ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.ร้อยเอ็ด เผย สามารถผ่าตัดปลูกถ่ายไตให้คนไข้หญิง อายุ 22 ปี รายแรกสำเร็จ หลังจำนวนผู้ป่วยโรคไตเพิ่มสูงขึ้น เดิมทีต้องเดินทางไปรักษาที่ รพ.ศรีนครินทร์ จ.ขอนแก่น ซึ่งต้องใช้เงินสูงในการรักษา วอนผู้ใจบุญช่วยกันบริจาคอวัยวะ

เว็บไซต์ไทยรัฐรายงานเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 59 นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 7 พร้อมด้วย นพ.เกรียงไกร โกวิทางกูร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด ผศ.ศิริ เชื้ออินทร์ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ขอนแก่น นพ.ชัชวาลย์ วชิรเมธารัชต์ ประธานโครงการปลูกไต โรงพยาบาลร้อยเอ็ด ร่วมกันแถลงข่าว กรณีการถวายผลงานปลูกถ่ายไตและบริจาคอวัยวะ เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องใน “วันไตโลก” ที่ห้องประชุม โรงพยาบาลร้อยเอ็ด

นพ.เกรียงไกร กล่าวว่า โรคไตวายเรื้อรัง เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ หากประชาชนขาดความรู้ ความเข้าใจ และขาดการตระหนักในการดูแลสุขภาพ จากกลุ่มเสี่ยง จะกลายเป็นความเจ็บป่วยเรื้อรัง อันได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และ มีภาวะแทรกซ้อน กลายเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตที่เลวลง และเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จำนวนผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายรายใหม่จำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยมีสาเหตุหลักมาจาก เบาหวาน และ ความดันโลหิตสูง

ปัจจุบัน จ.ร้อยเอ็ด มีผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง จำนวน 573 ราย ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 613 รายการ ปลูกถ่ายไต เป็นการบำบัดทดแทนไตที่ดีที่สุด โดยนำเอาไตที่ยังทำงานได้ดีของผู้อื่น มาปลูกถ่ายใส่ร่างกายของผู้ป่วย เพื่อให้ไตใหม่ที่ทำงานได้ดี จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว สามารถประกอบกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติ ปัญหาที่พบ คือ ระยะเวลาการรอรับอวัยวะยาวนาน เนื่องจากมีผู้บริจาคอวัยวะจำนวนน้อยและต้องเดินทางไปเข้าคิวการผ่าตัดที่ รพ.ศรีนครินทร์ขอนแก่น ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปรักษาดังกล่าว

นพ.เกรียงไกร กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลร้อยเอ็ด จึงได้พัฒนาระบบการปลูกถ่ายไต เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยดำเนินการผ่าตัดปลูกถ่ายไตแก่ผู้ป่วยรายแรกสำเร็จ เมื่อวันที่ 27 ก.พ. 2559 เป็นผู้ป่วยหญิง อายุ 22 ปี ไตวายจากสาเหตุไตอักเสบเฉียบพลัน ต้องล้างไตมา 1 ปี ขณะที่ผู้บริจาคไต เป็นญาติใกล้ชิด เพศหญิง อายุ 21 ปี ปัจจุบันผู้ป่วยและผู้บริจาคไตมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติ ขณะเดียวกัน ผู้บริจาคไต ก็มีสุขภาพแข็งแรงดี ภายหลังการผ่าตัด

ผู้อำนวยการโรงพยาบาลร้อยเอ็ด กล่าวอีกว่า การดูแลตนเองให้ลดความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคไต ผู้ป่วยโรคไตควรพบแพทย์สม่ำเสมอ ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและคุมความดันโลหิต ให้น้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ควบคุมการกินอาหารรสเค็ม จำกัดอาหารประเภทโปรตีน หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวด ยาหม้อ ยาชุด โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เลิกสูบบุหรี่ งดดื่มสุรา และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ ขอเชิญชวนผู้ใจบุญบริจาคอวัยวะแก่เพื่อนมนุษย์ เพื่อต่อชีวิตต่อลมหายใจของผู้ป่วยที่รอความหวัง ถือว่าเป็นการทานบารมีที่ยิ่งใหญ่ และเป็นที่สุดแห่งการให้ครั้งสุดท้ายของชีวิต ติดต่อได้ที่ โรงพยาบาลร้อยเอ็ด.

ที่มา: http://www.thairath.co.th