ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สสส. วางกรอบสรรหา 7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ สสส.ย้ำต้อง “โปร่งใส ไร้แทรกแซง” ตั้ง นพ.อุดมศิลป์ เป็นประธนกรรมการสรรหาให้แล้วเสร็จใน 30 วัน บอร์ดไฟเขียว “ทพ.สุปรีดา” ผจก.สสส.คนใหม่

ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์

เมื่อวันที่ 22 มกราคม พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ หรือบอร์ด สสส. ครั้งที่ 1/2559 ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหารองประธานคณะกรรมการกองทุนฯ คนที่ 2 และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ สสส. เพื่อดำเนินการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ทดแทน 7 ท่านที่พ้นตำแหน่งไป โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ จำนวน 7 ท่าน ได้แก่ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษากองทุนฯ เป็นประธานกรรมการสรรหา นางประภาศรี บุญวิเศษ ผู้แทนสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นายระพีพันธุ์ สริวัฒน์ อดีตรองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี นางทิชา ณ นคร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ รศ.ภก.วิทยา กุลสมบูรณ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ และผู้จัดการ สสส. หรือเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทำหน้าที่เลขานุการฯ

“ที่ผ่านมามีเสียงร้องเรียนจากภาคีฯ สสส. และเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายจับตามองว่า การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ในครั้งนี้ อาจเกิดการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง หรือกลุ่มธุรกิจเหล้าบุหรี่ ดังนั้นผมต้องขอฝากให้คณะกรรมการสรรหาฯ ทำอย่างไรให้การสรรหาบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ โปร่งใส ปราศจากข้อครหา และสามารถพิจารณาคัดเลือกผู้ที่มีความเหมาะสม ปราศจากการแทรกแซง หรือแม้ผลประโยชน์ทับซ้อน เพื่อความสง่างามของคณะกรรมการกองทุนฯ สสส.” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า  สำหรับขั้นตอนพิจารณาสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ นั้น จะมีการประกาศเปิดรับการเสนอชื่อทางสื่อมวลชนและเว็บไซต์ เพื่อให้หน่วยงานหรือบุคคลที่สนใจเสนอรายชื่อผู้มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าสู่กระบวนการสรรหาฯ โดยคณะกรรมการสรรหาฯ จะพิจารณาและสรุปรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาจำนวนไม่น้อยกว่า 2 เท่าของตำแหน่งที่จะแต่งตั้ง เพื่อนำรายชื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนฯ คัดเลือกโดยวิธีการลงคะแนนลับ จากนั้นจะนำรายชื่อเสนอต่อที่ประชุม ครม.เพื่อแต่งตั้งต่อไป ซึ่งกระบวนการดังกล่าวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน นับแต่ที่มีการประกาศแต่งตั้ง อย่างไรก็ตามเพื่อให้กระบวนการสรรหาครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้องและเกิดความชัดเจนในประเด็นทางกฎหมาย ที่ประชุมบอร์ด สสส. จึงเสนอให้ส่งคำหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นกรณีเร่งด่วนว่า คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ที่พ้นตำแหน่งไปแล้วตามคำสั่ง คสช. ที่ 1/2559 จะสามารถเข้าสู่กระบวนการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ใหม่หรือไม่ รวมถึงประเด็นข้อกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างรอบคอบและถูกต้องตามกฎหมายที่กำหนด

ประธานบอร์ด สสส. กล่าวว่า นอกจากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเห็นชอบตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอแต่งตั้ง ทพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ รองผู้จัดการ สสส. ดำรงตำแหน่งผู้จัดการ สสส. คนใหม่

สำหรับ ทพ.สุปรีดา เกิดวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ.2503 สำเร็จการศึกษา ทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล, MPH University of Alabama at Birmingham, PhD.(Epidemiology and Public Health) University of London ประสบการณ์ด้านการบริหาร รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ. 2540-2542) ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. (พ.ศ.2546-2556) รองผู้จัดการกองทุน สสส. (พ.ศ.2550-ปัจจุบัน) นอกจากนั้นเคยได้รับตำแหน่งและรางวัล อาทิ ข้าราชการดีเด่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น (พ.ศ.2543, 2545) กรรมการทันตแพทยสภา (พ.ศ. 2544-2547) ประธานคณะกรรมการวิชาการ the 21 IUHPE World Conference on Health Promotion, 2013

ในส่วนมาตรการตรวจสอบการเบิกจ่ายโครงการต่างๆ ของคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) นั้น พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางเร่งรัดการดำเนินการในเรื่องนี้ ซึ่งเมื่อแก้ไขระเบียบร้อยแล้วจะรายงานเรื่องนี้ให้แก่ท่านนายกรัฐมนตรีได้รับทราบ เพื่อพิจารณายกเลิกมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายงบประมาณของ คตร.ต่อไป อย่างไรก็ตามหลังจากที่มีการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิฯ ใหม่ เรียบร้อยแล้ว คงจะต้องมีการหารือบทบาทการดำเนินงานของ สสส. เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น

ทพ.สุปรีดา กล่าวว่า ขอบคุณประธานและคณะกรรมการสรรหาทุกท่านที่เสนอชื่อตนให้รับหน้าที่สำคัญ และขอขอบคุณท่านประธาน และคณะกรรมการกองทุนฯ ทุกท่านที่ไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนี้ อย่างไรก็ตามในเรื่องของมาตรการด้านภาษีนั้น สสส. เข้าใจถึงความเดือดร้อนของภาคี และได้พยายามหารือร่วมกับกรมสรรพากรมาโดยตลอด และในเร็วๆ นี้ จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งเพื่อหาทางออกร่วมกัน เนื่องจากเรื่องภาษีนั้นเป็นประเด็นที่มีรายละเอียดค่อนข้างมาก และเป็นเรื่องเทคนิคกฎหมาย โดยในมุมของ สสส.ได้ใช้แนวทางที่องค์กรให้ทุนสาธารณะอื่นเป็นบรรทัดฐาน และได้ดำเนินงานต่อเนื่องมาแล้ว 13 ปี โดยแยกส่วนที่เป็นรายได้ของภาคีที่รับทุน ที่ต้องมีการเสียภาษีอย่างเคร่งครัด กับส่วนค่าดำเนินโครงการที่ดำเนินงานแทน สสส.เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะชน เป็นส่วนที่ไม่ใช่รายได้ตรง จึงขอความเห็นใจว่า สสส.และภาคี ไม่เคยมีเจตนาหลบเลี่ยงภาษีแต่อย่างใดและหวังให้มีการพิจารณาการปฏิบัติตามกฎหมายจากฐานข้อเท็จจริงของการดำเนินงานที่แตกต่างจากการจ้างทำของโดยสิ้นเชิง