ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ผอ.รพ.ลำลูกกา” ระบุ แก้ กม.บัตรทอง ต้องฟังเสียงประชาชน และความเห็น คกก.สธ.-สปสช.ชุด 5x5 และ 7x7 พร้อมห่วงข้อเสนอแยกเงินเดือนงบบัตรทอง กระทบ รพช. เหตุบุคลากรถูกดูดเข้า รพ.ใหญ่ หลัง 10 ปี เริ่มเห็นการกระจายบุคลากรสู่ รพ.ทั่วประเทศ ขณะที่ข้อเสนอร่วมจ่าย ย้ำต้องเก็บก่อนป่วย หากเก็บหลังป่วย ณ จุดบริการ หวั่นทำคนไข้ไม่กล้ารักษาเพราะห่วงไม่มีเงินจ่าย ชี้เพิ่มภาระหมอต้องดูแลหลังป่วยหนัก

นพ.นราพงศ์ ธีรอัครวิภาส

นพ.นราพงศ์ ธีรอัครวิภาส ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำลูกกา กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ถือเป็นสวัสดิการให้กับประชาชนที่รัฐต้องลงทุน โดยไม่ควรคิดเรื่องกำไรและขาดทุน ที่ผ่านมามองว่างบประมาณที่ภาครัฐจัดสรรในด้านสุขภาพประเทศนั้นน่าจะเพียงพอแล้ว แต่ปัญหาหลักน่าจะเกิดจากการกระจายทรัพยากรมากกว่า และในการเสนอแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยเฉพาะข้อเสนอการแยกเงินเดือนนั้น แม้ว่าคนในระบบส่วนใหญ่อาจมองว่าเป็นเรื่องที่ดีในการบริหารโรงพยาบาล แต่ในความเห็นตนมองว่าการแยกเงินเดือนนี้อาจส่งผลต่อโรงพยาบาลที่ห่างไกลได้ โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ไกลจากตัวเมือง เนื่องจากคนส่วนใหญ่จะเลือกทำงานอยู่ในโรงพยาบาลใหญ่ในเมือง แต่หลังจากที่มีการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้มีการผูกเงินเดือนส่วนหนึ่งไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัวเริ่มมองเห็นการกระจายบุคลากรไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว

“ในอดีตก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า งบประมาณจะถูกส่งมาตามระบบรวมถึงเงินเดือนบุคลากรที่ไม่ว่าอยู่ที่ไหน เงินเดือนจะถูกส่งติดตามไปด้วย ทำให้โรงพยาบาลไม่ต้องกังวลต่อค่าใช้จ่ายและเงินเดือนบุคลากร ในการบริการจะมีคนไข้หรือไม่ หรือจะต้องดูแลประชากรเท่าไหร่ แต่หลังมีระบบหลักสุขภาพถ้วนหน้าที่งบประมาณผูกติดกับการให้บริการ รวมถึงเงินเดือนส่วนหนึ่ง ทำให้โรงพยาบาลดูเรื่องค่าใช้จ่ายรวมถึงเงินเดือนบุคลากรซึ่งต้องบริหารตามงบประมาณที่ได้รับ จึงส่งผลให้เกิดการกระจายบุคลากร”  

นพ.นราพงศ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีข้อเสนอเพื่อแก้ไขสัดส่วนบอร์ด สปสช.ที่ให้เพิ่มเติมในส่วนของวิชาชีพนั้น มีความเห็นว่าแต่เดิมผู้แทนที่เข้าร่วมบอร์ด สปสช.มีสัดส่วนที่พอกัน ทั้งฝั่งผู้ให้บริการ ผู้ซื้อบริการ และประชาชน แต่หากมีการเพิ่มเติมตามที่มีข้อเสนอจะทำให้การทำหน้าที่ของบอร์ด สปสช. ไม่สมดุลแบบเดิม และอาจโน้มเอียงไปยังฝั่งผู้ให้บริการได้ ซึ่งในการทำหน้าที่ของบอร์ด สปสช.ที่ผ่านมา  มองว่าบางครั้งผู้ทำหน้าที่บอร์ด สปสช.ไม่เข้าใจประชาชน และไม่ค่อยเชื่อถือของมูลจากภาคประชาสังคม ทั้งที่คนเหล่านี้เป็นตัวแทนของผู้ป่วย เป็นตัวแทนประชาชนที่ใช้บริการ ทั้งยังเป็นกลุ่มคนที่รักหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงควรที่จะรับฟังความเห็นของคนเหล่านี้ ไม่ควรที่จะตั้งแง่มองว่าประชาชนจะมาเรียกร้องสิทธิประโยชน์การรักษาต่างๆ เพิ่มเติม   

“ผมทำงานอยู่โรงพยาบาลชุมชนมานานจึงรู้ว่าตัวแทนภาคประชาชนเหล่านี้ต่างหวังดีต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยข้อเสนอที่มีการนำเสนอมานั้นควรที่จะรับฟังและพิจารณา เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังมีกลุ่มคนที่ยังยากจนและยังมีปัญหาการเข้าไม่ถึงการรักษาพยาบาลอยู่มาก และทีผ่านมา สปสช.พยายามขยายสิทธิประโยชน์บริการให้ครอบคลุมและทั่วถึง แต่ขณะเดียวกันทางฝ่ายผู้บริหารภาครัฐจะมองว่าคนเหล่านี้มีการเรียกร้องต่อเนื่องและอาจเป็นปัญหาต่องบประมาณได้”  ผอ.รพ.ลำลูกกา กล่าวและว่า ภาคประชาชนที่ผ่านมามักมีการออกสื่ออยู่บ่อยครั้ง และดูเหมือนว่าจะเป็นกลุ่มที่เสียงดัง แต่ข้อเท็จจริงแล้วเป็นกลุ่มที่มีอำนาจน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับภาครัฐ

นพ.นราพงศ์ กล่าวว่า ส่วนที่มีข้อเสนอในเรื่องการร่วมจ่ายเพื่อลดภาระงบประมาณนั้น เห็นด้วยกับการ่วมจ่ายก่อนป่วย โดยอาจเป็นการจ่ายภาษีหรือจ่ายร่วมในกองทุนต่างๆ แต่หากเป็นการจ่ายขณะที่ป่วย ที่มีข้อเสนอว่าคนป่วยมากจ่ายมาก คนป่วยน้อยจ่ายน้อย อาจเป็นปัญหาต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดด้านรายได้ อีกทั้งการรักษาพยาบาลเป็นบริการที่ไม่เหมือนธุรกิจอื่น เพราะคนไข้ไม่มีความรู้ทางการแพทย์ การรักษาจึงต้องเชื่อหมอทั้งหมด ขณะที่บ้านเรายังมีปัญหาค่ารักษาพยาบาลที่ยังควบคุมไม่ได้ ดังนั้นหากปล่อยให้เป็นการร่วมจ่าย ณ จุดบริการ จะส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาประชาชนได้

“การร่วมจ่ายควรเป็นการจ่ายตั้งแต่ระบบงบประมาณที่เข้าสู่กองทุน ทั้งนี้เพื่อความเท่าเทียมในการเข้าถึงการรักษา และเรื่องนี้รัฐบาลไม่ควรมองเป็นกำไรหรือขาดทุน เพียงแต่หากงบประมาณไม่เพียงพอจำเป็นต้องหาทางเพื่อให้มีงบประมาณเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม อย่างการจ่ายภาษีที่นำมารวมเป็นกองกลาง มองว่าแนวทางที่ยุติธรรมดี” ผอ.รพ.ลำลูกกา กล่าว

ทั้งนี้ห่วงว่า หากเป็นการร่วมจ่ายในการเข้ารับบริการ คนไข้ที่รายได้น้อยอาจไม่กล้ามาโรงพยาบาลเพราะกลัวค่ารักษาและรู้สึกด้อย ปัญหาการเข้าถึงการรักษาก็จะวนกลับไปเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน ขณะเดียวกันหมอเองก็จะลำบากในการรักษา เพราะคนไข้เหล่านี้ส่วนใหญ่จะมาเมื่อมีอาการหนักมากแล้ว

ต่อข้อซักถามว่า ตัวชี้วัดอะไรที่สะท้อนว่าการรวมเงินเดือนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้โรงพยาบาลชุมชนดีขึ้น นพ.นราพงศ์ กล่าวว่า ไม่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจน แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ในการบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้มีการพัฒนาและขยายสิทธิประโยชน์เพื่อให้ชาวบ้านเข้าถึงบริการเพิ่มขึ้น ทั้งการผ่าตัดต้อกระจก การรักษาผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งจากระบบนี้ทำให้โรงพยาบาลลำลูกกาสามารถจัดบริการคลินิกโรคหัวใจเดือนละ 1 ครั้ง ที่มาจากการบริหารงบเหมาจ่ายในปัจจุบัน

นพ.นราพงศ์ กล่าวต่อว่า ในการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ในประเด็นอื่นยังไม่เห็นรายละเอียด แต่ที่กังวลคือกลัวว่าการแก้ไขกฎหมายจะฟังแต่เสียงจากภาครัฐเท่านั้น แต่อยากให้ฟังเสียงประชาชนว่าเขาอยากให้ระบบดำเนินไปอย่างไร และต้องไม่โน้มเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนที่มีปัญหาขัดแย้งในการบริหาร ที่ผ่านมาทั้ง สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีกลไกคณะกรรมการ 5x5 และ 7x7 ในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเริ่มเห็นข้อเสนอเป็นรูปธรรม ดังนั้นการแก้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงต้องฟังเสียงจากคณะทำงานทั้ง 2 ชุดนี้ โดยปรับแก้ไขเฉพาะส่วนที่เป็นปัญหาเท่านั้น และให้คงส่วนที่ดีไว้ต่อไป