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลพบุรี เป็นประธานเปิดการประชุม นางพนิต มโนการ รองผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี กล่าววัตถุประสงค์การจัดประชุมและชี้แจงการดำเนินงานคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพของผู้รับบริการและผู้ให้บริการ โดยมีผู้รับผิดชอบงานรับเรื่องร้องเรียนจากหน่วยบริการและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ หน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระ ม.50(5) จำนวนกว่า 50 คน เข้าร่วมเพื่อรับทราบข้อมูลด้านสิทธิประโยชน์และการคุ้มครองสิทธิ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การทำงานร่วมกันระหว่างผู้ให้บริการกับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระ 50(5) และเครือข่ายภาคประชาชน

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่า แม้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพสาขาจังหวัดก็ตาม แต่บทบาทภารกิจในการทำงานร่วมกันกับ สปสช.ไม่สามารถขาดกันได้ การดำเนินงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพตลอดจนการบริหารจัดการเพื่อให้ระบบบริการสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะในเขตสุขภาพที่ 4 ให้เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการคุ้มครองสิทธิประชาชน ขอชื่นชมระบบการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ สปสช.พัฒนาครอบคลุมทั้งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ เมื่อเทียบกับสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลของกองทุนอื่นๆ เช่น สปสช.มี พ.ร.บ.คุ้มครองประชาชนสิทธิบัตรทองตามมาตรา ม. 41 ในขณะเดียวกันครอบคลุมการคุ้มครองผู้ให้บริการ บุคลากรทางการแพทย์ตามมาตรา 18(4) อีกด้วย

นางพนิต กล่าวว่า สปสช.ได้พัฒนาการคุ้มครองสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ สำหรับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพหรือบัตรทอง และผู้ให้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ได้กล่าวถึงการให้ความคุ้มครองสิทธิแก่ประชาชนไว้ในมาตรา 50(5) ในการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการให้ความช่วยเหลือและกำหนดหน่วยรับเรื่องร้องเรียนเพื่อให้ประชาชนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้โดยสะดวก จึงทำให้ประชาชนเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิมากขึ้น ในขณะที่ข้อมูลสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดการเข้าใจข้อมูลที่คลาดเคลื่อน สปสช.เขต 4 สระบุรีจึงได้ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลพบุรี จัดประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อสร้างความเข้าใจด้านข้อมูลแก่ผู้รับผิดชอบงานรับเรื่องร้องเรียนในหน่วยบริการ ขณะเดียวกันได้มีกระบวนการให้เกิดการเชื่อมประสานกันในการทำงานเพื่อลดข้อร้องเรียน ระหว่างหน่วยบริการกับหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระ ตามมาตรา 50(5) ที่มีเครือข่ายภาคประชาชนดำเนินงาน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการลดความรุนแรงของข้อร้องเรียนและยุติปัญหาได้เร็วขึ้น อันเนื่องจากประชาชนผู้รับบริการมีความเข้าใจและได้รับการช่วยเหลือได้รวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความพึงพอใจในระบบบริการสุขภาพมากขึ้น และภาพลักษณ์ของหน่วยบริการดีขึ้น

นางมรรยาท รัตนประทีป พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพระนารายณ์มหาราช จ.ลพบุรี กล่าวหลังเวทีอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ว่า อสม. ในคณะทำงานของศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน จ.ลพบุรี เป็นตัวเชื่อมในการลดความรุนแรงของข้อร้องเรียนได้เป็นอย่างดี จากประสบการณ์การทำงานกรณีร้องเรียนต่างๆในโรงพยาบาล ประกอบกับ สปสช.มีระบบรองรับการช่วยเหลือเบื้องต้น ม.41 ตนรู้สึกว่าหน่วยบริการไม่ได้โดดเดี่ยวในเวลาที่ถูกร้องเรียน เพราะมีทั้งระบบรองรับและภาคีเครือข่าย ร่วมดูแลและช่วยเหลือกัน

ทั้งนี้ สปสช.เขต 4 สระบุรี มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอื่นที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียน ตามมาตรา 50(5) จำนวน 10 แห่ง ครอบคลุมใน 8 จังหวัดภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดนครนายก นายบุญยัง กังใจ , จังหวัดสระบุรี นางปฐมมน กันหา, (เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์)จังหวัด ลพบุรี นายสุทธิพงษ์ มิ่งมงคล, จังหวัดลพบุรี นางเตือนใจ สมานมิตร, จังหวัดสิงห์บุรี นายบุญธรรม กันเกตุ, จังหวัดอ่างทอง นายธงชัย กันพันธ์ , จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นางสาวชลดา บุญเกษม , จังหวัดนนทบุรี นางจินตนา กวาวปัญญา, อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี นายพันธ์รวี ยอดมา, และศูนย์ประเด็นเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพภาคกลาง จังหวัดปทุมธานี นางอรกัลยา พุ่มพึ่ง หรือสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nhso.go.th >>>เครือข่าย สปสช. สอบถามข้อมูลสิทธิบัตรทองได้ที่สายด่วน สปสช.โทร 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง