ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เปิดคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว 9 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจพิเศษและเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เพื่อป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพที่เกิดจากการเดินทางและท่องเที่ยว ให้บริการคำปรึกษาและดูแลสุขภาพก่อนและหลังเดินทาง ฉีดวัคซีน ตรวจสุขภาพ ออกใบรับรองแพทย์ และรักษาโรคที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยว เผยข้อมูลพบร้อยละ 55 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปประเทศกำลังพัฒนาเกิดปัญหาสุขภาพ 

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคได้เร่งรัดพัฒนางานเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยในปี 2558 มีนักท่องเที่ยวเข้ามาในไทยจำนวน 29.9 ล้านคนและคาดว่าในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 44.5 ล้านคน และมีคนไทยออกไปท่องเที่ยวนอกประเทศมากกว่า 3.4 ล้านคน 

จากข้อมูลพบว่าการเดินทางระหว่างประเทศ มีโอกาสเจ็บป่วยได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างอาทิ ด้านสุขภาพของผู้เดินทาง ได้แก่ วัย โรคประจำตัว ด้านพฤติกรรมการเดินทาง ได้แก่ กิจกรรม ที่พัก และด้านพื้นที่ ได้แก่ พื้นที่สูง พื้นที่ที่มีโรคระบาดหรือโรคประจำถิ่น โดยความเสี่ยงจะเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ที่สิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ ความสะอาดและระบบสุขาภิบาล การบริการทางการแพทย์ การป้องกันควบคุมโรคที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งอุบัติเหตุ ก็เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิต

จากการศึกษาพบว่า ร้อยละ 55 ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปประเทศกำลังพัฒนาจะเกิดปัญหาสุขภาพ โดยร้อยละ 8 ของนักท่องเที่ยวต้องพบแพทย์ และพบว่าประมาณ 1 คนใน 100,000 คนเสียชีวิต ซึ่งโรคและภัยสุขภาพเหล่านี้ สามารถบริหารจัดการและป้องกันได้ ถ้ามีความรู้ความเข้าใจและเตรียมตัวที่ดี

กระทรวงสาธารณสุขได้มอบให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการเพื่อรองรับปัญหาดังนี้ 

1.จัดตั้งสถาบันเวชศาสตร์ป้องกันศึกษา กรมควบคุมโรค ทำหน้าที่ ฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน สาขาเวชศาสตร์ป้องกัน เวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว รวมทั้งจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพกำลังคนรองรับงาน 

2.พัฒนารูปแบบคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว อย่างเป็นรูปธรรมและมีมาตรฐาน จำนวน 9 แห่ง ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และขยายไปพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ

นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้เร่งรัดการจัดตั้งคลินิกเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยวในเขตเศรษฐกิจพิเศษ และแหล่งท่องเที่ยว จำนวน 9 แห่ง ได้แก่

สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี 

ศูนย์วัณโรคเขต 1 จ.เชียงใหม่

รพ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี 

ศูนย์หาดใหญ่นวรัตน์ จ.สงขลา 

รพ.หนองคาย 

รพร.เชียงของ จ.เชียงราย 

รพ.นครพนม

รพ.มุกดาหาร

และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กทม. ซึ่งจะเปิดดำเนินการในวันที่ 12 กันยายน นี้  

โดยรูปแบบการให้บริการมีดังนี้ 

1.พัฒนาโปรแกรมข้อมูลงานเวชศาสตร์การเดินทางและท่องเที่ยว เพื่อเชื่อมโยงคลินิกเข้าด้วยกันเป็นเครือข่าย ทราบสถานการณ์ในพื้นที่ และในภาพรวมของประเทศ  

2.จัดทำคู่มือการดำเนินงานสำหรับแพทย์ บุคลากรค้นคว้าหาความรู้ได้ง่าย 

3.จัดบริการตามมาตรฐานงานคลินิก ของกรมควบคุมโรค ให้บริการคำปรึกษาและดูแลสุขภาพก่อนและหลังเดินทาง การฉีดวัคซีนป้องกันโรค ให้คำแนะนำการป้องกันโรค ตรวจสุขภาพและออกใบรับรองแพทย์ก่อนเดินทาง รวมถึงการรักษาโรคที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยว 

4.จัดระบบการให้คำปรึกษาก่อนเดินทางแบบออนไลน์