ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข เร่งปฏิรูประบบบริการปฐมภูมิ ตั้งเป้าให้คนไทย 1 ล้านครอบครัว มีแพทย์เวชศาสตร์ประจำครอบครัวดูแลภายในปี 2560 “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี” เน้นดูแบบองค์รวมทั้งส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู โดยเตรียมทีมสหวิชาชีพ 3 ทีมต่อประชาชน 3 หมื่นคน ให้ประชาชนเจ็บป่วยเล็กน้อย เข้าถึงบริการสะดวก ลดความแออัด พร้อมขยายทั่วประเทศภายในปี 2565

เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2559 ที่จังหวัดบุรีรัมย์ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลบุรีรัมย์

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ขณะนี้ผู้ป่วยเข้ารับบริการในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขค่อนข้างมาก ข้อมูลสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ปี 2559 เพียง 6 เดือน มีผู้ป่วยเข้ารับบริการโรงพยาบาลทุกระดับกว่า 400 ล้านครั้ง เป็นผู้ป่วยในอีก 1.75 ล้านคน ทำให้แพทย์มีเวลาจำกัดในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยแบบองค์รวม ประกอบกับความเป็นสังคมเมือง การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โรคเรื้อรังจากพฤติกรรมสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในโรงพยาบาลใหญ่ในเขตเมืองที่ต้องให้บริการครอบคลุม ตั้งแต่ปฐมภูมิไปจนถึงตติยภูมิ แต่ละแห่งมีผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละประมาณ 2-3 พันคน มีผู้ป่วยโรคพื้นฐานเช่น ไข้หวัด ผื่นคัน ตาแดง ฉีดวัคซีน ทำแผล ไปถึงโรคยุ่งยากซับซ้อนที่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ เช่น โรคหัวใจ มะเร็ง ผ่าตัด ฉายรังสี เป็นต้น

ด้าน นพ.โสภณ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดปฏิรูประบบบริการสุขภาพ โดยเฉพาะบริการปฐมภูมิ ได้จัดระบบดูแลในลักษณะกลุ่มบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Cluster) ดูแลแบบองค์รวม ทั้งด้านการรักษาพยาบาล และส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูสุขภาพบุคคลและครอบครัว ให้บริการสุขภาพพื้นฐานปกติที่บุคลากรสาธารณสุขให้บริการประชาชนเป็นประจำ ทั้งก่อนป่วย ป่วยเล็กน้อย ปัญหาที่ซับซ้อน จนถึงระยะสุดท้าย รวมทั้งเป็นผู้ประสาน ส่งต่อ เชื่อมโยงบริการให้แก่แพทย์หรือบุคลากรสาธารณสุขเฉพาะทางอื่นๆ เมื่อจำเป็น เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบบริการสุขภาพแต่แรกทุกเรื่อง ต่อเนื่อง เบ็ดเสร็จ ผสมผสาน ลดการป่วย ลดการรอคอย ลดความซ้ำซ้อน ลดรายจ่าย เป็นต้น

โดยในเขตเมืองให้โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป จัดหน่วยบริการปฐมภูมิ ดูแลประชาชนด้วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและทีมสหวิชาชีพ กำหนดพื้นที่และประชาชนในความรับผิดชอบชัดเจน โดยดูแลประชากรประมาณ 30,000 คนต่อ 3 ทีม ส่วนเขตชนบทให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่อยู่ใกล้กันรวมกันเป็นกลุ่ม ดูแลประชาชน 30,000 คนต่อ 3 ทีมเช่นกัน ใช้หลักการเวชศาสตร์ครอบครัว ดูแลความเจ็บป่วย(Illness) มากกว่าดูแลเฉพาะโรค (Disease) ทุกมิติสุขภาพ ด้วยบริการที่ต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย เน้นที่ดูแลเป็น “คน” ไม่ใช่ทำเป็นกิจกรรมหรืองาน ตั้งเป้าให้คนไทย 1 ล้านครอบครัว มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแล ภายในปี 2560 ด้วย “บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยี”

“ขณะนี้มีโรงพยาบาลในเขตเมือง 48 แห่ง มีหน่วยบริการปฐมภูมิพร้อมดูแลประชาชนในความรับผิดชอบ มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 292 คนในระบบ และจะผลิตเติมเต็มในทุกพื้นที่ ต่อไปคนไทยทุกคนจะมีหมอประจำตัว ให้ความรู้เรื่องโรค แนะนำการปฏิบัติเพื่อไม่ให้ป่วยหรือเมื่อป่วย ผู้ป่วยต้องปรึกษาหรือไปพบก่อนไปโรงพยาบาลหรือส่งต่อไปที่อื่น เป็นการปรับสมดุลแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวกับแพทย์เฉพาะทาง ช่วยลดผู้ป่วยนอกไปที่โรงพยาบาลใหญ่ เพิ่มการเข้าถึงบริการ ดูแลต่อเนื่อง พัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการ และเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อลดค่าใช้จ่ายสุขภาพในระยะยาว” นพ.โสภณกล่าว