ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์เดลินิวส์ : เปิดเบื้องหลังโรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาดหนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจาก “ท้องถิ่น” ทั่วประเทศไม่กล้าฉีดวัคซีนให้หมา เหตุโดน “สตง.” ท้วงติงการใช้งบ แต่ล่าสุดเคลียร์ปัญหาจบ “กฤษฎีกา” ยืนยันทำได้ “ผอ.ควบคุมโรค กรมปศุสัตว์” เชื่อหลังจากนี้ปัญหาจะลดลง

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559 เว็บไซต์เดลินิวส์รายงานว่า จากกรณี นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผอ. ศูนย์โรคติดเชื้อ โรคอุบัติใหม่ สภากาชาดไทย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาเปิดเผยถึงการตรวจวิเคราะห์ “หัวสุนัข” เพื่อหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ผล “เป็นบวก” จำนวนมาก ซึ่งลุกลามไปทั้งกทม. ปริมณฑล และหลายจังหวัดทั่วประเทศ ขณะที่อัตราการป่วยและเสียชีวิตในมนุษย์ที่มีการตรวจยืนยัน ก็พบว่าเพิ่มขึ้นมากเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน แต่ที่น่ากังวลคือในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีคนเสียชีวิต หรืออาการคล้ายโรคพิษสุนัขบ้าเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นตามที่ปรากฏเป็นข่าวแล้วนั้น

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” ได้ทำการตรวจสอบการป้องกันและควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำให้ทราบว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา อปท.ไม่ได้เข้าไปดำเนินการฉีดยาป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขของชาวบ้านหรือสุนัขจรจัด เนื่องจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ออกมาทักท้วงว่า การฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้าเป็นอำนาจของ “กรมปศุสัตว์” ไม่ใช่อำนาจของเทศบาล อบต. หรือ อบจ.ทำให้องค์กรท้องถิ่นต่างๆ ต้องยกเลิกการฉีดยาป้องกันพิษสุนัขบ้าทันที เพราะเกรงว่าหากยังคงดำเนินการ จะถูก สตง.ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินผิดประเภท แต่ปรากฏว่า ในช่วงที่ผ่านมา หลังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ไม่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้ ทางกรมปศุสัตว์เองก็ไม่สามารถให้บริการได้ทั่วถึง เพราะมีงบประมาณที่จำกัด อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ดูแลไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ จึงเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้โรคพิษสุนัขบ้าแพร่ระบาดมากในปีที่ผ่านมาจนถึงเวลานี้

เผยเบื้องหลัง สตง.เบรกท้องถิ่นห้ามฉีดวัคซีน

ล่าสุดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ออกหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ลงวันที่ 20 เม.ย.2559 เรื่อง “ภารกิจและอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามพ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า พ.ศ.2535” ซึ่งได้มีการหารือกับกฤษฎีกา จนได้ข้อสรุปว่า อปท.สามารถดำเนินการในการฉีดยาพิษสุนัขบ้าได้ ไม่ขัดต่อข้อกฎหมายตามที่ สตง.ได้ทักท้วงไว้

นายธนา ยันตรโกวิท ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและส่งเสริมการบริหารงานท้องถิ่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบายกับ “เดลินิวส์ออนไลน์” ถึงหนังสือดังกล่าวว่า สืบเนื่องจากเมื่อปี 2556 ทาง สตง.จังหวัดนครราชสีมาได้มีหนังสือขอเรียกเงินงบประมาณในการดำเนินการฉีดวัคซีนโรคพิษสุนัขบ้า คืนจากเทศบาลตำบลสุรนารี จ.นครราชสีมา เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามประกาศของกรมปศุสัตว์ ทางเทศบาลจึงได้ปรึกษาหารือกับทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และมีการเรียกประชุมร่วมกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมปศุสัตว์ จนได้ข้อสรุปว่า เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าใจผิดกัน และไม่ได้มีการเรียกเงินคืนแล้ว จึงออกมาเป็นหนังสือดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน ยืนยันว่าไม่ได้มีการขัดแย้งแต่อย่างใด และหลังจากนี้จะมีการจัดทำข้อมูลในรูปแบบหนังสือ เพื่อแจกจ่ายให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจตรงกันทุกฝ่าย และจะไม่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก

“เป้าหมายที่วางไว้ คือโรคพิษสุนัขบ้าจะต้องหมดไปในปี 2563 และล่าสุดก็ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อใหม่ ซึ่งไม่ใช่แค่โรคพิษสุนัขบ้า เพื่อให้โรคติดต่อทั้งหมดได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ซึ่งมีการปรับโครงสร้างใช้ไปแล้วเมื่อปี 2558 คือให้ระดับผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามาดูแลร่วมด้วย ไม่ใช่ดำเนินการกันในระดับท้องถิ่นอย่างเดียว”นายธนากล่าว

“ผอ.ควบคุมโรค” เชื่อหลังจากเคลียร์กันแล้วปัญหาจะลดลง

ทางด้าน น.สพ.ประภาส ภิญโญชีพ ผอ.สำนักควบคุมป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวยอมรับกับ “เดลินิวส์ออนไลน์” ว่า เมื่อปี 2556 ช่วงที่ สตง. ลงตรวจสอบงบประมาณการจัดซื้อของ อปท. และท้วงติงเรื่องอำนาจหน้าที่ในการป้องกันโรค ว่าเป็นภารกิจของ อปท.หรือไม่ ซึ่งกว่าจะลงตัว สรุปได้ว่า อปท.มีอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า ก็ใช้เวลาไปปีกว่า ในระหว่างนี้ลูกๆ สุนัขจรจัด และโรคพิษสุนัขบ้า ก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะ อปท.ถูกยุติหน้าที่ จึงไม่มีการฉีดวัคซีนป้องกัน แต่เมื่อสรุปแล้วว่า อปท.มีอำนาจป้องกันโรคได้ จึงคาดการณ์ว่าในปี 2559 นี้พิษสุนัขบ้าจะลดลง

