ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รพ.หาดใหญ่ เจ้าภาพศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยประจำเขต 12 เผย ช่วยผู้ป่วยเข้าถึงการรักษามากขึ้น ทั้งยังลดภาระการประสานงานของ รพ.ต้นทาง “หมอกุลเดช” แนะปัจจัยความสำเร็จ เขตสุขภาพจะต้องช่วยบริหารจัดการ สำรวจศักยภาพ รพ.ในเขต ทั้งในสังกัด สธ.และนอกสังกัด เพื่อรับผู้ป่วยดำเนินการต่อ

จากกรณีที่กระทรวงสาธารณสุข ได้วางระบบการแก้ไขปัญหารับส่งต่อผู้ป่วยจากโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ไปยังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ด้วยการตั้งศูนย์รับส่งต่อผู้ป่วยประจำเขตสุขภาพ ทั้ง 12 เขต และ กทม. โดยมีพยาบาลประจำ 24 ชั่วโมงช่วยรับภาระติดต่อหาโรงพยาบาลแทน รพช.ให้ผู้ป่วยเข้ารักษาที่ รพศ./รพท. และมีระบบส่งกลับ โดยเริ่มดำเนินการแล้วที่เขตสุขภาพที่ 12 มี รพ.หาดใหญ่เป็นศูนย์รับส่งต่อประจำเขตสุขภาพ และเขตสุขภาพที่ 5 มี รพ.ราชบุรีเป็นศูนย์รับส่งต่อนั้น

นพ.กุลเดช เตชะนภารักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ เปิดเผยว่า โรงพยาบาลหาดใหญ่ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่สุดในเขตสุขภาพที่ 12 ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานเรื่องนี้มานานกว่า 10 ปี เพราะเห็นถึงความสำคัญว่า เมื่อมีความจำเป็นต้องส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษาโรคยากๆ ค่ารักษาสูง ผู้ป่วยจากอุบัติเหตุ ศัลยกรรมประสาท หรือโรคที่หาที่รักษาลำบาก เช่น กรณีเด็กคลอดออกมาแล้วน้ำหนักน้อย ตัวเล็ก มักจะหาโรงพยาบาลรับส่งต่อได้ยาก ดังนั้นเลยมีแนวคิดว่าหากมีศูนย์ช่วยประสานงานการส่งต่อ จะช่วยลดภาระให้โรงพยาบาลที่จะส่งต่อได้มาก เพราะไม่ต้องติดต่อไปทุกโรงพยาบาลที่มีศักยภาพรับส่งต่อเอง ทางศูนย์ส่งต่อประสานงานให้ โรงพยาบาลต้นทางไม่เดือดร้อน

“หากผู้ป่วยเป็นโรคยากๆ ที่หาเตียงลำบาก เราก็ส่งเรื่องให้ศูนย์รับส่งต่อที่ตั้งขึ้นมาประสานงานให้ โรงพยาบาลต้นทาง เพียงแค่เมื่อจะส่งผู้ป่วยก็ให้รายงานมาที่ศูนย์ ศูนย์ก็ติดต่อประสานงานให้ และเราจะสำรวจว่าในแต่ละวัน ในโรคที่จะต้องส่งต่อไปรักษา เช่น กรณีเด็กตัวเล็ก มีเตียงว่างที่โรงพยาบาลไหนบ้าง เพราะเด็กตัวเล็กจะต้องใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์แบบเฉพาะ ซึ่งในพื้นที่เขต 12 ปัจจุบันมีเตียงสำหรับเด็กตัวเล็กจำนวน 70 เตียง ซึ่งได้เพิ่มขึ้นมาหลังจากได้รับการพัฒนาตามแผน Service Plan จำนวนเตียงที่มีถือว่าเขตเรารับได้ ไม่ต้องส่งเด็กออกไปรักษานอกเขต เหมือนเมื่อก่อนที่ต้องส่งออกไปไกลถึงโรงพยาบาลศิริราช” นพ.กุลเดช กล่าว

นพ.กุลเดช กล่าวว่า หนึ่งในปัจจัยแห่งความสำเร็จนั้น เขตสุขภาพจะต้องมาช่วยในการบริหารจัดการ สำรวจศักยภาพของโรงพยาบาลว่า ที่ไหนมีความพร้อมในเรื่องใดบ้าง และประสานงานกับโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง ทั้งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขและนอกสังกัด เช่น โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลเอกชนในพื้นที่ โดยให้โรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเขตนั้นๆ รับเป็นศูนย์ส่งต่อ และเขตสุขภาพจะต้องสนับสนุนงบประมาณในการบริหารจัดการ เพื่อให้ศูนย์ได้ใช้งบประมาณดังกล่าวจัดหาเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นพยาบาลมาประจำตลอด 24 ชั่วโมง โดยศูนย์รับส่งต่อโรงพยาบาลหาดใหญ่ใช้งบประมาณ 2 ล้านบาทต่อปี เมื่อเทียบกับผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าคุ้มค่ามาก.