ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อเขียนจาก นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ซึ่งเขียนในประเด็นนี้เป็นครั้งที่ 2 กับเหตุการณ์พบผู้ป่วยชาวต่างชาติที่มารักษาในไทย แต่เป็นผู้ป่วยโรคเมอร์ส ซึ่งข้อเสนอของ นพ.ธีระคือ เมื่อรัฐบาลยืนยันจะเดินหน้านโยบายเมดิคัลฮับ หรือเมดิโคทัวริสซึ่ม โดยให้เหตุผลว่าเพื่อหารายได้เข้าประเทศ แต่ยอมแลกกับปัญหาสมองไหล ผลกระทบต่อระบบสุขภาพของประชาชน ตลอดจนความลักลั่นและสั่นคลอนมาตรการรักษาพยาบาล ก็ต้องให้ผู้ประกอบธุรกิจ รพ.เอกชนรับผิดชอบความเสี่ยงให้กับสังคมมากขึ้นด้วย

นพ.ธีระ วรธนารัตน์

เมอร์สเคสแรกในประเทศเมื่อปีที่แล้ว ได้ทราบมาว่าใช้งบประมาณไปราว 100 ล้านบาทเพื่อจัดการควบคุม และเฝ้าระวังโรค (อ่านจากโพสต์ Facebook นพ.สุรเชษฐ์ อดีตรักษาการปลัด สธ.) จากนั้นรัฐก็ทำทุกอย่างให้เงียบเหมือนไฟไหม้ฟาง แม้จะมีหลายคนพยายามเตือนให้รัฐทบทวนนโยบายการส่งเสริมให้หารายได้จากการรักษาชาวต่างชาติ

งานวิจัยมากชิ้นขึ้นเรื่อยๆ ในรอบครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา ที่เริ่มชี้ให้เห็นว่าผลกระทบของนโยบายแบบเมดิคัลฮับ และ/หรือเมดิโคทัวริสซึ่ม ไม่ได้มีแต่ข้อดีเรื่องเงินที่ไหลเข้าประเทศตามที่คาดหวัง แต่มีผลกระทบด้านลบทั้งเรื่องสมองไหลจากรัฐไปเอกชนมากขึ้น จนเกิดผลกระทบต่อระบบสุขภาพสำหรับประชาชนในประเทศ ความลักลั่นและสั่นคลอนมาตรฐานการดูแลรักษาพยาบาล การฟ้องร้อง ฯลฯ

ในขณะที่เมืองไทยนั้น เราเห็นชัดเจนจากกรณีของเมอร์ส ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพของประชาชนในประเทศ และการถลุงงบประมาณสาธารณะเพื่อจัดการปัญหา ทั้งๆ ที่เม็ดเงินส่วนใหญ่ที่ได้นั้นตกอยู่แต่ในภาคส่วนเอกชน ในขณะที่รัฐได้ภาษีนิติบุคคลจากสถานประกอบการเพียงน้อยนิดเมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ประเทศต้องทุ่มเพื่อควบคุมและแก้ไขปัญหา

บัดนี้เคสที่สองได้กลับมาเยือนอีกครั้ง พร้อมทวนซ้ำกระบวนการเดิม ที่ตกเป็นภาระของสถานพยาบาลภาครัฐ และหน่วยงานสาธารณสุขที่ต้องมาช่วยกันจัดการปัญหาเดิมๆ ภายใต้งบที่มีจำกัด

ถึงเวลาที่ควรจะเรียกร้องให้เกิดการเก็บภาษีเพิ่มเติมสำหรับธุรกิจที่ส่งผลกระทบต่อสวัสดิภาพของประชาชนและความมั่นคงด้านสุขภาพของประเทศแล้วครับ เพื่อนำมาใช้ลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบส่งเสริมสุขภาพ และควบคุมป้องกันโรค

เหล้ากับบุหรี่นั้นร้ายกาจจนเราต้องใช้มาตรการภาษีบาปมาจับ แต่เรื่องนี้นั้นรุนแรงยิ่งกว่า เพราะเห็นผลกระทบต่อคนหมู่มากในระยะเวลาอันรวดเร็ว เหตุใดฝ่ายการเมืองและฝ่ายบริหารจึงทำตัววางเฉย? ฤ จะรอให้ระบาด และก่อผลกระทบต่อตัวท่านและคนใกล้ชิด

ได้ไม่คุ้มเสียหรอกครับ นโยบายหาเงินแบบนี้ การดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บไม่ใช่สินค้าหรือบริการแบบซื้อมาขายไป ยามใดที่สังคมคิดจะ "ซื้อขายชีวิต" ตามกลไกธุรกิจทุนนิยมแบบเป็นล่ำเป็นสัน ยามนั้นสังคมอาจต้องตระหนักและเตรียมใจรับกับผลกระทบต่อชีวิตคนในสังคม ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อคนในสังคม ก็ต้องแสดงความรับผิดชอบ และช่วยจัดการความเสี่ยงในสังคมด้วยครับ

ผู้เขียน ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ สำนักงานวิจัยและพัฒนาเพื่อการแปรงานวิจัยสุขภาพสู่การปฏิบัติ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หมายเหตุ ก่อนหน้านี้ ในช่วงที่พบผู้ป่วยโรคเมอร์สคนแรกในไทย ซึ่งเป็นชาวโอมานเช่นกัน นพ.ธีระ เคยแสดงความคิดเห็นในเรื่องดังกล่าวภายใต้ข้อเขียนนี้ เมอร์สเข้าไทย เมื่อหยุดเมดิคอลฮับไม่ได้ ต้องเก็บเงินความมั่นคงสุขภาพจากเอกชน ซึ่งเผยแพร่ใน hfocus เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.58