ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธาน กมธ.สาธารณสุข สนช. เผยความคืบหน้าพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่...) พ.ศ. .... คาดสัปดาห์หน้าพิจารณามาตราร้อน กำหนดให้ รพ.ต้องแสดงค่ารักษาพยาบาล ค่ายา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ พร้อมระบุสาระสำคัญปรับปรุงกฎหมายเพื่อควบคุมมาตรฐานบริการรักษาพยาบาลครอบคลุมทั้งรัฐและเอกชน พร้อมกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องรับผู้ป่วยฉุกเฉิน

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่...) พ.ศ. .... อยู่ระหว่างการพิจารณาในชั้น กมธ.สาธารณสุข สนช. ภายหลังจากที่ได้ผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ซึ่งเป็นกฎหมายที่นำเสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข เพื่อแก้ไข พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 มีเนื้อหามุ่งแก้ไขปัญหาการบริการและการรับบริการรักษาผู้ป่วย ซึ่งต้องเป็นไปตามมาตรฐานสถานพยาบาล โดยให้ครอบคลุมทั้งหน่วยบริการของรัฐและเอกชน จากที่ พ.ร.บ.สถานพยาบาลฉบับเดิมครอบคลุมเพียงเฉพาะสถานบริการเอกชนเท่านั้น เพื่อให้การดำเนินการอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

พร้อมกันนี้ยังกำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนเป็นที่ฝึกอบรมเพิ่มเติมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การควบคุมการโฆษณาสถานพยาบาลและบริการทางการแพทย์ การปรับปรุงบทลงโทษและอัตราค่าปรับที่เหมาะสม รวมถึงการเพิ่มเติมกำหนดให้สถานพยาบาลทุกแห่งต้องรับรักษาพยาบาลฉุกเฉินนี้ด้วย   

นพ.เจตน์ กล่าวว่า ขณะเดียวกัน ร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาลฉบับนี้ ยังกำหนดให้สถานพยาบาลต้องแสดงรายละเอียดอัตราค่ารักษาพยาบาล ค่ายาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการทางการแพทย์ ค่าบริการอื่น และสิทธิของผู้ป่วยที่สถานพยาบาลต้องแสดงตามมาตรา 33 วรรคหนึ่ง โดยในสัปดาห์หน้าคาดว่า กมธ.สาธารณสุข จะมีการพิจารณาในมาตรานี้

“เรื่องนี้เป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับความสนใจ กมธ.ผู้พิจารณาคงต้องมีการพูดคุยกัน พร้อมรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ทั้งฝั่งผู้รับบริการและผู้ให้บริการ โดยเฉพาะในส่วนของ รพ.เอกชน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ให้เกิดผลกระทบ และสามารถเดินไปด้วยกันได้” ประธาน กมธ.สาธารณสุข สนช. กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการนำเสนอร่าง พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่...) พ.ศ. .... โดยกระทรวงสาธารณสุขได้ระบุถึงข้อดีของการปรับปรุงร่างกฎหมายฉบับนี้ ดังนี้

1.ทำให้มีระบบและกลไกในการคุ้มครองการบริกาสุขภาพ ทำให้เกิดความเสมอภาคและความเป็นธรรมในสังคมให้แก่ประชาชนผู้บริโภคซึ่งรับบริการทางการแพทย์ได้อย่างเท่าเทียมกัน

2.ทำให้มีมาตรฐานที่ครอบคลุมทั้งสถานพยาบาลของเอกชนและที่ดำเนินการโดยภาครัฐภายใต้กฎหมายเดียวกัน ซึ่งจากเดิมครอบคลุมเพียงแค่สถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น

3.ทำให้กิจการสถานพยาบาลมีการควบคุมการดำเนินการที่เหมาะสม นำไปสู่การคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชนที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

4.ช่วยแก้ไขปัญหาการโฆษณาที่เกินจริงเกี่ยวกับการรักษาโรคของสถานพยาบาลและประชาชนผู้บริโภคจะได้รับบริการทางการแพทย์ที่ให้ผลการรักษาตรงกับคำโฆษณาของสถานพยาบาลนั้น โดยไม่ทำให้เกิดการฟ้องร้องในภายหลัง

5.ช่วยแก้ไขสภาพปัญหาที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถานพยาบาล เช่น ปัญหาการลักลอบประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต ปัญหาร้องเรียนค่ารักษาพยาบาลเกินอัตราที่แสดงไว้ ปัญหาการร้องเรียนการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน.