ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : คลังหาโมเดลแก้ปัญหาข้าราชการเบิกค่ารักษาพยาบาลเกินงบฯ ปี'59 เฉียด 7 หมื่นล้าน ดึงบริษัทประกัน ดูแลข้าราชการ-ครอบครัว 10 ล้านคน ให้ สมาคมประกันศึกษาแผน คาดรู้ผล ต.ค.นี้ ธุรกิจประกันรับส้มหล่น เบี้ยโต 10% พร้อมจัดแพ็กเกจ "ประกันภัยรับใช้ชาติ" สนองนโยบายรัฐ

ประกันกลุ่ม ขรก. 10 ล้านคน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังหารือกับบริษัทประกันภัยเพื่อให้นำระบบประกันเข้ามาบริหารจัดการค่ารักษาพยาบาลแทนการใช้สวัสดิการภาครัฐแก่ข้าราชการและครอบครัวที่มีสิทธิในระบบ 10 ล้านคน เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลใช้งบประมาณในการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการสูงถึงปีละ 6 หมื่นล้านบาท และ บางปีมีการเบิกจ่ายเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ เพราะหากให้เอกชนดำเนินการน่าจะประหยัดงบประมาณได้ เนื่องจากบริษัทเอกชนบริหารจัดการได้ดีกว่า

โดยภาครัฐจะใช้งบประมาณไปจ่ายเป็นค่าเบี้ยประกัน โดยที่ข้าราชการก็ไปเบิกค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันแทนการเบิกกับรัฐ ซึ่งเป็นระบบที่มีประสิทธิภาพมากกว่า โดยระหว่างนี้ยังต้องหารือในรายละเอียดว่าจะคุ้มครองในลักษณะใดได้บ้าง  และคาดว่าแต่ละปีจะทำให้เบี้ยประกันโตไม่ต่ำกว่า 10%

ต.ค.เคาะเบี้ยเบื้องต้น

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา หน่วยงานภาครัฐได้เรียกสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย เข้าไปสอบถามเกี่ยวกับ การทำประกันภัยให้กลุ่มข้าราชการ และขณะนี้ทั้ง 2 สมาคมอยู่ระหว่างรอข้อมูลจากกรมบัญชีกลางเพื่อนำมาใช้คำนวณอัตราเบี้ยประกัน ซึ่งคาดว่าเดือน ต.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปในเบื้องต้น เพื่อนำกลับไปคุยกับภาครัฐอีกครั้ง

"ภาครัฐให้โจทย์คร่าว ๆ ว่าต้องการความคุ้มครองแบบเป็นประกันสุขภาพ ในด้านค่ารักษาพยาบาล เหมือนสวัสดิการที่รัฐจ่ายให้ข้าราชการอยู่ในปัจจุบัน ขณะนี้ อยู่ระหว่างที่ธุรกิจประกันชีวิตและประกันวินาศภัยต้องมาประเมินและพูดคุยกันกับบริษัทรับประกันภัยต่อและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปีนี้น่าจะยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน การทำประกันสุขภาพให้ข้าราชการน่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ปีในการตกลงกันทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ เพราะมีหลายเรื่องที่ต้องเปลี่ยนแปลง" นายอานนท์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธุรกิจประกันภัยไทยในปี 2558 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 742,408 ล้านบาท แบ่งเป็น เบี้ยจากธุรกิจประกันชีวิต 533,211 ล้านบาท และเบี้ยจากประกันวินาศภัย 209,197 ล้านบาท

ชูแพ็กเกจประกันรับใช้ชาติ

นายอานนท์ กล่าวว่า นอกจากนี้สมาคมก็อยู่ระหว่างทำงานร่วมกับภาครัฐ 3-4 โครงการ โดยอาจเรียกรวมกันว่า "ประกันภัยรับใช้ชาติ" นอกจากโครงการประกันกลุ่มข้าราชการ ก็มีโครงการประกันภัยอุบัติเหตุให้กับผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐไว้กว่า 8 ล้านคน โดยจะคิดค่าเบี้ยประกันภัย 99 บาทต่อคนต่อปี (ไม่รวมภาษีอากรแสตมป์) โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้คนกลุ่มนี้

สำหรับความคุ้มครอง

1)กรณีเสียชีวิต การสูญเสียมือ เท้า การสูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงเนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมกรณีถูกฆาตกรรม อุบัติเหตุการ ขี่มอเตอร์ไซค์ วงเงินคุ้มครอง 100,000 บาทต่อคน 

2) กรณีเสียชีวิต การสูญเสีย มือ เท้า การสูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ วงเงินคุ้มครอง 50,000 บาทต่อคน

และ 3)ชดเชยรายได้ระหว่างการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล จากอุบัติเหตุ 300 บาท/วัน สูงสุด 20 วัน

