ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.คมชัดลึก : "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง" ผุดวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ ต้นแบบการผลิตแพทย์นวัตกรรมรักษาคนควบคู่สร้างเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมการแพทย์-การรักษามุ่งเน้นการรักษาคนป่วยในประเทศไทยก่อน หากสามารถรักษาคนป่วยทั่วโลกได้ก็เป็นการดี คาดใช้เวลาอีก 2 ปี ขออนุมัติ รับนักศึกษารุ่นละ 40 คน

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สภา สจล.มีมติ เมื่อวันที่ 27 เมษายน จัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน เรื่องจัดตั้งวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ มีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการทางด้านแพทยศาสร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ

ทั้งนี้ สจล.จัดการเรียนการสอนด้านวิศวกรรมชีวะการแพทย์มากว่า 30 ปี ผลิตรองเท้าเพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานและสนับสนุนโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชน ส่วนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ก็มีสาขาศิลปอุตสาหกรรม ออกแบบเครื่องมือแพทย์ เช่น เตียงผู้ป่วย และมีศูนย์คนพิการและผู้สูงอายุอยู่ที่ สจล. คณะอุตสาหกรรมเกษตร ก็ได้รับรางวัลระดับอัศวินที่ประเทศเบลเยียม เรื่องการสกัดสารจากพืชช่วยรักษาผู้ป่วยเบาหวาน

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีด้านสารสนเทศ ด้านนาโน และปัจจุบันประเทศไทยนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ปีละแสนๆ ล้าน สจล.จึงนำจุดแข็งที่มีอยู่มาสร้างวิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติ เพื่อนำความรู้ด้านวิศวกรรมศาสตร์ทางการแพทย์ เทคโนโลยี และความรู้ทางการแพทย์ มารวมไว้ในคนคนเดียวกัน เป็นแพทย์ที่ไม่ใช่แค่รักษาคน แต่เป็นแพทย์ที่สร้างเทคโนโลยีทางด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการรักษา ปัจจุบันเราผลิตแพทย์เพื่อรักษาคน เป็นต้นแบบการผลิตแพทย์นวัตกรรม

หลังจากที่มีการประกาศจัดตั้งแล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน เป็นต้นมา จะใช้เวลาเตรียมการอีก 2 ปี โดยจัดทำหลักสูตรเพื่อขออนุมัติจากแพทยสภา เป็นหลักสูตรนานาชาติ ซึ่งอาศัยอาจารย์แพทย์คนไทยและชาวต่างชาติมาสอน เมื่อแพทยสภาอนุมัติแล้ว จะเปิดรับสมัครผู้เรียนผ่านระบบรับตรงของ สจล. ปีละไม่เกิน 40 คน ตั้งเป้าให้เป็นแพทย์ในประเทศไทยและสามารถทำงานได้ทั่วโลกด้วย

"แพทย์เป็นคนของโลก อยู่ที่ไหนช่วยคนก็เป็นกุศล สจล.ตั้งใจผลิตแพทย์ หากอยู่ในเมืองไทยและมีคนในอาเซียน หรือทั่วโลกมาเรียน ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ขณะที่วิสัยทัศน์ของประเทศไทยก็ประกาศมานานแล้วว่าเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียน ก็เป็นการสนับสนุนวิสัยทัศน์ของประเทศ แต่ที่เน้นมากคือ การผลิตแพทย์นวัตกรรม สร้างองค์ความรู้ทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นสูงให้เราสามารถหายใจได้ด้วยจมูกตนเอง ไม่ต้องนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และยืนได้ด้วยตนเอง แพทย์ที่ผลิตมุ่งเน้นการรักษาคนป่วยในประเทศไทยก่อน หากสามารถรักษาคนป่วยทั่วโลกได้ก็เป็นการดี คาดว่าใช้เวลาอีก 2 ปี จะรับนักศึกษา นักเรียนต้องมีความเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสำคัญที่สุดคือต้องมีใจว่าผู้ป่วยเหมือนพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ที่ต้องช่วยรักษา" อธิการบดี สจล. กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันที่ 1 สิงหาคม 2559