ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.จัดทำชุดคัดกรองสุขภาพป้องกันผู้สูงอายุมีอาการสมองเสื่อม พร้อมให้ความรู้บุคลากรในการดูแล ถือเป็นก้าวแรกของการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมในประเทศไทย ยกระดับการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

วันนี้ (8 สิงหาคม 2559) ที่ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเวชศาสตร์และวิทยาการด้านผู้สูงอายุ ครั้งที่ 2 (The 2nd Thailand Elderly Health Service Forum 2016) พร้อมมอบรางวัลพื้นที่ที่ดำเนินการคัดกรองสุขภาพผู้สูงอายุดีเด่น ประจำปี 2559 จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน อ่างทอง นครราชสีมา และชุมพร 

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในปี 2557 พบไทยมีผู้สูงอายุ 10,014,699 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมร้อยละ 3.4 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยภาวะดังกล่าวจะเพิ่มตามอายุ ในกลุ่มอายุ 60 – 69 พบ ร้อยละ 1 อายุ 70-79 พบร้อยละ 3 อายุ 80-89 ปี พบร้อยละ 10 และอายุ 90 ปีขึ้นไปพบร้อยละ 30

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อไปว่า การดูแลผู้สูงอายุนั้นมีความพิเศษและมีความแตกต่างอย่างชัดเจนกับวัยผู้ใหญ่ซึ่ง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงศึกษาออกแบบชุดคัดกรองสุขภาพพื้นฐานสำหรับใช้ในชุมชน ชุดประเมินสุขภาพผู้สูงอายุสำหรับหน่วยบริการและสถานพยาบาล เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้สูงอายุที่เสี่ยงเป็นสมองเสื่อมทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของบุคลากรและผู้ดูแลให้มีความรู้ในการดูแลผู้สูงอายุที่มีอาการสมองเสื่อมถือเป็นก้าวแรกของการพัฒนาระบบการดูแลสมองเสื่อมในประเทศไทยสำหรับอาการสมองเสื่อมนั้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ที่พบได้บ่อยคือโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมอง อาการเริ่มต้นมักเริ่มจากการลืมบ่อย มีปัญหาด้านสมาธิ ความสามารถทางภาษาและการสื่อสารลดลง ความคิดเชิงบริหารจัดการบกพร่อง หลงทางบ่อยหรือการรับรู้ทางสังคมหรือกาละเทศะลดลงจนกระทบถึงการดำรงชีวิตประจำวัน จนถึงมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง เช่นก้าวร้าวหรือซึมเศร้า ทั้งนี้อาการสมองเสื่อมสามารถป้องกันและควบคุมได้โดยการ การออกกำลังกาย หรือการบริหารสมอง เช่น เล่นเกมเกี่ยวกับตัวเลข เป็นต้น 

ด้าน นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญ ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกสาขา จากทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้งผู้สนใจในวิชาการเวชศาสตร์และวิทยาการด้านผู้สูงอายุ ให้เห็นความสำคัญของการดูแลรักษาสุขภาพผู้สูงอายุได้อย่างถูกต้อง ก้าวทันต่อวิทยาการที่ทั่วโลกขับเคลื่อนเพื่อรองรับภาวะสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม โดยจะมีการบรรยายพิเศษเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุ เพราะการดูแลผู้สูงอายุสมองเสื่อมนั้นต้องใช้องค์ความรู้เฉพาะ และยังต้องอาศัยการดูแลระยะยาวที่เหมาะสมสามารถตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างตรงจุด