ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายภาคประชาชนชี้ เลขาธิการ สปสช.คนใหม่ต้องเข้าใจและยืนหยัดรักษาเจตนารมณ์เดิมของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่เป็นเรื่องของ สิทธิ ความเสมอหน้า และความเท่าเทียม

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภา จ.สมุทรสงคราม กล่าวถึงสถานการณ์ระบบหลักประกันสุขภาพว่า แนวนโยบายของรัฐบาลและกลุ่มคนที่ยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ถือว่าย้อนยุคไปไกลมาก เพราะร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจัดทำอยู่ได้ตัดคำว่า “เสมอหน้า” “เท่าเทียม” และ”การเข้าถึง” ออก ที่สำคัญกว่านั้นคือในรัฐธรรมนูญ 2550 เขียนเรื่องการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานการรักษาพยาบาล แต่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตัดออกด้วย ฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่สามารถปฏิรูประบบหลักประกันสุขภาพให้ก้าวหน้าไปได้เลย

ขณะเดียวกัน ในส่วนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ก็กำลังอยู่ระหว่างการสรรหาตัวเลขาธิการคนใหม่ ซึ่งน่าเป็นห่วงว่าหากได้เลขาฯ คนใหม่ที่ไม่มีแนวคิดก้าวหน้า หรือคิดแต่ดึงอำนาจกลับไปที่กระทรวงสาธารณสุข อนาคตของระบบหลักประกันก็คงจะมืดมนมาก ระบบคงกลับไปเป็นของผู้ยากไร้ ด้อยโอกาส และการให้บริการก็จะทำเท่าที่ทำได้ การเรียกร้องมาตรฐานการรักษาก็คงเป็นไปด้วยความยากลำบาก

“เลขาธิการ สปสช.ต้องเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ ยอมรับเรื่องการถ่วงดุลและยืนอยู่บนผลประโยชน์ประชาชน เพราะเดิมที การมีระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติขึ้น เป็นแนวคิดที่มีการแยกบริการและการให้บริการออกจากกัน เป็นแนวคิดของประกัน เพียงแต่รัฐเป็นคนจ่ายเงินแทนประชาชน คือเราไม่ได้บอกว่าคนของกระทรวงสาธารณสุขไม่ดีนะ แต่ถ้าเอาคนที่มีแนวคิดเป็นไปตามกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด อีกหน่อยอนาคตระบบหลักประกันก็เข้าไปอยู่กับกระทรวงเหมือนที่เคยทำมา แล้วการให้บริการก็เป็นไปแบบแค่นี้ก็พอแล้ว ไม่มีทางก้าวหน้าไปได้” น.ส.บุญยืน กล่าว

เช่นเดียวกับ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ให้ความเห็นว่า ตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะ สปสช.เป็นกลไกที่ทำให้ระบบสุขภาพขับเคลื่อนไปได้ ดังนั้นตัวเลขาธิการ สปสช.จำเป็นต้องได้คนที่เข้าใจแก่น เข้าใจหลักการและเจตนารมณ์ของระบบสุขภาพ รวมทั้งรักษาระบบไม่ให้ผิดเพี้ยนไป อีกทั้งต้องไม่ทำให้ระบบโดดเดี่ยว ต้องมีมุมมองการทำงานกับภาคีภาคส่วนต่างๆ เพื่อเป็นแนวร่วมในการรักษาและพัฒนาระบบต่อไป

“ตอนนี้ต้องบอกว่ามีภัยคุกคามระบบหลักประกันสุขภาพ เพราะยังมีความเข้าใจผิดว่าระบบหลักประกันสุขภาพเป็นการสร้างภาระให้รัฐบาล อีกอย่างคือการมีระบบหลักประกันสุขภาพก็ทำให้คนบางส่วนเสียผลประโยชน์ที่เคยมี เพราะฉะนั้นความไม่เห็นด้วยกับระบบหลักประกันก็มีมาตลอด และพยายามทำให้ระบบมีปัญหา ซึ่งการล้มระบบหลักประกันไม่ใช่แค่ทำให้ สปสช.ไม่มีอยู่ การมี สปสช.อยู่แต่เจตนารมณ์เดิมถูกแปรเปลี่ยนไป ก็ถือว่าเป็นการล้มระบบเหมือนกัน การเขียนรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพออกมาในลักษณะนี้ เหมือนถอยหลังเข้าคลอง กลายเป็นเรื่องการสงเคราะห์ผู้ยากไร้” น.ส.สุภัทรา กล่าว

ด้านนายธาดา วรรธนปิยะกุล ประธานเครือข่ายมูลนิธิหมออนามัย กล่าวว่า เลขาธิการ สปสช.คนใหม่ ควรให้ความสำคัญกับระบบปฐมภูมิมากกว่าที่เป็นอยู่ ถ้ามาจากสายที่ผ่านงานปฐมภูมิมากก่อน เช่น โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลจังหวัด ก็น่าจะทำงานได้ดีเพราะเคยผ่านประสบการณ์มาทุกระดับ แต่ถ้าได้คนที่อยู่แต่ในกระทรวง อยู่ฝ่ายวิชาการ ไม่เคยผ่านงานระดับภูมิภาค ไม่เคยอยู่ในระดับอำเภอหรือจังหวัด วิธีคิด มุมมองก็จะต่างกันและอาจเป็นปัญหาได้

เช่นเดียวกับประเด็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตัดเรื่องการเข้าถึง ความเท่าเทียมออก จะมีผลกระทบต่อการทำงาน เพราะสิทธิมนุษยชนหรือสิทธิที่เท่าเทียมกัน เป็นเรื่องที่ไม่สามารถจำแนกได้ ถ้าเป็นคนไทยก็ควรได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน ดังนั้นควรคงหลักการไว้เหมือนเดิม และและเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ก็ควรยืนหยัดให้เป็นไปตามเจตนารมณ์เดิม ว่าคนไทยทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับบริการเท่าเทียมกันในเรื่องสุขภาพ ไม่แยกกลุ่มเป็นคนรวยคนจน