น.สพ.ประภาส กล่าวยืนยันว่า อปท.ไม่ได้ทำงานทับซ้อนกับกรมปศุสัตว์ แต่เป็นการกระจายอำนาจในการป้องกันโรค ซึ่ง อปท. มีอำนาจจัดซื้อวัคซีนฯ แต่มีเงื่อนไขต้องจัดซื้อตามงบประมาณแผ่นดิน และทำรายงานใบรับรองการฉีดวัคซีน ส่งให้ต้นสังกัด ซึ่งกรมปศุสัตว์จะได้มาภายหลังและเก็บรวบรวมไว้ แต่การซื้อวัคซีนฯไม่ใช่แจกให้กับชาวบ้านฉีดกันเอง อปท.ต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.โรคพิษสุนัขบ้า คือต้องมีสัตวแพทย์เป็นผู้ฉีด หรือสัตวแพทย์มอบอำนาจเป็นหนังสือ ให้ผู้มีความรู้ความสามารถเป็นผู้ฉีดยาวัคซีนฯ พูดง่ายๆ กรมปศุสัตว์ก็มีหน้าที่ ส่วน อปท.ก็มีหน้าที่ ที่จะป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเช่นเดียวกัน

“ตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี 2563 โรคพิษสุนัขบ้าจะถูกจำกัดให้หมดไป โดยเป็นข้อตกลงระหว่าง กรมควบคุมโรค ภายใต้กระทรวงสาธารณสุข, กรมปศุสัตว์ ภายใต้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ที่ร่วมกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งในทุกๆ ปีกรมปศุสัตว์จะเป็นหน่วยงานที่รณรงค์เรื่องดังกล่าวอยู่แล้ว และจะเพิ่มความถี่มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเข้าสู่ฤดูร้อน แต่ไม่ได้หมายความว่าโรคนี้จะไม่เกิดขึ้นฤดูอื่นๆ แต่หากมีการแพร่ระบาดหนัก กรมควบคุมโรคจะเป็นหน่วยงานที่ลงไปฉีดวัคซีนทันที” น.สพ.ประภาสกล่าว

“ครูหยุย” คาดสิ้นปี 59 ยอดสุนัขจรจัดแตะ 1 ล้านตัว

วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหาการทอดทิ้งสัตว์ในที่สาธารณะ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แถลงถึงปัญหาการทำร้ายสุนัขที่เกิดขึ้นในขณะนี้หลายกรณี ซึ่งปัจจุบันมีสุนัขในประเทศไทย จำนวน 8.5 ล้านตัว เป็นสุนัขที่ไม่มีเจ้าของหรือสุนัขจรจัด จำนวน 7.3 แสนตัว คาดว่าในสิ้นปี 2559 จะมีสุนัขจรจัดเพิ่มขึ้นเป็น 1 ล้านตัว ซึ่งมาจากการถูกทอดทิ้ง และแพร่พันธุ์มากขึ้น แม้จะมีหน่วยงานเอกชนรับไปดูแลแต่ก็พบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย อีกทั้งการร้องเรียนของเพื่อนบ้านเกี่ยวกับเสียงและกลิ่นที่รบกวน ขณะที่หน่วยงานท้องถิ่นอย่างเทศบาล ซึ่ง กมธ.พบว่าสามารถดูแลได้ดีที่สุด แต่ติดปัญหาเรื่องงบประมาณที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไม่ให้เทศบาลใช้งบเพื่อดำเนินการในส่วนนี้ ส่วนผู้ที่ให้อาหารสุนัขเป็นประจำแต่ไม่ได้รับเลี้ยงดู ก็เป็นปัญหา กมธ.จึงจำแนกสุนัขออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ สุนัขเป็นโรค พิการ ท้อง ลูกสุนัข และสุนัขดุ เพื่อให้หน่วยงานรัฐรับสุนัขส่วนนี้ไปดูแลก่อน

ด้านนายโรเจอร์ โลหะนันทน์ เลขาธิการสมาคมพิทักษ์สัตว์ไทย กล่าวถึง พ.ร.บ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ที่มีการเปรียบเทียบเรื่องโทษหากคนทำร้ายสุนัขหรือสัตว์ ซึ่งกฎหมายคุ้มครองคนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสัตว์มีมาก่อนนานแล้ว แต่กฎหมายที่ป้องกันคุ้มครองสัตว์เพิ่งมีขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2557 ดังนั้น คนในสังคมคงเคยชินกับการลงมือสุนัขถ้าถูกข่มขู่ เป็นความสับสนของคำว่าป้องกันกับทารุณ ซึ่งกฎหมายไม่ได้ห้ามให้คนป้องกันตัว แต่ป้องกันได้หากมีเหตุผลอันควร จึงไม่ควรมีการเปรียบเทียบเรื่องโทษของกฎหมายคุ้มครองสัตว์ว่ารุนแรงกว่าคน แต่กฎหมายที่ออกมาก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม

ที่มา: www.dailynews.co.th