ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค เผยผลการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเกี่ยวกับการป้องกันวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ย้ำยังเป็นวัคซีนขึ้นทะเบียน แต่ไม่ได้เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทย จำเป็นต้องใช้ภายใต้ข้อแนะนำของแพทย์ แนะป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดและกำจัดแหล่งลูกน้ำยุงลายดีที่สุด

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า คณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคได้พิจารณาข้อมูลวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก มีข้อสรุปว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกเป็นวัคซีนที่ยังขึ้นทะเบียนในประเทศไทย โดยกำหนดให้ฉีดในกลุ่มอายุตั้งแต่ 9-45 ปี ปัจจุบันผู้ได้รับวัคซีนส่วนใหญ่ ได้รับบริการในโรงพยาบาลภาคเอกชน และอยู่ภายใต้ข้อแนะนำของแพทย์

ด้าน นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านไวรัสวิทยา อนุกรรมการฯ ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า วัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกนี้ยังคงมีประโยชน์ในด้านของการป้องกันโรคในผู้ที่มีประวัติเคยติดเชื้อไวรัสเดงกี่หรือป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกมาก่อน โดยวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกนี้ สามารถป้องกันการเกิดโรคได้ร้อยละ 65

สำหรับผู้ที่ไม่เคยป่วยด้วยโรคดังกล่าวหรือไม่มีประวัติติดเชื้อไวรัสเดงกี่และสนใจอยากได้รับข้อมูลเรื่องวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจรับวัคซีน ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังไม่ได้กำหนดให้นำวัคซีนดังกล่าวมาใช้เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กไทย เนื่องจากยังจำเป็นต้องมีข้อมูลประกอบการพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและประสิทธิผลของวัคซีนเป็นสำคัญ เพื่อให้การนำวัคซีนมาใช้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ นพ.ประเสริฐ ได้เน้นย้ำว่า การใช้วัคซีนเป็นเพียงมาตรการหนึ่งในการควบคุมโรค ต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมยุงพาหะ การเฝ้าระวังโรค และการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วย ประชาชนยังต้องดูแลและป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด และร่วมกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยเริ่มจากบ้านของตนเอง และขอให้เน้นมาตรการ “3 เก็บ ป้องกัน 3 โรค” คือ

1.เก็บบ้านให้สะอาด โปร่ง โล่ง ไม่ให้มีมุมอับทึบ เป็นที่เกาะพักของยุง 2.เก็บขยะ เศษภาชนะรอบบ้าน โดยทำต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และ 3.เก็บน้ำ สำรวจภาชนะใส่น้ำ ต้องปิดฝาให้มิดชิด ป้องกันยุงลายไปวางไข่ เพื่อป้องกัน 3 โรค คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย รวมทั้งกำจัดและควบคุมยุงตัวโตเต็มวัย เช่น การพ่นสารเคมีกำจัดยุงลาย และการป้องกันไม่ให้ยุงลายกัด เช่น ทายากันยุง ใช้ไม้ช็อตไฟฟ้า จุดสมุนไพรหรือยาจุดไล่ยุง หรือใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น

ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422