ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เขต 13 กทม.ดึงคลินิกชุมชนอบอุ่น สร้างเครือข่ายคลินิกส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล หนุนพัฒนาระบบติดตาม ตรวจสอบ เพิ่มประสิทธิภาพ ลดปัญหาการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ปรับปรุงฉลากยา จัดทำฉลากยาเสริม และปรับตำรับยาเหมาะสมกับคลินิก ด้านคลินิกเวชกรรมพุทธบูชาเผย ส่งผลดีต่อคลินิกระยะยาว ลดผลข้างเคียงจากการใช้ยาในผู้ป่วย และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

ทพ.กวี วีระเศรษฐกุล ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 13 กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสมมีแนวโมเพิ่มขึ้น สาเหตุเกิดจากความไม่รู้ ไม่เข้าใจของประชาชน และการส่งเสริมด้านการตลาดที่มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้การรักษาโรคไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ รวมถึงปัญหาเชื้อดื้อยาที่มีความรุนแรงมากขึ้น สปสช.เขต 13 กทม.จึงจัดทำโครงการเครือข่ายคลินิกส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล (Network of Rational Drug Use Clinic) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหานี้ โดยสร้างเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่น กลุ่มผู้นำภาคประชาชน และประชาชนผู้รับบริการที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการใช้ยาอย่างเหมาะสม

ทพ.กวี กล่าวว่า โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ผศ.นพ.พิสนธิ์ จงตระกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้คำแนะนำด้านวิชาการ อบรมให้ความรู้ ในการดำเนินงาน มีการตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ ทั้งพัฒนาระบบติดตามและตรวจสอบ ส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล รวมถึงการจัดทำเภสัชตำรับเฉพาะรายการยาคลินิก การฝึกอบรมบุคลากร รวมถึงการควบคุมการส่งเสริมการขายของบริษัทยา ปรับปรุงข้อมูลบนฉลากยา จัดทำฉลากยาเสริมที่เป็นเครื่องมือให้ผู้ป่วยใช้ยาอย่างถูกต้องและปลอดภัยเพิ่มขึ้น การให้คำแนะนำการใช้ยารักษาโรค การให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้สั่งใช้ยาเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงตำรับยาและการใช้ยาที่มีประสิทธภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังจัดทำระบบเฝ้าระวังการใช้ยาอย่างปลอดภัยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคตับ หญิงตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ รวมถึงกลุ่มพิเศษอื่นๆ ที่เป็นเป้าหมายของแต่ละคลินิก ซึ่งการดำเนินงานจะมีตัวชี้วัดกำหนด

ด้าน ภก.จุมพล งามยิ่งสุรัติ เภสัชกรประจำคลินิกเวชกรรมพุทธบูชา หนึ่งในเครือข่ายคลินิกชุมชนอบอุ่นที่เข้าร่วมโครงการเครือข่ายคลินิกส่งเสริมการใช้ยาอย่างสมเหตุผล กล่าวว่า ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าวกับ สปสช.ตั้งแต่ปลายปี 2558 ที่ผ่านมา เนื่องจากมองเห็นผลดีที่จะได้รับ ทั้งต่อผู้ประกอบการ ผู้ป่วยที่รับบริการ และต่อสังคมในระยะยาวจากการใช้ยาอย่างสมเหตุผล โดยการดำเนินงานเบื้องต้นที่เป็นรูปธรรม อาทิ การปรับปรุงฉลากยา จากแต่เดิมเป็นชื่อยาภาษาอังกฤษเข้าใจยาก ได้ปรับเป็นภาษาไทยที่ง่ายต่อการเข้าใจและจดจำ เพื่อให้กินยาได้อย่างถูกต้อง พร้อมกันนี้ยังมีการจัดทำฉลากยาเสริมเพื่อเพิ่มเติมข้อมูลผลข้างเคียงยาที่อาจเกิดขึ้น การปรับตำรับยาที่ให้เหมาะสมกับผู้ป่วยที่รับบริการคลินิก ซึ่งเป็นไปตามบัญชียาหลักแห่งชาติ โดย สปสช.ได้ให้การสนับสนุน

“ผลที่เกิดขึ้นนอกจากทำให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจเรื่องยาและเกิดการใช้ยาที่ถูกต้องแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ช่วยลดการใช้ยาไม่จำเป็นที่อาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ไม่เหมาะสมตามมาได้ ทำให้เกิดความปลอดภัยมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายได้” ภก.จุมพล กล่าว

ภก.จุมพล กล่าวต่อว่า การปรับปรุงระบบยาในคลินิกเพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสมอาจมีความยุ่งยากในช่วงแรก แต่หลังจากที่ทุกอย่างเข้าสู่ระบบแล้ว นอกจากเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายแล้ว ผลที่ได้รับยังมองว่าคุ้มค่า เพราะนอกจากคลินิกได้มีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อผู้ป่วยและสังคมในพื้นที่แล้ว ยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ป่วยที่ส่งผลดีต่อการดำเนินงานคลินิกในระยะยาวต่อไปด้วย