ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักเทคนิคการแพทย์ ร้อง “ค่าตอบแทน พ.ต.ส.” ยังเหลื่อมล้ำ เหตุ “สหสาขาวิชาชีพสาธารณสุข” ถูกแช่แข็ง พ.ต.ส. อัตราเดียว 1 พันบาทต่อเดือน ไม่มีปรับเพิ่มเหมือนแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร และพยาบาล ทั้งที่มีความเสี่ยงต่อโรค ภาระงานและต้องทำงานคุณภาพไม่ต่างกัน เตรียมเคลื่อนไหว ยื่นหนังสือผู้บริหาร สธ.เพื่อขอความเป็นธรรม

นายภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ กล่าวว่า ในการจัดทำค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในช่วงที่ผ่านมา ยังคงมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในการให้ค่าตอบแทน โดยเฉพาะในกลุ่มสหสาขาวิชาชีพ ซึ่งสาขานักเทคนิคการแพทย์เป็นหนึ่งในวิชาชีพที่รวมอยู่ในกลุ่มนี้ เนื่องจากการกำหนดค่าตอบแทน พ.ต.ส.ที่เป็นเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษของผู้ปฏิบัติงานด้านการสาธารณสุข มีความแตกต่างกันมาก

ซึ่งเมื่อดูรายละเอียดของหลักเกณฑ์และอัตราเงินเพิ่ม พบว่า ในแต่ละวิชาชีพจะมีการแยกระดับอัตราค่าตอบแทน พ.ต.ส.ที่มีการปรับขยับเพิ่มตามหน้าที่และภารกิจ ขณะที่กลุ่มสหสาขาวิชาชีพมีค่าตอบแทน พ.ต.ส. เพียงอัตราเดียว

ทั้งนี้ในกลุ่มวิชาชีพแพทย์ มีการแยกค่าตอบแทน พ.ต.ส. เป็น 3 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 อัตรา 5,000 บาท ให้สำหรับแพทย์ทั่วไป

ระดับที่ 2 อัตรา 10,000 บาท แพทย์ที่ได้รับหนังสืออนุมัติชำนาญการสาขาต่างๆ จากแพทยสภา แพทย์ที่เรียนต่อปริญาโทหรือเอกที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข และแพทย์ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชนต่อเนื่อง 4 ปี

และระดับที่ 3 อัตรา 15,000 บาท ให้แพทย์สาขาเชี่ยวชาญต่างๆ

ขณะที่ในกลุ่มวิชาชีพทันตแพทย์ ได้มีการให้ค่าตอบแทน พ.ต.ส. เป็น 3 ระดับเช่นกัน คือ

ระดับที่ 1 อัตรา 5,000 บาท สำหรับทันตแพทย์ทั่วไป

ระดับที่ 2 อัตรา 7,500 บาท ให้กับทันตแพทย์ที่เรียนต่อปริญญาโทและเอก

ระดับที่ 3 อัตรา 10,000 บาท ให้กับแพทย์เฉพาะทาง

ขณะที่กลุ่มเภสัชกร มีการแยกค่าตอบแทน พ.ต.ส. 2 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 อัตรา 1,500 บาท ให้กับเภสัชกรซึ่งทำงานในตำแหน่งทั่วไป

และระดับที่ 2 อัตรา 3,000 บาท ให้กับเภสัชกรที่ต้องปฏิบัติหน้าที่โดยใช้ทักษะความรู้ ความสามารถสูง รวมถึงภาระงานที่มีความเสี่ยง งานวิเคราะห์และเตรียมเคมีบำบัด งานให้คำปรึกษาผู้ป่วยที่มีโรคติดต่อร้ายแรง และงานคุ้มครองผู้บริโภคเกี่ยวกับการตรวจจับและคดี เป็นต้น

