ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.กรุงเทพธุรกิจ : สปส.คาดปี 2559 ภาระพุ่ง 3.4 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้นอีก 3 พันล้านบาท หลังเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้ประกันตนตามกฎหมายใหม่ รอลุ้นแก้ไข พ.ร.บ.เปิดทางลงทุนเพิ่มทั้งต่างประเทศอสังหาริมทรัพย์ "โกวิท" ระบุหุ้นผันผวนดอกเบี้ยเงินฝากลด" ต้องเร่งขยายการลงทุน

หลังจากพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ 4) มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 20 ต.ค.2558 โดยมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับ ผู้ประกันตนใน 7 กรณี ทั้งกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ว่างงาน เสียชีวิต รวมทั้งสิทธิในการรับเงินบำนาญชราภาพ ทำให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น และมีความจำเป็นต้องมีรายได้เข้ามาใช้ในภารกิจดังกล่าว

นายโกวิท สัจจวิเศษ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม  เปิดเผยกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่าในปี 2558 สปส.ต้องจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนทุกกรณีรวมทั้งหมด 31,393 ล้านบาท แบ่งเป็น กรณีเจ็บป่วยกว่า 3,500 ล้านบาท ทันตกรรมกว่า 570 ล้านบาท กรณีคลอดบุตรกว่า 6,000  ล้านบาท กรณีทุพพลภาพกว่า 600 ล้านบาท กรณีเสียชีวิตกว่า 1,500 ล้านบาท สงเคราะห์บุตรกว่า 6,500 ล้านบาท กรณีชราภาพกว่า 6,100 ล้านบาท และกรณีว่างงานกว่า 4,540 ล้านบาท ขณะที่ปี2559 เชื่อว่าจะต้องจ่ายเงินประโยชน์ทดแทนทั้ง 7 กรณีเพิ่มอีกประมาณ 3,000 ล้านบาท สปส.จึงได้หาแนวทางเพื่อรองรับภาระตรงนี้ โดยการขยายลงทุนทั้งในต่างประเทศและอสังหาริมทรัพย์เพิ่มมากขึ้น

"ลดดอกเบี้ย-หุ้นผันผวน" ต้องระวัง

ผลจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถึง 2 ครั้ง ทำให้ ดอกเบี้ยเงินฝากลดลง ขณะที่ตลาดหุ้นไทยมีความผันผวน ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปรับลง ดังนั้นการลงทุนของ สปส.ในปี 2559 ต้องบริหารกองทุนด้วยความระมัดระวัง เนื่องจากตลาดยังมีความผันผวนสูง เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจในประเทศยังเปราะบาง

ดังนั้น สปส.ต้องหาช่องทางการลงทุนเพิ่ม ให้มีการลงทุนที่กว้างขึ้น กระจายการลงทุนจากตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบค่อนข้างต่ำ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนการลงทุน ทั้งการขยายการลงทุนในต่างประเทศ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

"ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ได้เห็นการลงทุนในหลักทรัพย์ใหม่ๆ ของกองทุนฯ รวมถึงการลงทุนในต่างประเทศ เพราะเงินลงทุนของกองทุนเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นกองทุนขนาดใหญ่ ทำให้หาหลักทรัพย์ลงทุนค่อนข้างยาก ถ้าลงทุนตามที่ผ่านมา จะประสบปัญหาผลตอบแทนจากการลงทุนได้น้อย ตรงกันข้ามเมื่อการลงทุนได้กำไรมาก เท่ากับช่วยรัฐบาลด้วย เพราะหากกองทุนมีเสถียรภาพ โอกาสที่รัฐจะเข้ามาอุดหนุนก็น้อยลง"

รอกฎหมายลูกรับการลงทุนใหม่

ทั้งนี้การลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ใหม่ๆ ได้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อเปิดช่องให้มีการลงทุนได้แล้ว อยู่ระหว่างการออกกฎหมายลูก เพื่อรองรับทั้งการออกระเบียบและออกประกาศ ขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงการคลัง

ในส่วนการลงทุนในต่างประเทศสามารถดำเนินการได้ทั้งการลงทุนโดยตรง และการจ้างผู้จัดการกองทุนในต่างประเทศ ระเบียบใหม่ที่จะออกมายังเพิ่มช่องทางให้ สปส.ลงทุนตรงในอสังหาฯ ได้ รวมถึงขยายประเภทสินทรัพย์อื่นๆ เช่น กองทรัสต์เพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

แม้ว่าจะเปิดช่องให้กองทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ภายใต้กรอบลงทุนที่กำหนดให้กองทุนประกันสังคม ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูงในสัดส่วน ไม่ต่ำกว่า 60% และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยงไม่เกิน 40% ของเงินลงทุนทั้งหมด

"ส่วนใหญ่จะลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าที่เพดานกำหนดลงทุนเพียง 10-15% เท่านั้น ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์มั่นคงสูงถึง 85-90% การลงทุนแบบนี้แม้จะไม่ขาดทุน แต่ก็ได้ผลตอบแทนต่ำ มองว่าหากลงทุนแบบนี้ ไม่จำเป็นต้องมีมืออาชีพมาบริหาร การลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนสูง จะต้องลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงด้วย แต่เราก็ต้องให้มืออาชีพวิเคราะห์ ไม่ใช่ว่าลงแล้ว เสี่ยงมากเกินไป"

