ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : รายงานปัญหาราคายาพุ่งสูงในระบบบริการสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร (NHS) ในหนังสือพิมพ์ซันเดย์ไทมส์ฉบับล่าสุด เผยให้เห็นว่าบริษัทยากำลังอาศัยช่องโหว่ข้อบังคับและดันราคายาให้สูงขึ้นถึง 2,358% ด้วยกลยุทธ์ถอดชื่อยี่ห้อ (Debranding) จึงทำให้บริษัทยาบางแห่งสามารถทำเงินได้มากขึ้นหลังจากจัดกลุ่มผลิตภัณฑ์ของตนใหม่ ดังตัวอย่างยา Phenytoin sodium capsules สำหรับรักษาโรคลมชัก ซึ่งก่อนนี้ NHS มีต้นทุนอยู่ที่ราว 2.3 ล้านปอนด์ (ราว 126 ล้านบาท) และพุ่งขึ้นเป็น 50 ล้านปอนด์ (ราว 2,739 ล้านบาท) หลังการถอดชื่อยี่ห้อเมื่อปี 2556

แน่นอนว่าอุตสาหกรรมยายังคงเป็นวายร้ายหน้าเดิม

อย่างไรก็ดีแม้ว่าบริษัทยาอาจเป็นจำเลยจากการอาศัยช่องโหว่ข้อบังคับเพดานรายจ่าย แต่ในอีกทางหนึ่งก็นำมาสู่การตั้งคำถามถึงแนวทางการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขในสหราชอาณาจักร

ชาวอังกฤษส่วนใหญ่ให้ความชื่นชมต่อ NHS รวมถึงคณะแพทย์และพยาบาล แต่ขณะเดียวกันก็ระแวง “ผู้บริหารโรงพยาบาล” และ “องค์กรแสวงหากำไร” และ “บริษัทยา” ในฐานะที่มักทำตัวเป็นปรสิตคอยเบียดเบียนระบบสาธารณสุขแสนดีงามซึ่งหล่อเลี้ยงด้วยภาษีก้อนโตจากประชาชน

โดยมองวายร้ายดังกล่าวว่าไม่ได้เข้ามาเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย หากแต่เป็นกลุ่มองค์กรล้มละลายทางศีลธรรมซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแสวงหากำไรเท่านั้น ทำให้บริษัทยามักตกเป็นเป้าหมายของเสียงก่นด่าเมื่อใดก็ตามที่ปัญหาลักษณะนี้ปูดขึ้นมา ไม่ว่าทั้งในสหราชอาณาจักรหรือสหรัฐอเมริกา ดังกรณีมาร์ติน ชเครลีซึ่งกลายเป็นคนเลวหมายเลขหนึ่ง หลังขึ้นราคายาที่ซื้อสิทธิบัตรมาอีก 50 เท่า

แต่สมควรแล้วหรือที่เราคาดหวังให้บริษัทซึ่งมีเป้าหมายเพื่อแสวงหากำไรต้องทำหน้าที่อื่นนอกเหนือไปจากการกอบโกยผลตอบแทนจากต้นทุนที่หว่านลงไป? 

ข้อมูลวิจัยโดยอิกอร์ กอนชารอฟ เพื่อนร่วมงานของผู้เขียนชี้ชัดว่า บริษัทยาไม่ได้หากำไรเกินควรและผลประกอบการของบริษัทยาก็อยู่ในระดับเดียวกับเอกชนในภาคธุรกิจอื่น ความสำเร็จนั้นจำเป็นต้องอาศัยการทุ่มทุน ดังเช่นบริษัทไฟเซอร์ (บริษัทหนึ่งในรายงานของซันเดย์ไทมส์) ซึ่งลงทุนกว่า 8,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 284,208 ล้านบาท) ไปกับการวิจัยและพัฒนาตลอดช่วง 12 ปีที่ผ่านมา โดยต้องไม่ลืมว่าบริษัทยานั้นไม่ใช่องค์กรการกุศลและการลงทุนก็ต้องมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า

