ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขเผย ในปี 2558 มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 600,000 คน และคาดว่าจำนวนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,117,000 คนในปี 2573 เร่งพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ ขยายความครอบคลุมของการบริการเพื่อชะลอโรคให้เป็นสมองเสื่อมช้าลง ขณะที่ทั่วโลกทุกๆ 68 วินาที จะมีผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นหนึ่งราย

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุสำคัญของกลุ่มอาการสมองเสื่อมโดยพบได้ถึงร้อยละ 60-70 โดยทุกๆ 68 วินาที จะมีผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นหนึ่งรายในโลก คาดว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยกว่า 50 ล้านคนเป็นความท้าทายสำคัญของระบบสาธารณสุขโลกในการเตรียมพร้อมรองรับผู้ป่วยโรคนี้ ทุกวันที่ 21 กันยายนของทุกปี เป็นวันอัลไซเมอร์โลก (World Alzheimer’s Day) เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบของโรคนี้ สำหรับในประเทศไทย พบความชุกประมาณร้อยละ 3-5 โดยความชุกจะพบมากขึ้นตามอายุซึ่งอาจพบสูงถึงร้อยละ 30 ในผู้สูงอายุที่อายุมากกว่า 85 ปี  ในปี 2558 มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ประมาณ 600,000 คน และคาดว่าในปี  2573 จำนวนจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 1,117,000 คน

กระทรวงสาธารณสุข ได้มอบให้กรมการแพทย์ พัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ด้านการป้องกัน รักษาและการดูแลระยะยาวเพื่อผู้สูงอายุสมองเสื่อม มีเครื่องมือคัดกรองโรคสมองเสื่อมสำหรับผู้สูงอายุ จัดทำคู่มือสำหรับบุคลากรในระดับปฐมภูมิและทุติยภูมิให้สามารถดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมได้ในชุมชน พัฒนาระบบบริการผู้สูงอายุสมองเสื่อม ในผู้ที่เพิ่งเริ่มมีอาการในระยะต้นเพื่อชะลอโรคให้เป็นสมองเสื่อมช้าลง โดยบูรณาการการป้องกันสมองเสื่อมเข้าไปในแผนงานป้องกันและดูแลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) สุขภาพจิต ผู้สูงอายุและแผนการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพตลอดชีวิต 

ทั้งนี้ โรคอัลไซเมอร์ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่การตรวจพบในระยะเริ่มต้นจะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากผู้สูงอายุมีอาการหลงลืม เช่น จำเหตุการณ์หรือคำพูดที่เพิ่งผ่านมาไม่ได้ สับสนเรื่องต่างๆ มีปัญหาการพูด ออกนอกบ้านกลับบ้านไม่ถูก ก้าวร้าว ทำกิจวัตรประจำวันไม่ได้ตามปกติ ควรรีบพบประสาทแพทย์หรือแพทย์เวชศาสตร์ผู้สูงอายุ การรักษามีแบบประคับประคองโรคทางกายและปัญหาทางจิต การป้องกันโรคแทรกซ้อน การดูแลบำบัดด้านจิตใจและปัญหาพฤติกรรม ฟื้นฟูสุขภาพกายและจิต สร้างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เน้นคุณภาพชีวิต โดยให้ผู้ดูแลมีส่วนร่วม ปัจจุบันยังไม่มียาเฉพาะ มีเพียงการใช้ยาเพื่อเพิ่มระดับสารสื่อประสาทในสมองที่ช่วยเพิ่มความจำให้ดีขึ้น และลดปัญหาด้านพฤติกรรมที่เกิดจากตัวโรค

นอกจากนี้ การฝึกบริหารสมองเป็นประจำจะลดโอกาสเสี่ยงของการเกิดโรค จึงควรหากิจกรรมฝึกความจำให้แก่ผู้สูงอายุให้ได้ใช้สมองในการทำกิจกรรม เช่น การฝึกถามตอบความรู้ทั่วไป เล่นดนตรีไทย วาดภาพ คิดเลข จะช่วยชะลอความเสื่อมของสมองได้ สิ่งสำคัญคือการดูแลเอาใจใส่ผู้สูงอายุอย่างใกล้ชิด มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทั้งตัวโรคและตัวผู้ป่วย การให้ความรัก ไม่ถือโทษหรือข่มขู่ ให้ความดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด ร่วมมือกับแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดูแลเรื่องอาหาร ออกกำลังกาย กระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลตนเองให้ได้มากที่สุด เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนของโรคอัลไซเมอร์ เช่น การสำลักอาหาร อุบัติเหตุ เป็นต้น