สำหรับประกันภัยผู้มีรายได้น้อยนี้ อยู่ระหว่างรอกระทรวงการคลังเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งหากได้รับอนุมัติให้ดำเนินการ จะทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมีเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นจำนวน 800 ล้านบาท

ส่วนอีกโครงการ คือ "ประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติ" เป็นการคุ้มครองทั้งกรณีการก่อการร้าย และอื่น ๆ โดยทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้เสนอแบบกรมธรรม์ คิดเบี้ยประกันภัยประมาณ 180 ล้านบาท คุ้มครองนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในไทยประมาณ 29-30 ล้านคน อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ยังรอความชัดเจนจากภาครัฐ

รวมถึงในส่วนโครงการ "ประกันภัยข้าวนาปี" โดยในปีการผลิต 2559/2560 ได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยมีเกษตรกรทำประกันภัยมากกว่า 26 ล้านไร่ คิดเป็นจำนวนเกษตรกรที่เข้ารวมกว่า 1.5 ล้านราย ซึ่งจะทำให้ได้เบี้ยประกันภัยเข้ามาในช่วง ต.ค.-พ.ย.นี้กว่า 2,600 ล้านบาท

นอกจากนี้ ทางสมาคมยังได้ศึกษาข้อมูลการทำประกันภัยพืชไร่อื่น ๆ โดยเฉพาะประกันภัยไม้ยืนต้น ที่ถือว่าน่าสนใจ เช่น ทุเรียน ลำไย ยางพารา เป็นต้น เพราะในต่างประเทศก็มีการทำประกันพืชผลกลุ่มนี้มาก

สั่งกรมบัญชีกลางคุมเบิกค่ารักษา

นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า แนวคิดเรื่อง การทำประกันสุขภาพให้ข้าราชการ ยังต้องหารือรายละเอียดกันอีกมาก แต่ต้อง ยอมรับว่า ปัจจุบันยอดรายจ่ายงบประมาณในการจ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาล ให้ข้าราชการและครอบครัว เกินกว่า งบประมาณที่ตั้งไว้ที่ 60,000 ล้านบาทแทบทุกปี

"มีแนวคิดว่า ถ้าแต่ละปีเราตั้งงบประมาณไว้ที่ยอดไม่เกิน 60,000 ล้านบาทนี้ แล้วก็ให้ความคุ้มครองที่ไม่น้อยกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว หรือโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ซึ่งรายละเอียดมาก ผู้ที่จะรับทำประกันก็ต้องดู ทั้งปริมาณคน และความคุ้มครองว่าจะครอบคลุมขนาดไหน คงต้องให้เวลาศึกษาพอสมควร เราก็ให้กรมบัญชีกลางไปหารือกับบริษัทประกัน" นายวิสุทธิ์ กล่าว

ทั้งนี้ รมช.คลัง กล่าวว่า การศึกษาก็ต้องครอบคลุมทั้งข้าราชการและครอบครัว และต้องรวมถึงข้าราชการที่จะเข้ามาใหม่ในอนาคตด้วย ซึ่งยอมรับว่าลำพังจะทำให้แต่ผู้ที่เข้ามาใหม่ วอลุ่มก็จะน้อย ทำให้เบี้ยประกันอาจจะแพง ขณะเดียวกัน ก็ต้องคำนึงถึงสิทธิประโยชน์ของข้าราชการที่เคยได้อยู่เดิมด้วย

ปี'59 เบิกรักษาเฉียด 7 หมื่นล้าน

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรมบัญชีกลางได้รับนโยบายให้ศึกษาการทำประกันสุขภาพให้แก่ข้าราชการ เพื่อให้สามารถควบคุมรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลไม่ให้เพิ่มมากเกินไป ตอนนี้กำลังศึกษาเปรียบเทียบกันอยู่ว่าจะใช้วิธีแบบไหน จะให้รัฐซื้อเบี้ยประกันให้ หรือตั้งกองทุนขึ้นมา ก็ต้องศึกษาไว้ เพราะค่ารักษาพยาบาลก็เกินทุกปี อย่างปีงบประมาณ 2558 ก็ใช้ไป 66,000 ล้านบาท ปีงบประมาณนี้ก็อาจไปใกล้ ๆ 70,000 ล้านบาท เพราะจนถึงขณะนี้ก็เกิน 60,000 ล้านบาท ไปแล้ว ซึ่งส่วนที่เกินก็ต้องใช้เงินคงคลังมาจ่าย แล้วค่อยขอตั้งงบประมาณใช้คืนในปีต่อ ๆ ไป

สำหรับปีงบประมาณ 2560 จะเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค.นี้ อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวว่า มีการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลไว้จำนวน 60,000 ล้านบาท จากที่ เสนอขอไปที่ 67,000 ล้านบาท

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 26 - 28 ก.ย. 2559