และหากมองจากมุมด้านศีลธรรมก็จะเห็นว่าบริษัทยาทำในสิ่งที่เหมาะสมต่อผู้ถือหุ้นของตน ซึ่งนั่นก็คือ การประกันความยั่งยืนของกำไรด้วยการมองหาช่องทางทำเงิน ซึ่งผู้ที่ที่ผ่านหลักสูตรธุรกิจพื้นฐานน่าจะทราบดีว่า เราจำเป็นต้องพึ่งพารายได้จากผลิตภัณฑ์ที่มีกำไรสูง เพื่อที่จะนำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่เป็นดาวดวงเด่นและผลิตภัณฑ์ซึ่งยังคงมองเห็นช่องทางการเติบโต

ต้องมีผู้ตรวจสอบ

ที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่าก็คือ ในขณะที่เรากล่าวหาบริษัทยาว่าหาประโยชน์จากผู้เสียภาษี แต่กลับไม่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขแม้แต่คนเดียวที่มองเห็น หรือถึงจะมองเห็นแต่ก็ไม่ได้ทำอะไร และหนำซ้ำยังต้องอาศัยคนวงใน กว่าที่เรื่องจะไปถึงกระทรวงสาธารณสุข แล้วเหตุใดเราจึงไม่ตำหนิเจ้าหน้าที่พิทักษ์ระบบสาธารณสุขที่ปล่อยให้เรื่องนี้เกิดขึ้น หรืออาจเป็นเพราะโครงสร้างของ NHS ทำให้ยากต่อการระบุตัวผู้รับผิดชอบ

รายจ่ายด้านยาที่สูงของ NHS ฟ้องอยู่ในฐานข้อมูล Electronic Drug Tariff และการพิจารณาราคายาเป็นอำนาจของ รมว.สาธารณสุข นั่นจึงหมายความว่าโรงพยาบาล แพทย์ และคลินิกซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกลุ่มผู้ให้บริการปฐมภูมิ (clinical commissioning groups) ไม่สามารถกำหนดราคาได้เอง  

อย่างไรก็ดีกลุ่มผู้ให้บริการปฐมภูมิดังกล่าวเป็นหน่วยงานที่เพิ่งตั้งขึ้นใหม่ มีขนาดเล็ก ซ้ำยังขาดประสบการณ์ด้านการบริหารจัดการที่เข้มแข็งพอ จึงทำให้ต้องพึ่งพาการสนับสนุนและการบริหารจัดการยาจากหน่วยงานอื่น และทำให้มีคำถามว่าใครกันจะทำหน้าที่ติดตามและวิเคราะห์ผลการดำเนินงาน

ความลักลั่นในการก่อตั้งกลุ่มผู้ให้บริการปฐมภูมิทั้ง 212 กลุ่มเมื่อปี 2555 นั้น ทำให้แทนที่หน่วยงานจะมีขนาดใหญ่และมีประสิทธิภาพมากขึ้นสอดคล้องตามลำดับชั้นความรับผิดชอบที่สูงขึ้น แต่กลุ่มผู้ให้บริการปฐมภูมิกลับเป็นหน่วยงานขนาดจิ๋วเมื่อเทียบกับสถานพยาบาลที่อยู่ในกำกับ จึงทำให้ประสบปัญหาทั้งด้านภาระรับผิดชอบ การตรวจสอบ และการบริหารผลงาน      

จากการสัมภาษณ์ประกอบการวิจัยของผู้เขียนพบว่า กลุ่มผู้ให้บริการปฐมภูมิบางแห่งมีผลงานที่ดีมาก บางแห่งก็แย่มาก  และบางแห่งก็อยู่ในระดับไม่ดีไม่แย่ แต่เราก็ไม่ได้ใส่ใจกับความล้มเหลวของกลุ่มผู้ให้บริการปฐมภูมิเนื่องจากรับผิดชอบเฉพาะการบริหารและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวโดยตรงกับงานสาธารณสุขระดับปฏิบัติ ซึ่งอยู่ภายใต้การจับจ้องของสื่อมวลชน 

