รองนายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมการดำเนินงาน “คลินิกหมอครอบครัว” เขตเมือง จ.ตรัง จัดบริการได้ทั้งเชิงรุก–เชิงรับ โดยความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลและเทศบาล งบประมาณและบุคลากรเพียงพอช่วยลดอัตราการเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาล ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ต้องเข้าไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ประชาชนทุกคนในพื้นที่เป้าหมาย 17,118 ครอบครัว มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและพยาบาลประจำชุมชนดูแล
วันที่ 9 กันยายน 2559 พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุขและคณะ ตรวจเยี่ยมติดตามการดำเนินการ คลินิกหมอครอบครัว (Primary Care Cluster : PCC) เขตเมืองที่จังหวัดตรัง ซึ่งเป็น 1 ใน 8 จังหวัดที่ได้รับสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาลในปี 2559 ( บุรีรัมย์ กำแพงเพชร ขอนแก่น เพชรบูรณ์ ตรัง เชียงใหม่ น่าน พิษณุโลก) เพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์สุขภาพชุมชนเมือง 4 ชั้น ให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยเรื้อรัง ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุและกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยง ทันตกรรม ชันสูตรโรค กายภาพบำบัดและการแพทย์แผนไทยฯ บริการด้านเวชศาสตร์ปฏิบัติครอบครัว และงานพัฒนาสุขภาพชุมชน เน้น “ให้บริการทุกคน ทุกที่ ทุกอย่าง ทุกเวลาด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารอันทันสมัย” ขณะนี้มีบริการคลินิกหมอครอบครัวแล้ว 48 แห่ง ใน 16 จังหวัด
สำหรับ จ.ตรัง ได้ดำเนินการคลินิกหมอครอบครัว ใน 27 ชุมชน เขตเทศบาลนครตรัง มีประชากรประมาณ 58,000 คน (one big-cluster) ได้จัดระบบบริการดังนี้
1.เชิงรับ ใช้ศูนย์สุขภาพชุมชนเมืองตรัง 1 แห่ง ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครตรัง 3 แห่ง และศูนย์กายภาพบำบัดและแพทย์แผนไทยเทศบาลนครตรัง 1 แห่ง ให้บริการด้วยแนวคิดเวชศาสตร์ครอบครัวดูแลทุกมิติทั้งช่วงเช้าและบ่าย มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เภสัชกร พยาบาลเวชปฏิบัติและทีมสหวิชาชีพอื่นๆ
2.เชิงรุก มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 6 คน และพยาบาลประจำชุมชน 11 คน นักสุขภาพประจำครอบครัว เป็นเจ้าของพื้นที่ร่วมกับชุมชน เน้นดูแลสุขภาพของประชาชนในชุมชนทุกกลุ่มวัยตามแผนพัฒนาระบบบริการ (service plan ) และบริบทของแต่ละชุมชน
โดยจุดเด่นของคลินิกหมอครอบครัว จ.ตรัง คือความพร้อมของบุคลากร หน่วยบริการที่เข้าถึงสะดวก การจัดทีมรุก ทีมรับ มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นจุดเชื่อมโยง และความร่วมมือระหว่างโรงพยาบาลตรังและเทศบาลนครตรัง สนับสนุนงบประมาณและบุคลกร ทำให้ทีมสหวิชาชีพครบทุกสาขา จำนวนพอเพียง มีระบบเชื่อมต่อกับโรงพยาบาลด้วยช่องทางด่วนและการใช้ข้อมูลร่วมกัน
ทำให้ประชาชนทุกคนในพื้นที่เป้าหมาย 17,118 ครอบครัว มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและพยาบาลประจำชุมชนดูแล มีหน่วยบริการระดับปฐมภูมิที่เข้าถึงได้ง่ายทุกที่ และสามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพได้ทุกเวลาผ่านระบบเทคโนโลยี มีการเยี่ยมบ้านผู้ป่วยสม่ำเสมอจนทำให้อัตราการเข้ารับการรักษาซ้ำในโรงพยาบาลลดลง ผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ต้องเข้าไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและพยาบาลประจำชุมชนไปให้บริการถึงชุมชนทุกเดือน ทั้งนี้ อยู่ระหว่าง ทดลองระบบปรึกษาแพทย์นอกเวลาราชการทางเฟสบุค “คลินิกหมอครอบครัว รพ.ตรัง”
สำหรับจ.ตรังมีผู้พิการ 483 คน เป็นผู้พิการติดเตียง 56 คน มีผู้สูงอายุ 7,447 คน เป็นผู้สูงอายุกลุ่มติดเตียง 51 คน ผู้สูงอายุและผู้พิการติดเตียงทุกคนมีผู้ดูแล (care giver) ผู้ป่วยระยะสุดท้ายมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและพยาบาลชุมชนไปดูแลที่บ้าน แต่ละชุมชนมีการประเมินปัญหาสุขภาพชุมชนพร้อมทำโครงการแก้ไขใช้งบประมาณจากกองทุนท้องถิ่น
- 631 views