ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ครม.เห็นชอบ ยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของไทย หนุนความเข้มแข็งระบบจัดการปัญหาโรคอุบัติใหม่ อุบัติซ้ำ พัฒนาระบบสุขภาพและหลักประกันสุขภาพให้เข้มแข็ง เป็นธรรม สร้างไทยมีบทบาทนำ 8 ด้าน เช่น ศูนย์กลางสุขภาพอาเซียนและเอเซีย หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เครือข่ายนักระบาดวิทยา จัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ แพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก

เมื่อวันที่ 16 ก.พ.59 ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ เรื่อง กรอบยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย พ.ศ.2559-2563 (Thailand Global Health Strategic Framework 2016-2020) ดังนี้

1. เห็นชอบกรอบยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย พ.ศ.2559-2563 (Thailand Global Health Strategic Framework 2016-2020) เป็นกรอบในการดำเนินการด้านสุขภาพของประเทศไทยต่อไป

2. มอบหมายให้ สธ. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนปฏิบัติการ และกำหนดกลไกการสนับสนุนและประเมินผลติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม

3. มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการตามยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ทั้งนี้ กรอบยุทธศาสตร์สุขภาพโลกของประเทศไทย พ.ศ.2559-2563 (Thailand Global Health Strategic Framework 2016-2020) มีวัตถุประสงค์ดังนี้

1. สนับสนุนความเข้มแข็งของระบบการจัดการกับปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ โรคอุบัติซ้ำ ภัยที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์ ภัยธรรมชาติและภัยจากเทคโนโลยี

2. สนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพและหลักประกันสุขภาพให้มีความเข้มแข็ง ยุติธรรมและเป็นธรรม

3. สร้างเสริมบทบาทนำ ภาพลักษณ์และความรับผิดชอบของประเทศไทยในด้านสุขภาพโลกต่อประชาคมโลกใน 8 ด้าน ได้แก่

(1) ศูนย์กลางการให้บริการสุขภาพของภูมิภาคอาเซียนและเอเชีย โดยเน้นความสมดุลระหว่างการให้บริการสุขภาพระหว่างคนไทยและผู้ป่วยต่างชาติ และเน้นส่งเสริมธุรกิจด้านการส่งเสริมสุขภาพ

(2) การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

(3) การจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติ

(4) เครือข่ายนักระบาดวิทยา

(5) หน่วยสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็ว

(6) ทีมปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ                     

(7) การประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ

(8) การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

4. สนับสนุนให้เกิดนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการพัฒนาสุขภาพในประเทศและระหว่างประเทศ

5. พัฒนาขีดความสามารถของบุคลากรและองค์กรที่ดำเนินงานด้านสุขภาพโลกอย่างต่อเนื่อง

ยุทธศาสตร์สุขภาพโลก ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมความมั่นคงด้านสุขภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเสริมสร้างระบบสุขภาพให้เข้มแข็งยุติธรรมและเป็นธรรม

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การส่งเสริมบทบาทนำและความรับผิดชอบด้านสุขภาพโลกของไทยในประชาคมโลก

ยุทธศาสตร์ที่ 4 การส่งเสริมความสอดคล้องระหว่างนโยบายสุขภาพในประเทศไทยและระหว่างประเทศ

ยุทธศาสตร์ที่ 5 การเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรและองค์กรในด้านสุขภาพโลกอย่างยั่งยืน