ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระดมผู้เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ร่วมหารือและทบทวนแนวทางการกำจัดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดในประเทศไทย หลังพบแนวโน้มของการป่วยด้วยโรคซิฟิลิสเริ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกๆ ปี ข้อมูลล่าสุดในปี 2558 พบผู้ป่วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (เด็กแรกเกิด ถึง 2 ปี) เกือบ 100 ราย เหตุแม่ไม่ได้ฝากครรภ์ พร้อมตั้งเป้าควบคุมโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดให้เหลือน้อยกว่า 50 ราย ภายในปี พ.ศ.2563

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ที่โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการอบรม “แนวทางการดำเนินงานเพื่อยุติการถ่ายทอดเชื้อซิฟิลิส เอชไอวี โรคตับอักเสบจากไวรัสจากแม่สู่ลูก” ว่า ปัจจุบันสถานการณ์โรคซิฟิลิสในประเทศไทยมีแนวโน้มสูงขึ้น เห็นได้จากผู้ป่วยโรคซิฟิลิสเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่า ใน 10 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 มีผู้ป่วยโรคซิฟิลิส 1,557 ราย และเพิ่มเป็น 3,373 รายในปี 2558 แยกเป็นเพศชาย 2,308 ราย เพศหญิง 1,065 ราย โดยกลุ่มอายุที่พบมากสุด คือกลุ่มอายุ 15-24 ปี รองลงมาคือกลุ่มอายุ 25-34 ปี และกลุ่มอายุ 65 ปี ขึ้นไป ตามลำดับ ส่วนผู้ป่วยโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด (เด็กแรกเกิด ถึง 2 ปี) ก็พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกๆ ปีเช่นกัน โดยข้อมูลล่าสุดในปี 2558 พบผู้ป่วยมากถึง 91 ราย

ที่ผ่านมาประเทศไทย ได้ดำเนินมาตรการควบคุมและป้องกันโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสในหญิงตั้งครรภ์ ซึ่งทารกที่ป่วยส่วนหนึ่งเป็นจากหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับการฝากครรภ์ จึงไม่ได้รับการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อซิฟิลิส หรือบางรายรับการฝากครรภ์แล้วไม่มีการติดตามผลเลือด กรณีติดเชื้อจึงไม่ได้รับการรักษา จนตรวจพบเมื่อเข้ารับบริการคลอดในสถานพยาบาล

อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรค ได้ร่วมกับเครือข่ายต่างๆ จัดทำแนวทางในการดำเนินการกำจัดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด ทั้งการคัดกรอง การตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาหญิงตั้งครรภ์ สามีหรือคู่เพศสัมพันธ์ และทารก ในปี 2558 เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้รับผิดชอบในระดับต่างๆโดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราการเกิดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดให้ไม่เกิน 0.05 ต่อเด็กเกิดมีชีพ 1 พันราย ภายในปี พ.ศ. 2563 (เหลือน้อยกว่า 50 ราย)

นพ.ภาณุมาศ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลสถานการณ์ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีโอกาสสูงที่จะสามารถกำจัดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิดได้ เพราะระบบบริการที่มีอยู่เอื้อต่อการดำเนินงาน ซึ่งต้องอาศัยการจัดทำแผนระดับชาติในการกำจัดโรคดังกล่าว และมอบหมายภารกิจให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ รวมถึงมีการบูรณาการร่วมกับแผนปฏิบัติการยุติปัญหาเอดส์แห่งชาติ โดยเฉพาะด้านการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีเมื่อแรกเกิด 

ในวันนี้ กรมควบคุมโรค ได้ดำเนินการจัดอบรม”แนวทางการดำเนินงานเพื่อยุติการถ่ายทอดเชื้อซิฟิลิส  เอชไอวี โรคตับอักเสบจากไวรัสจากแม่สู่ลูก” เพื่อพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขในการปฏิบัติงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการกำจัดโรคซิฟิลิสแต่กำเนิด โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมจากทั่วประเทศ จำนวน 568 คน ประกอบด้วย ผู้รับผิดชอบงานของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 76 จังหวัด และสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ศูนย์อนามัยทั้ง 13 แห่ง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคทั้ง 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ซึ่งจะมีการจัดอบรมทั้งหมด 4 ครั้ง รวม 4 ภาค โดยการอบรมวันนี้เป็นครั้งแรกและให้เสร็จสิ้นภายในเดือนธันวาคมนี้ 

หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422