ดูเหมือนว่าฝ่ายการเมืองก็ไม่อยากเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน ดังที่เห็นแล้วว่ารัฐบาลได้กำหนดโครงสร้างการบริหารเพื่อตัดภาระรับผิดชอบออกไป ปัญหาขาดแคลนงบประมาณสาธารณสุขมหาศาลในอีก 5 ปีข้างหน้า ทำให้ทุกคนต่างไม่อยากเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการตัดสินใจว่า กลุ่มใดควรได้รับการรักษาและกลุ่มใดไม่ควรได้รับบริการ   

และตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ก็ได้เห็นแล้วว่ามาตรการรัดเข็มขัดงานสุขภาพจิต ทำให้สถานพยาบาลหลายแห่งต้องลดขนาดการบริหาร พึ่งพาบุคลากรผ่านบริษัทนายหน้า และลดการลงทุนจากระยะเวลาของสัญญาที่สั้นลง

เมื่อเจอกับนมขวดละ 600 บาท

ผู้เขียนมองว่าการเปิดเผยตัวเลขราคายาดังกล่าวเป็นคำเตือนทางการเงินต่อสื่อ สาธารณชน และภาคการเมือง และเป็นคำเตือนว่า ระบบการจัดการในสถานพยาบาลของ NHS และกลุ่มผู้ให้บริการปฐมภูมินั้น หากมองในแง่ดีที่สุดก็เรียกว่าอยู่ในภาวะตึงตัว หรือในทางร้ายที่สุดก็อยู่ในภาวะใกล้พังพาบ  

และระบบใดก็ตามที่ล้มเหลวในการตรวจสอบและติดตามการขึ้นราคาแบบก้าวกระโดด จะต้องได้รับการตรวจสอบเพราะอย่างน้อยรายงานก็ได้ชี้ให้เห็นแล้วถึงความล้มเหลวด้านการเงิน

นักธุรกิจที่อ่านรายงานในซันเดย์ไทมส์อาจมีคำถามว่า เหตุใดจึงไม่มีใครระแคระคายเรื่องการขึ้นราคายากันเลย ลองนึกดูสิว่า หากคุณไปซื้อนมสักขวดแล้วมาพบตรงเคาเตอร์จ่ายเงินว่าราคาอยู่ที่ 11.06 ปอนด์ (ราว 605 บาท) แทนที่จะเป็น 45 เพนนี (ราว 24 บาท) (สูงขึ้นอัตราเดียวกับราคายา Amantadine สำหรับรักษาโรคพาร์กินสัน) ... คุณจะไม่โวยหรือทำอะไรสักอย่างหรือ?

ในตอนนี้เรายังพอใจชื้นได้ว่าความล้มเหลวของสถานพยาบาลและกรรมการตรวจสอบของ NHS นั้นยังจำกัดอยู่เฉพาะเรื่องการเงินและไม่ลามไปถึงประสิทธิภาพการดูแลรักษา แต่ท่ามกลางปัญหาขาดแคลนงบประมาณด้านบุคลากรเรื้อรัง อันเป็นสาเหตุหลักที่ต้องใช้มาตรการพิเศษเข้ามาอุ้มสถานพยาบาลบางแห่งนี้

จำเป็นที่การตรวจสอบการดำเนินงานด้านสาธารณสุขจะต้องเข้มข้นยิ่งกว่าที่ผ่านมา ในเมื่อคณะกรรมการมองข้ามนมขวดละ 600 บาทในตะกร้า แล้วจะตรวจพบปัญหาที่ร้ายแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตยิ่งกว่านี้ได้หรือไม่...เราคงได้แต่ฝากความหวังด้วยสายตาเคลือบแคลงต่อไป

เกี่ยวกับผู้เขียน

คริส ฟอร์ด อาจารย์ด้านบริหารและการบัญชี จาก มหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์  สหราชอาณาจักร

ที่มา : The Conversation