ช่วงแรกลงทุนต่างประเทศไม่เกิน 7%

สำหรับการลงทุนในต่างประเทศ  ปัจจุบันได้ลงทุนทางอ้อมผ่านหน่วยลงทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ในสัดส่วนประมาณ 3% หรือ 4 หมื่นล้านบาท ได้ขอมติคณะกรรมการไว้ประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท หรือ 7% ของพอร์ตการลงทุนรวม

"เราคงลงทุนในต่างประเทศไม่มาก เพราะยังใหม่กับเรื่องนี้ หากพลาดก็จะเสียหาย ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง แต่ก็จำเป็นต้องไปลงทุน เพราะแนวโน้มการลงทุนในต่างประเทศให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในประเทศ หากจะออกไปลงทุนต่างประเทศ แรกๆ ก็คงจะจ้างผู้เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการลงทุน เช่น บลจ.เป็นต้น"

ขอเว้นระเบียบจัดซื้อ-ภาษีที่ดิน

สำหรับการลงทุนในอสังหาฯ จะจ้างผู้เชี่ยวชาญเข้ามา แต่ สปส.ต้องศึกษารูปแบบจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ว่ามีการบริหารจัดการอย่างไร เมื่อกองทุนประกันสังคมลงทุนแล้วสินทรัพย์ ที่ได้มาจะไม่ตกเป็นของแผ่นดิน แต่เป็นของกองทุนประกันสังคม

พร้อมกันนี้ จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยกเว้นการจัดเก็บภาษีการซื้อขายอสังหาฯ เพราะหากมีภาระภาษีเหมือนภาคเอกชน ก็เป็นอุปสรรคต่อการสร้างผลตอบแทนการลงทุน

นอกจากนี้ การลงทุนในอสังหาฯ ยังต้องขอยกเว้นไม่ต้องดำเนินการตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ เพราะเป็นการซื้อเพื่อลงทุน ไม่ได้ซื้อเพื่อสร้างออฟฟิศ ต้องมีความคล่องตัว ไม่ต้องมีการประมูลเปิดซอง แต่หากใช้ระเบียบพัสดุจะไม่คล่องตัว แข่งขันไม่ได้

ในปีนี้กองทุนประกันสังคมอาจจะต้องมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานผ่านกองทรัสต์ที่รัฐจะลง มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน กิจการรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ

อย่างไรก็ตาม ต้องตกลงกับทางกระทรวงการคลังว่าจะต้องได้ผลตอบแทนในระดับที่พอสมควร คงไม่ได้เรียกร้องในระดับที่สูงมาก แต่ก็คงไม่ใช่เรียกต่ำ จนอยู่ในระดับที่รับไม่ได้ เช่นต้องอยู่ในระดับที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด

"การลงทุนในตลาดหุ้นในประเทศ ต้องเป็นบริษัทที่มีปัจจัยพื้นฐานดี มีเงินปันผล ไม่ได้ดูที่ราคาอย่างเดียว  สถานการณ์เปลี่ยนเร็ว การลงทุนยากขึ้น เพราะขนาดกองทุนใหญ่ขึ้น มีขนาดเป็นล้านล้านบาท ความคล่องตัวจะสู้กองทุนเล็กไม่ได้"

เร่งตั้งหน่วยลงทุนอิสระ

นอกจากการเปลี่ยนกลยุทธ์การลงทุน ในปี 2559 แล้ว สปส.ยังมีแผนจัดตั้งหน่วยลงทุนอิสระ โดยแยกส่วนการลงทุนออกมาเป็น "กองบริหารการลงทุน" เพื่อให้มีความคล่องตัว เทียบเท่ากับการลงทุนของกองทุนเอกชน ขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานโดยมีผู้เชี่ยวชาญหลายด้านมาวิเคราะห์และเสนอไปเลยว่า รูปแบบที่ต้องการเป็นแบบไหน เพื่อจะได้วางกระบวนการ อาจจะต้องแก้กฎหมายหรือออกกฎหมายใหม่

ลงทุนปี 58 ผลตอบแทน 3.42%

การลงทุนในปี 2558 มีผลตอบแทนการลงทุนอยู่ที่ระดับ 3.42% (คำนวณตามมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดตามมาตรฐานบัญชี106) หรือมีผลตอบแทน 4.49 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2557 ผลตอบแทนการลงทุนในรูปตัวเงินลดลงประมาณ 1.59 พันล้านบาท เป็นผลตอบแทนจากดอกเบี้ย และกำไรจากการขายตราสารหนี้ 3.96 หมื่นล้านบาท และเงินปันผลรวมถึงกำไรจากตราสารทุน 5.26 พันล้านบาท

สำหรับพอร์ตเม็ดเงินลงทุนสะสม ณ สิ้นปี 2558 มีมูลค่ารวม 1.39 ล้านล้านบาท เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง 78% หรือ 1.08 ล้านล้านบาท ประกอบด้วย ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน และหุ้นกู้เอกชน

เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 22% คิดเป็นมูลค่า 3.04 แสนล้านบาท ได้แก่ เงินฝากธนาคาร พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงคลังไม่ได้ค้ำประกัน หุ้นสามัญ หน่วยลงทุนต่างประเทศ เช่น อสังหาฯ โครงสร้างพื้นฐาน และหน่วยลงทุนต่างประเทศ

ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559