ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เว็บไซต์ไทยรัฐ : กรมบัญชีกลางมั่นใจผลศึกษานำระบบประกันมาดูแลค่ารักษาพยาบาลข้าราชการแทนเสร็จทันตุลานี้ ยอมรับหวั่นกระทบสิทธิ์ข้าราชการ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ ด้านสมาคมประกันฯ เด้งรับเร่งขอข้อมูลปรึกษาผู้เชี่ยวชาญต่างชาติก่อนสรุปเบี้ยประกันและความคุ้มครอง

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า ภายในเดือน ต.ค.นี้ กรมบัญชีกลางจะมีข้อสรุปที่ชัดเจนกรณีว่าจ้างสมาคมประกันเข้ามาศึกษาเรื่องค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ ตามคำสั่งของ รมว.คลัง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประหยัดเงินงบประมาณของรัฐบาล ทั้งนี้ ในแต่ละปีงบประมาณ กรมบัญชีกลางประสบปัญหาการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว มียอดการเบิกจ่ายทะลุ 60,000 ล้านบาทมาตั้งแต่ปี 56 โดยมียอดการเบิกจ่ายจริง 62,000 ล้านบาท งบประมาณปี 57 เบิกจ่ายจริง 64,000 ล้านบาท งบประมาณปี 58 เบิกจ่ายจริง 66,000 ล้านบาท และคาดว่างบประมาณปี 59 จะมียอดการเบิกจ่ายจริงสูงถึง 68,000 ล้านบาท

นายมนัส กล่าวว่า ปัจจุบันมีข้าราชการได้รับสิทธิ์รักษาพยาบาล 2 ล้านคน และเมื่อนับรวมบุคคลในครอบครัวแล้ว เช่น พ่อ แม่ สามีหรือภรรยาและบุตรแล้ว จำนวนผู้มีสิทธิ์จะเพิ่มขึ้นเป็น 6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้ผู้รับสิทธิ์ไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือลดลงมานานหลายปีแล้ว แต่สาเหตุที่ยอดการเบิกจ่ายมีเพิ่มขึ้นเพราะ

1.คนไทยมีอายุยืนยาวมากขึ้น

2.ประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลดีขึ้น

และ 3.คนไทยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

“การใช้ระบบประกันสุขภาพมาดูแลการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะระบบประกันมีอุปกรณ์ ระบบการตรวจสอบโรค การพิจารณาค่ารักษาและการคิดค่ายาดีกว่าของราชการมาก ทำให้เชื่อมั่นว่าจะประหยัดเงินงบประมาณได้ ซึ่งประเด็นนี้จะทำให้กรมบัญชีกลางสามารถควบคุมการเบิกจ่ายรักษาพยาบาลไม่ให้เกินงบปีละ 60,000 ล้านบาทได้อย่างแน่นอน”

นายมนัส กล่าวต่อว่า กรมบัญชีกลางต้องการคุมการเบิกจ่ายงบค่ารักษาพยาบาลไม่ให้เกินปีละ 60,000 ล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ยังไม่ใช่ข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะสมาคมประกันต้องไปวิเคราะห์ตัวเลขหรือหาสถิติของการรักษาพยาบาลของข้าราชการในอดีต เพื่อประเมินตัวเลขที่แท้จริงออกมาให้ได้ก่อน หลังจากนั้นจึงจะหาข้อสรุป เพื่อรายงานให้กระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป

“ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางหารือเรื่องค่ารักษาพยาบาลข้าราชการมาแล้ว ไม่น้อยกว่า 3 รอบแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่มีข้อสรุป เพราะเกรงว่าการนำระบบประกันมาใช้จะมีผลกระทบต่อสวัสดิการของข้าราชการ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้เจ็บป่วยในวัยทำงาน แต่จะเจ็บป่วยในวัยชรา โดยในช่วงของการทำงานจะยอมรับเงินเดือนน้อยๆ เพื่อหวังสวัสดิการด้านอื่นในวัยเกษียณมากกว่า”

ทั้งนี้ ผลการเบิกจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลของค่ารักษาพยาบาลจนถึงเดือนสิงหาคม 2559 เบิกจ่ายเงินแล้ว จำนวน 64,665 ล้านบาท คาดว่าสิ้นปีจะเบิกจ่ายประมาณ 68,000 ล้านบาท เนื่องจากในปีนี้กรมบัญชีกลางได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่น การเบิกค่ายากลับบ้านนอกเหนือจากระบบ DRGs การผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิต การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีแพทย์แผนไทย การเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะจากผู้บริจาคอวัยวะที่เสียชีวิต และการเบิกค่ารักษาทันตกรรม

นอกจากนี้ กรมบัญชีกลางยังได้ตรวจสอบการเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีผู้ป่วย shopping ยา พบจำนวน 11 ราย ขณะนี้ดำเนินคดีไปแล้ว 2 ราย และอยู่ระหว่างการตรวจสอบหลักฐาน 9 ราย

ด้าน นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงแนวคิดกระทรวงการคลังต้องการนำระบบประกันเข้าใช้ดูแลค่ารักษาพยาบาลแก่ข้าราชการและครอบครัวแทนการจ่ายสวัสดิการของภาครัฐว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทยพร้อมที่จะเข้ามารับประกันโครงการนี้ และขณะนี้กำลังขอข้อมูลจากกรมบัญชีกลางเกี่ยวกับจำนวนผู้ใช้สิทธิ สถิติการจ่ายสวัสดิการ ค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการและครอบครัว รวมถึงขอคำปรึกษาจากบริษัทประกันภัยจากต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการรับประกันสุขภาพขนาดใหญ่ เพื่อมาวิเคราะห์ความเสี่ยงและคิดเบี้ยประกันที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปและเสนอให้กระทรวงการคลังได้ภายใน 2-3 เดือนนี้ ส่วนจะเริ่มใช้จริงได้เมื่อไรต้องให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณา

อย่างไรก็ตาม กระทรวงการคลังได้ตั้งเงื่อนไขโครงการรับทำประกันสุขภาพแก่ข้าราชการและครอบครัวครั้งนี้ ต้องให้ได้รับการคุ้มครองไม่น้อยกว่าสวัสดิการเดิมที่ได้รับจากภาครัฐ ซึ่งเบื้องต้นบริษัทประกันอาจนำสวัสดิการเดิมของภาครัฐมาเป็นมาตรฐานใช้ก่อนในช่วง 1-2 ปี หลังจากนั้นจึงค่อยปรับพัฒนาให้เหมาะสมต่อไป ซึ่งโครงการนี้ต้องใช้ทุนประกันสำหรับจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงมาก ปีละไม่ต่ำกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเป็นโครงการที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งบริษัทประกันจากไทยคงไม่สามารถรับประกันเองได้หมด จึงอาจนำทุนและเบี้ยประกันไปส่งต่อกับให้กับบริษัทต่างประเทศด้วย.

ที่มา: www.thairath.co.th