ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บอร์ด สปสช.ตัวแทนภาคประชาชน งดส่งผู้แทน ร่วม กก.สรรหาเลขาธิการ สปสช.รอบใหม่ เหตุค้านมติไม่รับรองเลขาธิการฯ ที่ผ่านมา ชี้กระบวนการคัดเลือกอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย และ “หมอประทีป” อยู่ระหว่างฟ้องร้องทางปกครอง ด้านบอร์ด สปสช.เดินหน้าสรรหาต่อ หลังผู้แทนกฤษฎีกาชี้ไม่ผิด กม. พร้อมมีมติมอบตัวแทน อปท.เลือกผู้แทนร่วมเป็น กก.สรรหา    

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดยมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.เป็นประธานการประชุม ได้มีวาระพิจารณาการคัดเลือกและแต่งตั้งเลขาธิการ สปสช. และการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ตามมาตรา 31 ภายหลังจากก่อนหน้านี้ บอร์ด สปสช.ได้มีมติไม่รับรอง นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ ให้ตำแหน่งเลขาธิการ สปสช.   

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในฐานะตัวแทนสัดส่วนกรรมการองค์กรเอกชนซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร กล่าวว่า จากการหารือร่วมกันของกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสัดส่วนองค์กรเอกชนซึ่งไม่แสวงหาผลกำไรซึ่งมีทั้งหมด 5 คน มีความเห็นตรงกันว่าไม่ขอส่งตัวแทนเข้าร่วมเป็นกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ครั้งใหม่นี้ เนื่องจากมองว่า ในการพิจารณารับรองเลขาธิการ สปสช.ในการประชุมครั้งที่ผ่านมา เรายังมีข้อกังวลและไม่สามารถเหตุผลของการไม่รับรองการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ได้

อีกทั้งในการประชุมดังกล่าวในการลงคะแนนยังมีปัญหาข้อกฎหมาย โดยเฉพาะการรับรองเจตนารมณ์บุคคลอื่นในการลงคะแนน ซึ่งที่ผ่านมาตนและกรรมการสัดส่วนเสียงข้างน้อยได้ขอบันทึกการประชุมไว้ นอกจากนี้ นพ.ประทีป ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อฟ้องทางปกครอง แพ่ง และอาญา ดังนั้นจึงมีความเห็นตรงกันว่าเราไม่สามารถส่งตัวแทนเพื่อเป็นร่วมเป็นกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช.ได้

ทั้งนี้ขอยืนยันว่าการที่ตัวแทนองค์กรเอกชนไม่ร่วมส่งผู้แทนเป็นกรรมการสรรหา ไม่ได้หมายความว่าเราไม่สนับสนุนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่เจตนารมณ์เรายังมุ่งมั่นชัดเจนเพื่อพัฒนาระบบเพื่อให้ยั่งยืนและเท่าเทียม 3 ระบบ

“จากการหารือก่อนหน้านี้เรามีข้อสรุปที่จะเลื่อนส่งผู้แทนร่วมเป็นกรรมการสรรหาฯ ไปก่อน แต่ก่อนเข้าประชุมวันนี้ได้ข้อสรุปตรงกันว่าเราจะไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นกรรมการสรรหาฯ เลย เพราะการคัดเลือกเลขาธิการ สปสช.รอบที่ผ่านมามีปัญหาข้อกฎหมายและไม่ถูกต้อง จึงอยากให้มีการทำให้เกิดความชัดเจนก่อน”  

ทั้งนี้ภายหลังจากที่บอร์ด สปสช.โดยผู้แทนสัดส่วนองค์กรเอกชนซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร ยืนยันไม่ส่งผู้แทนร่วมเป็นคณะกรรมการสรรหาเลขาธิการ สปสช. นพ.ปิยะสกล จึงได้หารือถึงแนวทางการสรรหาเพื่อให้กระบวนการสรรหาเลขาธิการ สปสช.รอบใหม่เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งตามหลักเกณฑ์คณะกรรมการสรรหาฯ ต้องประกอบด้วยผู้แทน 5 ส่วน ตามมาตรา 31 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 โดยที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นหลากหลาย ซึ่งท้ายที่สุดได้มีมติให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทำการคัดเลือกตัวแทนเพื่อร่วมเป็นกรรมการสรรหาทดแทนกรรมการสัดส่วนองค์กรเอกชนซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร แต่ทั้งนี้ต้องเป็นการส่งตัวแทนที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย

อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้แสดงความกังวลต่อปัญหาทางกฎหมายที่อาจส่งผลต่อการเดินหน้าสรรหาเลขาธิการ สปสช.รอบใหม่นี้ หากภายหลังศาลมีคำตัดสินว่าการลงคะแนนไม่รับรองไม่ชอบ โดยนายวราสิธิ์ กาญจนสูตร ที่ปรึกษากฎหมายจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่า การฟ้องร้องตามกฎหมายอาจต้องใช้เวลานาน 1-2 ปี ซึ่งกระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินการโดยชอบเพื่อให้มีเลขาธิการ สปสช.คนใหม่ก็ไม่เสียไป แต่หากกรณีศาลมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด กระบวนการนั้นจึงค่อยเริ่มนับหนึ่ง ยกเว้นศาลจะมีข้อพิจารณาเพื่อออกคำสั่งฉุกเฉิน ให้ระงับการดำเนินการ แต่ในแง่การสรรหานั้นเป็นไปได้ยาก

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การเลือกกรรมการสรรหาโดยกรรมการสัดส่วน อปท. มองว่าสามารถทดแทนกรรมการสัดส่วนองค์กรเอกชนซึ่งไม่แสวงหาผลกำไรได้ และอยากให้การสรรหาเลขาธิการ สปสช.ครั้งใหม่นี้ได้รับการเห็นชอบมากที่สุด ซึ่งส่วนตัวไม่กลัวว่ากรรมการสรรหาจะเลือกใครมา เพราะสุดท้ายบอร์ด สปสช.คือผู้ที่เลือกและตัดสิน แต่หากกระบวนการสรรหามีผู้แทนหลายภาคส่วนจะถือเป็นความสวยงามแต่ต้น ดังนั้นจึงให้กรรมการสัดส่วน อปท.ทำหน้าที่แทน แต่ต้องดูให้ดีและไม่ผิดกฎหมาย ทั้งนี้ตนเชื่อในศักดิ์ศรีของ อปท.ว่าจะส่งคนที่ดีสุดที่สุดมาทำหน้าที่สรรหาเลขาธิการ สปสช. ไม่ได้มาทำเพื่อกลุ่มหรือมุ่งเป้าเพื่อบุคคลบางคนเท่านั้น