ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.มติชน : สธ.เอาแน่ลุยรื้อระบบบัตรทองปี 59 'นพ.ปิยะสกล' ระบุงบบาน รัฐบาลแบกภาระไม่ไหว ขอทุกฝ่ายรับความจริง เล็งใช้แนวทาง 'ประชารัฐร่วมจ่าย'

นสพ.มติชน : เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยระหว่างพบปะสังสรรค์กับสื่อมวลชน เนื่องในโอกาสส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ว่า หลายประเทศชื่นชมประเทศไทยที่ดำเนินโครงการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง โดยเฉพาะการใช้งบประมาณที่ลงทุนน้อยแต่สามารถดูแลระบบได้ทั้งประเทศ แต่ขณะนี้แนวโน้มการใช้งบประมาณสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมาจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว โดยปัจจุบันคิดเป็นร้อยละ 4.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งบางประเทศที่มีระบบเช่นเดียวกับไทยสามารถอยู่ได้เพราะมีการร่วมกันรับผิดชอบ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องคิดว่าจะปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไปหรือไม่อย่างไร

"ในปี 2559 ประชารัฐจะต้องร่วมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า จะดำเนินการแบบไหน อย่างไร จะให้รัฐบาลรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียวไม่ไหว ใครจะช่วยจ่ายเติมให้ระบบ ตรงนี้ต้องมาหารือร่วมกัน ขณะนี้คณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรเพื่อความยั่งยืนของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่มี นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตนายแพทย์ทรงคุณวุฒิ สธ.เป็นประธาน และ ศ.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการอิสระสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เป็นที่ปรึกษา ได้เสนอภาพรวมว่าจะต้องดำเนินการแบบ SAFE คือ ยั่งยืน เข้าถึงได้ มีความเป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ ถือเป็นแนวทางที่ดี แต่ต้องมีกระบวนการ มีเงินมาช่วยระบบนอกเหนือจากงบประมาณจากรัฐบาลอย่างเดียว และไม่มีประเทศไหน แม้แต่ประเทศที่รวยกว่าประเทศไทยจะกล้าที่จะใช้งบประมาณจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว" นพ.ปิยะสกล กล่าว และว่า ดังนั้น ประเทศไทยต้องยอมรับความจริง ทุกคนบอกว่าถ้าพูดเรื่องให้ประชาชนร่วมจ่ายจะถูกตี แต่ตนต้องยอมให้ถูกตี ถ้าไม่มีใครกล้าที่จะปรับปรุงระบบ จะต้องปล่อยให้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติเจ๊ง เรื่องนี้ถ้าใครไม่เห็นด้วยต้องเสนอแนวทางมาให้ว่าจะให้ทำอย่างไร ถ้าบอกว่าประชารัฐร่วมกันแล้วไม่ดี ต้องบอกมาว่าที่ดีต้องทำอย่างไร จะพัฒนาประเทศอย่างไร

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในวันที่ 29 ธันวาคม จะเชิญคณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรฯ ประชุมร่วมกัน จากนั้นจะตั้งคณะทำงานเพื่อเดินหน้าต่อทันที

ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางให้ประชารัฐร่วมจ่าย (Co-payment) จะเป็นอย่างไร นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ยังไม่ได้บอกว่าจะให้ร่วมจ่าย แต่จะใช้หลักประชารัฐให้ทุกภาคส่วนเสนอความเห็น และเรื่องนี้ต้องค่อยๆ พิจารณา สำหรับกลุ่มที่คัดค้านสามารถทำได้ แต่ขอให้เสนอทางออกด้วย เมื่อถามว่าที่ผ่านมามีการติงว่าสวัสดิการข้าราชการใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลมากกว่าบัตรทอง เป็นสาเหตุให้งบบานปลาย นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ข้าราชการเงินเดือนน้อยกว่าเอกชน การให้สิทธิการรักษาพยาบาลเป็นการให้สวัสดิการ หากจะให้เท่ากันต้องเพิ่มเงินเดือนให้ข้าราชการ

ด้าน นพ.สุวิทย์ กล่าวว่า ภารกิจของคณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มุ่งศึกษาว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยจะต้องร่วมจ่าย หรือไม่ร่วมจ่าย แต่ศึกษาในภาพรวมของระบบสุขภาพว่าจะทำอย่างไรให้ยั่งยืนทั้งระบบ สำหรับประเด็นการร่วมจ่ายก็มีการเสนอกันมากในที่ประชุม แต่ไม่ได้ข้อสรุปว่าจะเป็นอย่างไร เป็นเพียงข้อสรุปแนวทางเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ.ว่าจะทำอย่างไรต่อไปมากกว่า

"ในระบบหลักประกันสุขภาพฯ หากจะให้ยั่งยืนต้องมาพิจารณาทางเลือกต่างๆ อาทิ การร่วมจ่าย ณ จุดบริการ มีคนเสนอว่ากรณีคนไข้บัตรทองที่หากต้องการความสะดวกพิเศษ เช่น หากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและต้องการนอนห้องพิเศษ ต้องจ่ายเพิ่ม แต่หากเป็นการร่วมจ่าย ณ จุดบริการแบบคนไข้ทั่วไป ยังมีคนไม่เห็นด้วย บ้างเสนอร่วมจ่ายก่อนบริการ ซึ่งอาจเป็นในรูปภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น" นพ.สุวิทย์กล่าว และว่า โดยหลักๆ คณะกรรมการทำการศึกษาเพื่อพิจารณาหาความยั่งยืนในระบบสุขภาพทั้ง 3 กองทุนคือ กองทุนบัตรทอง กองทุนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ กองทุนประกันสังคม อย่างสิทธิประกันสังคม มองว่าเป็นสิทธิเดียวที่ประชาชนหรือผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินไปสมทบ ซึ่งแตกต่างจากสิทธิอื่น เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำอย่างไรเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ประกันตน เช่น ยกเลิกให้ผู้ประกันตนจ่ายสมทบค่ารักษาพยาบาล หรือให้ทุกสิทธิมาจ่ายเหมือนกัน ทั้งหมดนี้เป็นทางเลือกให้มีการพิจารณากันไป ส่วนสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ก็พูดกว้างๆ ว่าจะทำอย่างไรให้ค่าใช้จ่ายในสิทธินี้มีประสิทธิภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการจัดทำแนวทางเพื่อระดมทรัพยากรฯ แต่งตั้งในสมัย นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน เป็นรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อศึกษาแนวทางการจัดสรรงบประมาณ และแนวทางการสร้างความยั่งยืนของระบบในระยะยาว ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่ขณะนั้นเมื่อพูดถึงประเด็นร่วมจ่ายมักจะถูกต่อต้านอย่างหนักจากภาคประชาชน โดยเฉพาะเครือข่ายเอ็นจีโอด้านสุขภาพที่มองว่าเป็นการผลักภาระค่าใช้จ่ายไปยังประชาชน ทั้งๆ ที่ภาครัฐต้องรับผิดชอบ

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 25 ธันวาคม 2558