ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คลินิกชุมชนอุบอุ่น ร้อง ผลกฤษฎีกาตีความงบค่าเสื่อมกระทบหน่วยบริการปฐมภูมิ เหตุทำ สปสช.ออกหลักเกณฑ์รายการห้ามจ่าย ทั้งคอมพิวเตอร์ แอร์ รวมถึงเช่าอาคาร ซ้ำติดล๊อคระเบียบเดิมห้ามใช้งบข้ามหมวด ทำหน่วยบริการนำงบเหลือใช้ หนี้ส่งต่อ รพ.ไม่ได้ ร้อง รมว.สธ.แก้ปัญหา เหตุเกินอำนาจ สปสช.ที่จะจัดการได้

นพ.พงษ์ศักดิ์ ศรีมุษิกโพธิ์ ผู้ประสานงานคลินิกชุมชนอบอุ่น เขตกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากที่กฤษฎีกาได้ตีความการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยยืนความเห็นของสำนักงานตรวจเงินแผ่นเดิน (สตง.) ก่อนหน้านี้ ที่ให้ยึดความตามมาตรา 3 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ที่ระบุว่า บริการสาธารณสุข หมายความว่า บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคค ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2559 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จึงได้มีการกำหนดรายการที่ห้ามนำไปใช้จ่ายตามผลการตีความนี้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของคลินิกชุมชนอบอุ่น โดยเฉพาะในส่วนของงบค่าเสื่อม ที่ปกติจะมีการนำไปจัดซื้อคอมพิวเตอร์ แอร์ เครื่องใช้สำนักงานต่างๆ รวมถึงการเช่าอาคาร เพื่อบริการผู้ป่วย ในที่นี้รวมไปถึงเครื่องพ่นหมอกควันเพื่อปราบยุงลายเพื่อป้องกันโรค

ทั้งนี้จากผลการตีความดังกล่าวประกอบกับการกำหนดหลักเกณฑ์การใช้งบของ สปสช.ที่มีอยู่เดิม ที่ไม่ให้ใช้เงินข้ามหมวดหมู่งบประมาณได้ เช่น งบค่าเสื่อมจำกัดให้ใช้แต่เฉพาะค่าเสื่อมเท่านั้น แต่ห้ามนำเงินไปใช้ดูแลผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกได้ ทำให้หน่วยบริการแทนที่จะได้ประโยชน์จากการสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่ก็ไม่ได้

“ปัญหาการตีความการใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นปัญหาระดับประเทศ และได้ผลกระทบได้ลงมาสู่ระดับปฏิบัติแล้ว อย่างคลินิกชุมชนอบอุ่นที่ต้องทำตามหลักเกณฑ์และระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณตามที่ สปสช.กำหนด แม้ว่าขณะนี้จะได้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาทบทวน แต่ไม่รู้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่ ขณะนี้นอกจากซื้อเครื่องใช้ไม่ได้แล้ว แม้แต่จะเป็นค่าเช่าอาคารยังไม่ได้ จึงขอสะท้อนปัญหานี้ไปยังรัฐบาล โดยเฉพาะ รมว.สาธารณสุข เพื่อรับทราบและแก้ไขปัญหานี้โดยเร็ว”  

นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวต่อว่า การตีความการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น แม้ว่าจะมี มาตรา 3 ที่ระบุกำหนดให้ใช้งบโดยตรงกับผู้ป่วย แต่หากดูภาพรวมของกฎหมาย ในมาตรา 38 ได้กำหนดให้มีการสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการของหน่วยบริการ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง นั่นหมายความสามารถนำงบมาใช้ดำเนินการจัดบริการได้ ไม่จำกัดให้ใช้โดยตรงกับคนไข้เท่านั้น ขณะที่มาตรา 46 ระบุไว้ว่าหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการ รวมถึงหน่วยบริการที่รับการส่งต่อผู้รับบริการ มีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขจากกองทุนได้ ซึ่งในวงเล็บ 2 ได้ครอบคลุมถึงเงินเดือน นั่นหมายถึงการนำงบไปใช้สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยบริการได้ ดังนั้นมองว่า การตีความเฉพาะเพียงแค่มาตรา 3 อย่างเดียวคงไม่ได้ และจะทำให้เกิดความวุ่นวาย โดยเฉพาะหากมีการย้อนหลัง

นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า ในระหว่างรอผลการตีความนั้น ขอเสนอให้บอร์ด สปสช.ออกระเบียบ ให้หน่วยบริการสามารถนำงบในหมวดอื่นที่ใช้จ่ายไม่หมดจ่ายหนี้ค่ารักษาให้กับโรงพยาบาลที่รับส่งต่อผู้ป่วยได้ ที่สูงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการส่งต่อผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งจะช่วยผ่อนคลายปัญหาให้กับคลินิกชุมชนอบอุ่นได้ เพราะงบประมาณแต่ละปีที่ได้รับมาส่วนใหญ่ต้องนำไปใช้หนี้ ขณะที่งบส่วนอื่นๆ ไม่สามารถขยับนำใช้แทนได้ ซึ่งทั้ง รมว.สาธารณสุข และบอร์ด สปสช.ควรมีทางออกที่ดีในเรื่องนี้ นอกจากนี้มองว่ายังช่วยให้การใช้งบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเป็นการนำงบประมาณมาใช้เป็นค่าส่งต่อผู้ป่วย แทนที่จะนำงบที่เหลือไปซื้ออุปกรณ์หรือเครื่องมือแพทย์ราคาแพงเพื่อใช้ให้หมดไป

“ปัญหาของคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เกิดขึ้นนี้ สปสช.ทราบปัญหาดี ทั้ง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการ สปสช. และ นพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการ สปสช. เขต 13 กทม. แต่เกินอำนาจของ สปสช. จึงต้องสะท้อนปัญหาไปยัง รมว.สาธารณสุข เพื่อขอให้แก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการแก้ไขระเบียบเพื่อเปิดให้นำงบที่เหลือจากใช้จ่ายไปใช้หนี้ส่งต่อผู้ป่วยได้ ซึ่งหน่วยบริการปฐมภูมิถือเป็นรากฐานของระบบสุขภาพ จึงควรสนับสนุนการบริการเพื่อให้สามารถดูแลประชาชนอย่างประสิทธิภาพ” นพ.พงษ์ศักดิ์ กล่าว