ในกลุ่มวิชาชีพพยาบาล มีการแบ่งระดับค่าตอบแทน พ.ต.ส. 3 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 อัตรา 1,000 บาท ให้กับพยาบาลวิชาชีพที่ทำงานในสถาบริการทุกระดับ พยาบาลชุมชน งานอนามัย อาจารย์พยาบาลที่สอนและควบคุมการฝึกปฏิบัติงาน

ระดับที่ 2 อัตรา 1,500 บาท ให้กับพยาบาลที่ประจำแผนกฉุกเฉิน ห้องคลอด ผู้ป่วยใน การติดเชื้อในโรงพยาบาล พยาบาลที่ผ่านการฝึกเฉพาะทาง อาจารย์พยาบาลที่สอนและฝึกให้กับพยาบาลในระดับที่ 2

และระดับที่ 3 อัตรา 2,000 บาท ให้กับพยาบาลวิสัญญี พยาบาลเวชปฏิบัติ พยาบาลประจำ ICU และ CCU พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยติดเชื้อรุนแรง และอาจารย์พยาบาลที่สอนและฝึกให้กับพยาบาลในระดับที่ 3

นายภาคภูมิ กล่าวว่า จากข้อมูลข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่า สหสาขาวิชาชีพในระบบสาธารณสุขเป็นเพียงกลุ่มเดียวที่ไม่มีการปรับระดับค่าตอบแทน พ.ต.ส. แม้ว่าจะต้องทำงานในภาวะเสี่ยงเช่นเดียวกับพยาบาลก็ตาม อย่างเช่น นักเทคนิคการแพทย์ ที่ทำการตรวจสิ่งส่งตรวจของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ และอื่นๆ ต่างมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไม่ต่างจากพยาบาล โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นกลุ่มโรครุนแรง แต่ก็ได้ค่าตอบแทนในระดับเดียวไปตลอดคือ 1,000 บาทเท่านั้น ขณะเดียวกันแม้ว่านักเทคนิคการแพทย์จะมีการฝึกหรือเรียนต่อจนเป็นระดับอาจารย์สอนนักศึกษา แต่ค่าตอบแทน พ.ต.ส.ที่ได้รับก็อยู่ที่ 1,000 บาท ไม่มีการเลื่อนระดับค่าตอบแทนเหมือนกับวิชาชีพพยาบาล ซึ่งไม่จูงใจให้เกิดการพัฒนาและต่อยอด ไม่รวมถึงการทำงานคุณภาพของสหสาขาวิชาชีพที่ไม่ต่างกับวิชาชีพอื่นๆ 

“จากความเหลื่อมล้ำตอบแทนที่เกิดขึ้นนี้ เห็นว่าถึงเวลาที่สหสาขาวิชาชีพต้องออกมาเรียกร้อง เพื่อให้ สธ.ปรับค่าตอบแทน พ.ต.ส.ที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับพวกเรา อย่างน้อยควรเทียบเท่ากับวิชาชีพพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มสหสาขาวิชาชีพได้ร่วมเรียกร้องค่าตอบแทนกับทางกลุ่มพยาบาลมาโดยตลอด แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับใดๆ จาก สธ. และดูเหมือนว่าเป็นกลุ่มเดียวที่ถูกลืม” นายภาคภูมิ กล่าวและว่า ทั้งนี้จะเดินหน้าในส่วนของนักเทคนิคการแพทย์ก่อน และจะประสานไปยังสหสาขาวิชาชีพอื่น โดยเบื้องต้นจะมีการร่างหนังสือเพื่อยื่นต่อ สธ.เพื่อขอความเป็นธรรมต่อไป

ทั้งนี้ สหสาขาวิชาชีพในระบบสาธารณสุข ประกอบด้วย นักเทคนิคการแพทย์ นักกายภาพบำบัด นักรังสีการแพทย์ นักกิจกรรมบำบัด นักแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก และนักจิตวิทยาคลินิกหรือนักจิตวิทยาที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านจิตวิทยาคลินิก.