ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ไทยพบทารกศีรษะเล็กจากการติดเชื้อไวรัสซิกาในครรภ์มารดา 2 ราย (Zika related Microcephaly) ส่วนอีก 1 ราย ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค “หมอประเสริฐ” ประธาน คกก.ด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ชี้โรคติดเชื้อไวรัสซิกาไม่ได้ทำให้เด็กศีรษะเล็กทุกราย แนะหญิงตั้งครรภ์ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด และดูแลสุขภาพตลอดการตั้งครรภ์ 

วันนี้ (30 กันยายน 2559) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ประธานคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 กล่าวถึงกรณีการพบเด็กศีรษะเล็กในประเทศไทย ว่า จากที่ประชุมคณะกรรมการด้านวิชาการ ครั้งที่ 2/2559 ให้ความเห็นว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกาเป็นโรคที่พบมานานแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ความรู้เกี่ยวกับโรคและวิธีการวินิจฉัยโรคนี้ยังมีอยู่น้อยมาก ดังเช่นการเกิดภาวะศีรษะเล็กเป็นภาวะที่เพิ่งได้สังเกตและตรวจพบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศแถบอเมริกาใต้ 

ส่วนในประเทศไทย ข้อมูลในปี 2557 พบว่าทารกที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะศีรษะเล็กทันทีเมื่อแรกเกิดมี 31 ราย คิดเป็นอัตราส่วน 4.36 รายต่อจำนวนเด็กเกิดมีชีพ 100,000 ราย และมีเด็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะศีรษะเล็กมีจำนวน 159 ราย คิดเป็นความชุกจำเพาะอายุเท่ากับ 22.34 รายต่อประชากรแสนราย

ศ.นพ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่พบเด็กศีรษะเล็กที่คลอดแล้วนั้น พบว่า เด็กศีรษะเล็กทั้ง 3 รายตรวจพบโดยการเฝ้าระวังเด็กภาวะศีรษะเล็ก คณะกรรมการได้ทบทวนข้อมูลทางระบาดวิทยา ข้อมูลด้านคลินิก และข้อมูลผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ คณะกรรมการวิชาการมีความเห็นว่า ทารกศีรษะเล็กจากการติดเชื้อไวรัสซิกาในครรภ์มารดา 2 ราย (Zika related Microcephaly) ส่วนอีก 1 ราย ยังอยู่ในระหว่างการสอบสวนโรค ซึ่งอาจไม่เกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แต่ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุได้ชัดเจน จำเป็นต้องทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

ทั้งนี้ การติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์ ไม่ใช่เป็นสาเหตุหลักเพียงสาเหตุเดียวที่มีโอกาสทำให้ทารกเกิดภาวะศีรษะเล็ก แท้จริงแล้วสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น

1.การติดเชื้อในกลุ่ม STORCH (Syphilis, Toxoplasmosis, Rubella, Cytomegalovirus, Herpes) ซึ่งเป็นกลุ่มโรคติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและปรสิตบางชนิดที่สามารถติดเชื้อได้ในคนทั่วไปและมีความสำคัญที่ทำให้เกิดความผิดปกติกับทารกในครรภ์หรือทารกแรกเกิด 

2.ได้รับสารเคมีบางชนิดขณะตั้งครรภ์ เช่น สารโลหะหนัก เป็นต้น 

3.มีความผิดปกติของยีนตั้งแต่กำเนิด 

และ 4.ภาวะการขาดสารอาหารอย่างรุนแรงในขณะตั้งครรภ์

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก พบว่าภาวะศีรษะเล็กมีความเชื่อมโยงกับเชื้อไวรัสซิกา แต่อาจจะไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียว อาจมีปัจจัยร่วมอย่างอื่นด้วยที่ทำให้เกิดศีรษะเล็ก อยู่ระหว่างการศึกษาและวิจัยต่อไป เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสซิกาในหญิงตั้งครรภ์ไม่ได้ก่อให้เกิดภาวะทารกศีรษะเล็กในทารกในครรภ์ทุกราย หญิงตั้งครรภ์จำเป็นต้องดูแลสุขภาพให้ดีตลอดการตั้งครรภ์ ฝากครรภ์ตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อย หากมีอาการผิดปกติในระหว่างตั้งครรภ์ เช่น มีไข้ออกผื่น ให้รีบปรึกษาแพทย์ และไปตรวจพัฒนาการของทารกในครรภ์อย่างสม่ำเสมอ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด และมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ถุงยางอนามัยตลอดการตั้งครรภ์ 

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้มีคณะทำงานเพื่อจัดทำแนวทางการจัดการหญิงตั้งครรภ์ที่สงสัยจะติดเชื้อไวรัสซิกา หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการพบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา โดยมี รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ เป็นประธาน

ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบเฝ้าระวังของประเทศไทย และติดตามข่าวสารจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างต่อเนื่อง ส่วนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาในปีนี้ อาจมีจำนวนผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มมากขึ้น และเพิ่มความเข้มข้นของระบบเฝ้าระวังทั้ง 4 ด้าน ซึ่งประเทศไทยยังคงใช้มาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างเข้มข้นในระดับสูงสุดต่อเนื่อง

ส่วนผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ส่วนใหญ่อาการของโรคไม่รุนแรง และส่วนใหญ่ป่วยแล้วหายได้เอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ มีไข้ ออกผื่น ตาแดง ปวดข้อ จะมีปัญหาเฉพาะกับหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งมีหลักฐานทางระบาดวิทยาที่บ่งชี้ว่าอาจสัมพันธ์กับอาการศีรษะเล็กในทารกแรกเกิด อาการเหล่านี้จะทุเลาลงได้เองภายในเวลา 2-7 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นขอให้ไปพบแพทย์โดยเร็ว

ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422