ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขจัดทำแผนปฎิบัติการแผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ พ.ศ.2558-2561 ได้รับความเห็นชอบจาก ครม. 14 มิ.ย.59 เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสภาพช่องปากครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 50 หรือประมาณ 5.8 ล้านคน ภายในปี 2561 จากร้อยละ 34 ในปี 2555 และอย่างน้อย 1 จังหวัดทุกเขตสุขภาพ มีการพัฒนารูปแบบเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพในช่องปากผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ เช่น ฟันผุ แผล/มะเร็งในช่องปาก สภาวะน้ำลายแห้ง ฟันสึก โรคปริทันต์

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการมีสุขภาพดีช่วยเสริมคุณภาพชีวิต เพราะปัญหาสุขภาพช่องปาก จะส่งผลต่อระบบอื่นๆของร่างกาย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าควรส่งเสริมสุขภาพช่องปากในวัยเด็กเท่านั้น แต่ความจริงแล้ววัยสูงอายุก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อร่างกายมีอายุมากขึ้น ระบบการทำงานของอวัยวะในร่างกายต่างๆ ก็จะเสื่อมสภาพ รวมทั้งเหงือกและฟันที่อยู่ในช่องปากด้วย ตามกระแสพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชดำรัสด้วยความเป็นห่วงทุกข์สุขของพสกนิกร ว่า "เวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง"

โดยข้อมูลจากการสํารวจทันตสุขภาพระดับจังหวัดปี 2557 ผู้สูงอายุพบว่า มีฟันแท้ที่ใช้เคี้ยวอาหารได้ 20 ซี่ขึ้นไป เพียงร้อยละ 56.9 ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดแผนปฎิบัติการแผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย พ.ศ.2558-2561 ภายใต้แผนงานทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุประเทศไทย พ.ศ.2558-2565 เพื่อให้ผู้สูงอายุเข้าถึงการบริการส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟูสภาพช่องปากเพิ่มขึ้น โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2559

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า กลุ่มเป้าหมายดำเนินการตามแผนดังกล่าว จะครอบคลุมทั้งกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มรองคือผู้ที่มีอายุ 40- 59 ปี ตามข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีเมื่อ ปี 2558 โดยมียุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ข้อ คือ

1.เพิ่มการเข้าถึงบริการทันตสุขภาพจากร้อยละ 34 ในปี 2555 เป็นร้อยละ 50 หรือประมาณ 5.8 ล้านคน และอย่างน้อย 1 จังหวัดของทุกเขตสุขภาพ มีการพัฒนารูปแบบเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพในช่องปากผู้สูงอายุอย่างเป็นระบบ เช่น ฟันผุ แผล/มะเร็งในช่องปาก สภาวะน้ำลายแห้ง ฟันสึก โรคปริทันต์ เป็นต้น

2.ศึกษาวิจัยและพัฒนานวตกรรม เพื่อสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ มีการผลิตนวตกรรม เพื่อการรักษา การ ฟื้นฟู ป้องกันโรค และความผิดปกติทางทันตกรรม

3.พัฒนาบุคลากรและหลักสูตรด้านทันตกรรมผู้สูงอายุทั้งระดับปริญญาตรี หลักสูตรระยะสั้นร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ  

และ 4.บริหารจัดการ พัฒนาระบบฐานข้อมูล การติดตามประเมินผลอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรลุแผนในการทำงานคือภายในปี 2561 ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากดีและมีฟันใช้อย่างเหมาะสม ร้อยละ 80