ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักศึกษาปริญญาเอก สาขาวิศวกรรมการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยนวัตกรรม “แบบจำลองเชิงคอมพิวเตอร์สำหรับการบำบัดเชิงความร้อนด้วยเลเซอร์ในชั้นเนื้อเยื่อมนุษย์” นวัตกรรมลดความเสี่ยงการเลเซอร์เพื่อความงามที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด โดยมุ่งช่วยแพทย์คาดการณ์ความร้อนที่จะเกิดขึ้นในชั้นผิวหนังได้ล่วงหน้าก่อนทำการรักษาจริง ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง จากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ในงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 44 ที่ กรุงเจนีวา

นางสาวพัชราภรณ์ วงศ์ชาดากุล นักศึกษาระดับปริญญาเอกชั้นปีที่ 2 สาขาวิศวกรรมการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการรักษาผิว หรือเสริมความงามด้วยเลเซอร์ เป็นที่นิยมอย่างมาก จากผลวิจัยการจัดอันดับธุรกิจเด่นในปี 2559 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าธุรกิจทางการแพทย์และความงามครองอันดับ 1 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 และมีมูลค่าทางการตลาดนับแสนล้านบาทต่อปี แต่การนำเทคโนโลยีแสงเลเซอร์มาใช้แก้ไขปัญหาผิวหนัง ผู้เข้ารับการรักษาอาจเสี่ยงได้รับพลังงานความร้อนส่วนเกินอันก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนัง อาทิ ผิวไหม้ รอยดำ หลุมแผลเป็น และผิวหนังติดเชื้อได้ ถึงแม้ว่าจะได้รับการดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผิวหนัง ก็ยังมีโอกาสเกิดความผิดพลาดในการรักษาได้เช่นกัน

ในฐานะผู้บริโภคคนหนึ่ง จึงได้นำองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมการแพทย์มาใช้พัฒนา “แบบจำลองเชิงคอมพิวเตอร์สำหรับการบำบัดเชิงความร้อนด้วยเลเซอร์ในชั้นเนื้อเยื่อมนุษย์” ขึ้น เพื่อช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการรักษาผิวหนังด้วยเลเซอร์

โดยนวัตกรรมดังกล่าวจะสามารถช่วยให้แพทย์สามารถคาดการณ์ความร้อนที่จะเกิดขึ้นในชั้นผิวหนังได้ล่วงหน้าก่อนที่จะทำการรักษาจริง ด้วยการวิเคราะห์พารามิเตอร์ต่างๆ ได้แก่ ความเข้มของสีผิวขนาดของลำแสงเลเซอร์ ความยาวคลื่น ระดับพลังงาน และระยะเวลาที่จะใช้ รวมไปถึงค่าจำเพาะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมประมวลและแสดงผลค่าความร้อนที่จะเกิดขึ้นในชั้นผิวหนัง ผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังจะสามารถนำผลดังกล่าวมาปรับใช้เพื่อให้คนไข้ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากที่สุด

ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าวเป็นการจำลองโดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วยด้วย วิธีไฟไนท์อิลิเมนต์ สำหรับการบำบัดเชิงความร้อนด้วยเลเซอร์ในชั้นเนื้อเยื่อมนุษย์ และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีด้านการรักษาสภาพผิวอย่างหลากหลาย อาทิ การกำจัดเส้นเลือดขอด การกำจัดขน การลบเลือนรอยสัก การกำจัดรอยแผลเป็น หลุมสิว รอยเหี่ยวย่น ฝ้า กระ และจุดด่างดำ เป็นต้น ตลอดจนเป็นประโยชน์ในการวางแผนการรักษา การออกแบบเครื่องมือทางวิศวกรรมการแพทย์ให้สามารถลดความบอบช้ำจากการรักษาด้านความงาม และการพัฒนางานวิจัยเกี่ยวกับเลเซอร์ที่ไม่สุ่มเสี่ยงทางด้านจริยธรรม เนื่องจากไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกจากการรักษาจริงกับตัวบุคคล

สำหรับผลงานวิจัยในครั้งนี้ ได้มีการเทียบเคียงกับผลงานวิจัยกับสถาบันวิจัยเลเซอร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเออร์ไวน์ สหรัฐอเมริกา ที่เคยทดลองและประเมินผลจริงกับตัวบุคคล ทั้งนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ได้รับรางวัลเหรียญทองแดง รางวัล "Special Award for the Best Invention" จากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติ ในงาน International Exhibition of Inventions of Geneva ครั้งที่ 44 เมื่อเร็วๆ นี้ ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และจะตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ในวารสารนานาชาติคุณภาพสูงต่อไป

สำหรับผู้สนใจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟซบุ๊กแฟนเพจ Cosmetic Laser Technology by Cookie https://www.facebook.com/laserbycookie หรือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-3001-9 เว็บไซต์ http://engr.tu.ac.th 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง