ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประเด็นเกี่ยวกับการให้บริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในประเทศอังกฤษได้รับความสนใจอีกครั้ง หลังจากมีผู้เชี่ยวชาญออกมาแสดงความเห็นผ่านทาง Guardian Healthcare Network ว่า ถึงเวลาปรับปรุงบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุแล้ว

เว็บไซต์เดอะการ์เดียนของอังกฤษนำเสนอเรื่องที่ว่า ควรมีการปรับปรุงบริการสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุในประเทศอังกฤษ โดยมีบรรดาผู้เชี่ยวชาญซึ่งประกอบด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณสุขแห่งชาติ ด้านการดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ ด้านเกี่ยวกับโรคในผู้สูงอายุ นักวิชาการด้านผู้สูงอายุ ตลอดจนผู้บริหารองค์กรพัฒนาเอกชนและองค์กรการกุศลด้านผู้สูงอายุ ต่างออกมาพูดถึงข้อควรปรับบริการสุขภาพชุมชนเพื่อผู้สูงอายุ อันได้แก่

ประการที่ 1 ควรระงับแผนลดงบประมาณด้านการดูแลทางสังคม

เมื่อ นพ.เดวิด โอลิเวอร์ ที่ปรึกษาด้านเวชศาสตร์ผู้สูงอายุและอายุรกรรมทั่วไปและประธานสมาคมเวชศาสตร์ผู้สูงอายุแห่งอังกฤษ กล่าวว่า

“ผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่งของผมถ้าไม่อยู่ระหว่างต้องรอส่งต่อสถานบริการระดับชุมชน (community step-down services) ก็ต้องรับเข้าโรงพยาบาลเพราะสถานบริการระดับชุมชนไม่สามารถรองรับได้” 

ด้วยเหตุนี้เขาจึงเห็นว่าการดูแลทางสังคมจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการป้องกัน การรับเข้ารักษาซ้ำและเร่งรัดการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล แต่น่าเสียดายที่งบประมาณโดนตัดลงมากนับตั้งแต่ปี 2553

ด้าน ดร.ฟิล แมคคาร์วิล รองผู้อำนวยการด้านนโยบายสมาพันธ์เอ็นเอชเอส (NHS Confederation) เห็นเช่นกันว่าปัญหาขาดแคลนงบประมาณการดูแลทางสังคม และแรงกดดันที่โถมใส่หน่วยงานบริหารระดับท้องถิ่นและผู้ให้บริการดูแลทางสังคมนั้น ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริการสาธารณสุขแห่งชาติ (NHS) และเขายังกล่าวอีกว่า

“มีความจำเป็นที่เราต้องมองงานบริการสุขภาพและการดูแลว่าเป็นระบบเดียวกัน หากภารกิจด้านใดด้านหนึ่งประสบปัญหาขาดแคลนงบประมาณก็จะกระทบกับภารกิจอีกด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้”

ประการที่ 2 มีการบริหารการดูแลเพื่อหลีกเลี่ยงการนอนโรงพยาบาล

นพ.ไมเคิล ดิกสัน แพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและอดีตกรรมการเอ็นเอชเอสอะลิแอนซ์  (NHS Alliance)  อดีตประธานกรรมาธิการคลินิกเอ็นเอชเอส และกรรมการคณะที่ปรึกษาเอเวอรีไลฟ์ (everyLIFE) กล่าวว่า

“ตอนนี้เราไม่มีศูนย์กลางที่คอยประสานการติดต่ออีกแล้ว ก่อนหน้านี้เราเคยมีพยาบาลเยี่ยมบ้าน (district nurse) คอยจัดการให้ แต่ตอนนี้ผมต้องโทรติดต่อเจ้าหน้าที่บริการสุขภาพและดูแลทางสังคมกลุ่มใหญ่ทุกครั้งที่จะต้องบริหารจัดการความจำเป็นเร่งด่วนของผู้ป่วย”

เขามองว่าการมีตัวกลางสำหรับการติดต่อประสานงาน เช่น พยาบาลชุมชน (community matron) จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งในข้อนี้ไม่ได้หมายความถึงการเปลี่ยนแปลงทั้งตัวระบบ แต่เป็นการปรับปรุงที่ภารกิจจำเพาะเท่านั้น

ในขณะที่ ศาสตราจารย์จอห์น ยัง หน่วยดูแลและฟื้นฟูผู้สูงอายุ (Academic Unit of Elderly Care and Rehabilitation) สถาบันเพื่อการวิจัยสุขภาพแบรดฟอร์ด (Bradford Institute of Health Research) เห็นเช่นกันว่า ระบบบริการสุขภาพและการดูแลทางสังคมของอังกฤษยังไม่สอดคล้องกับความจำเป็นของผู้สูงอายุ ซึ่งเริ่มมีภาวะเปราะบางหรืออยู่ในภาวะเปราะบาง ทั้งนี้ภาวะเปราะบางไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืนแต่พัฒนาขึ้นตลอด 10 ถึง 15 ปี แต่ระบบบริการสุขภาพและการดูแลทางสังคมส่วนใหญ่มักตอบสนองต่อเฉพาะช่วงปลายของภาวะเปราะบาง เช่น การหกล้ม ภาวะสับสน และปัญหาด้านการเคลื่อนไหว

ประการที่ 3 ควรปรับปรุงการเข้าถึงบริการสุขภาพในสถานบริบาล

พอล ดันเนอรี ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติสมาคมโรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s Society) ระบุว่า การศึกษาวิจัยล่าสุดของสมาคมโรคอัลไซเมอร์พบว่า ผู้ได้รับการดูแลในสถานบริบาลซึ่งมีภาวะสมองเสื่อม มักประสบปัญหาการเข้าถึงบริการทุติยภูมิ เช่น กายภาพบำบัดและสุขภาพจิต และเขายังเห็นว่าการเข้าถึงบริการดังกล่าวสามารถป้องกันการนอนโรงพยาบาลที่จุดวิกฤตได้

เช่นเดียวกับ เลอา เออนูซ์ ผู้จัดการด้านนโยบายสุขภาพองค์กรเอจยูเค (Age UK) เห็นว่าการแบ่งแยกระหว่างการดูแลสุขภาพและการดูแลทางสังคมที่ผ่านมา ทำให้ผู้ที่ได้รับการดูแลในสถานบริบาลจำนวนมากไม่ได้รับบริการของ NHS ตามที่จำเป็นอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการไม่สามารถเข้าถึงบริการเวชปฏิบัติทั่วไป

เขากล่าวอีกว่า “ปัญหานี้เกิดขึ้นทั้งที่เราต่างก็ทราบดีว่า การทบทวนบริการด้านการแพทย์เชิงรุกและการสนับสนุนสำหรับผู้ที่ได้รับการดูแลอยู่ในสถานบริการ สามารถฟื้นฟูสุขภาวะ ตลอดจนลดอัตราการรับเข้าโรงพยาบาลด้วยเหตุฉุกเฉินได้”

ประการที่ 4 สนับสนุนผู้ให้บริการอย่างเหมาะสม

ศาสตราจารย์อธินา วลาจันโทนี รองศาสตราจารย์ด้านพฤฒาวิทยาแห่งศูนย์วิจัยการสูงอายุ (Centre for Research on Ageing) และศูนย์วิจัยการเปลี่ยนแปลงประชากร (Centre for Population Change) เห็นว่า การสนับสนุนบุคคลทั่วไปซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (informal carers) เป็นแนวทางที่จะเกิดประโยชน์สองต่อ เพราะมีข้อมูลการศึกษาวิจัยจำนวนมากต่างชี้ว่า ครอบครัวเป็นจุดแรกในการดูแลระดับชุมชนสำหรับผู้สูงอายุ และเราสามารถสนับสนุนผู้คอยทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยได้ใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 

การให้ความช่วยเหลือชั่วคราว (respite care)

การสนับสนุนเพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยไปพร้อมกับประกอบอาชีพหรือทำกิจกรรมอื่น

ตลอดจนคอยประเมินความจำเป็นทั้งด้านร่างกายและภาวะอารมณ์ของผู้ให้การดูแลอยู่เป็นระยะ

แอนนา ดิกสัน ประธานบริหารศูนย์เพื่อการสูงอายุอย่างมีคุณภาพ (Centre for Ageing Better) เห็นเช่นกันว่า มีความจำเป็นที่นายจ้างจะต้องมีนโยบายสนับสนุนลูกจ้างที่มีภาระดูแลผู้ป่วยด้วยการอนุญาตให้ลาหยุด พักงาน ปรับตารางงานให้ยืดหยุ่นหรือทำงานล่วงเวลา เพราะภาวะบีบคั้นคนวัยทำงานซึ่งต้องคอยดูแลญาติ อาจทำให้พวกเขาตัดสินใจลาออกจากงาน และอาจทำให้เสี่ยงต่อปัญหาด้านการเงินเมื่ออายุมากขึ้น

อีกทั้งการสนับสนุนผู้ดูแลไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการดูแลเท่านั้น หากยังรวมไปถึงการจัดการด้านการเงิน การเจรจาต่อรองกับหน่วยงานบริการสุขภาพและการดูแล ตลอดจนการทำหน้าที่เป็นตัวแทนโดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะบกพร่องอันกระทบต่อการตัดสินใจ และจำเป็นที่ผู้ให้การดูแลจะต้องดำเนินบทบาทดังกล่าวต่อไป แม้ผู้ป่วยนั้นได้รับบริการด้านการดูแลที่ดีแล้ว

อีกทั้งปัจจุบันมีกฎหมายกำหนดให้ประเมินความจำเป็นของผู้ให้การดูแล ซึ่งไม่ใช่เพียงประเมินความสามารถในการดูแลได้เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงต้องพิจารณาสุขภาวะของผู้ให้การดูแลด้วย

อย่างไรก็ตาม จากข้อจำกัดของงบประมาณการดูแลทางสังคมในปัจจุบัน ทำให้เขามองว่าเป็นเรื่องยากที่จะปฏิบัติได้จริงตามกฎหมายการดูแล (Care Act)

ประการที่ 5 เรียนรู้จากโครงการที่มีประสิทธิภาพ

ริชาร์ด เคอร์ติส หัวหน้าฝ่ายกฎหมายบริการสุขภาพชุมชนของสเปคเซเวอร์ (Specsavers) กล่าวว่า “ผมในฐานะอดีตกรรมาธิการ NHS พบว่าเราได้จัดแผนดูแลที่บ้าน (live-in care) เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลอย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมงโดยยังคงรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งในชุมชน แต่แล้วกลับพบว่าค่าใช้จ่ายที่สูงกลายเป็นอุปสรรคของการดำเนินการ”

และเขาเห็นว่าการที่ไม่สามารถเชื่อมโยงการดูแลทางสังคมหรือกลุ่มอาสาสมัครเพื่อสังคมทำให้ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับบริการที่แตกต่างกันถึง 3 ด้าน และเห็นได้ว่าระบบปัจจุบันเน้นไปที่การรักษาปัญหาสุขภาพที่มองเห็นได้ชัด แต่ไม่ให้ความสำคัญเพียงพอต่อมิติทางสังคมในภาพกว้างของผู้ป่วย ซึ่งองค์กรการกุศลสามารถเข้ามามีบทบาทสนับสนุนในส่วนนี้ได้เมื่อมีการร่างแผนการดูแลผู้ป่วยขึ้น

เช่นเดียวกับ เออนูซ์ เห็นเช่นกันว่าโครงการการดูแลผู้ป่วยแบบบูรณาการของเอจยูเคในคอร์นวอล ซึ่งอาศัยแนวทางการให้บริการสุขภาพและการดูแลโดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ร่วมกับการประสานงานกับองค์กรการกุศลและการให้คำปรึกษาด้านสวัสดิการได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่ง โดยพบว่าอัตราการนอนโรงพยาบาลลดลงถึงร้อยละ 31 ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่าผู้สูงอายุมักมีการตอบสนองที่ดีต่อแผนการดูแลเชิงป้องกันด้วยตนเอง กล่าวได้ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง

ประการที่ 6 เปลี่ยนมุมมองต่อผู้สูงอายุ

ระเด็นนี้สำหรับแมคคาร์วิล เขาเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องเปลี่ยนคำที่ใช้เรียกผู้ป่วยกลุ่มนี้ เพราะการที่ผู้ป่วย “ติด” อยู่ในสถานบริบาลก็เพราะตัวระบบเองไม่สามารถจัดหาบริการที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในการแก้ไขนั้นควรเน้นไปที่ตัวระบบไม่ใช่ตัวบุคคล 

เช่นเดียวกับดิกสันที่มองว่า อังกฤษจำเป็นต้องเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับการดูแลผู้สูงอายุ เพราะคำเรียกขานในเชิงลบและการเหมารวมนั้นเป็นการแพร่มุมมองด้านร้ายให้ขยายออกไป

เราทุกคนจำเป็นต้องมองประชากรสูงอายุในฐานะโอกาสของสังคมและมองชีวิตในช่วงบั้นปลายของเราในฐานะวัยแห่งความถึงพร้อม ในส่วนนี้เขาเห็นว่ายังมีปัญหาความไม่เท่าเทียมในวัยชราหลายประการที่จำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้เราทุกคนสามารถใช้ชีวิตในบั้นปลายอย่างมีความสุข

บทเรียนสำคัญของระบบบริการสุขภาพชุมชนสำหรับผู้สูงอายุในประเทศอังกฤษดังที่กล่าวมา คงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปสำหรับนโยบายและการจัดการด้านสุขภาพผู้สูงอายุของประเทศไทย

ทุกวันนี้เรามีปฏิบัติการด้านการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชนด้วยการสนับสนุนของกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นที่เป็นรูปธรรม มีคู่มือการดำเนินการเพื่อพัฒนาแผนสุขภาพชุมชน โดยให้คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้ด้อยโอกาส รวมทั้งกลุ่มเด็กและเยาวชนในชุมชนได้รับการดูแลจากกองทุนฯ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถบริหารจัดการยกระดับการพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้ของกองทุนต้นแบบที่สามารถบูรณาการการสร้างสุขภาวะของชุมชน เกิดความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายสุขภาพในระดับต่างๆ โดยการมีส่วนร่วมและความเป็นเจ้าของของประชาชนร่วมกับภาคีต่างๆ ในชุมชนได้อย่างแท้จริงอันเป็นก้าวต่อไปของการพัฒนาระบบสุขภาวะคนไทยที่ยั่งยืน

ข้อมูลจาก www.theguardian.com เรื่อง Six things to change in community healthcare for older people โดย Anna Isaac

แปลและเรียบเรียงโดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com