ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

บางครั้งบางคราวผมเคยคิดสงสัยว่าศิลปินที่มีชื่อเสียงดังๆ เนี่ยเค้าเคยทำผลงานที่แย่ๆ มากันสักแค่ไหน แล้วผลงานที่ล้มเหลวเหล่านั้นมันมีความหมายกับชื่อเสียงและการยอมรับจากสังคมของศิลปินคนนั้นสักแค่ไหน ทุกครั้งที่ผมเห็นภาพอันตระการตาของวัดร่องขุ่นผมก็อดคิดไม่ได้ว่าบางทีต่อให้อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ทำผลงานล้มเหลวมาตลอดชีวิต แต่ถ้าสามารถสร้างวัดร่องขุ่นขึ้นมาได้เพียงแค่ชิ้นเดียวมันก็คงเป็นผลงานที่ยิ่งใหญ่มากเกินพอที่จะได้รับการยอมรับจากสังคม และ ณ จุดนั้นมันก็แทบจะไม่สำคัญเลยว่าก่อนหน้านี้เคยมีผลงานที่แย่ๆ ออกมากี่ร้อยกี่พันชิ้น

และทุกครั้งเวลาที่ผมเห็นอาหารกระป๋องผมก็อดคิดแบบเดียวกันไม่ได้ ถ้าบริษัทแห่งหนึ่งผลิตอาหารกระป๋องออกมาหนึ่งพันกระป๋อง แล้วมีกระป๋องหนึ่งที่รสชาติยอดเยี่ยมมหัศจรรย์ระดับมิชลินสามดาว ในขณะที่อีก 999 กระป๋อง รสชาติไม่ได้เรื่องและไม่มีคุณภาพ บริษัทนั้นจะเป็นอย่างไร?

เราทุกคนคงเห็นตรงกันว่าอีกไม่นานบริษัทนั้นคงจะต้องปิดกิจการ ไม่มีใครเคยคาดหวังให้อาหารกระป๋องมีรสชาติอร่อยมหัศจรรย์เหมือนอาหารจากร้านที่ติดดาวมิชลิน สิ่งที่คนคาดหวังคืออาหารข้างในจะไม่บูด ไม่เน่า และมีรสชาติที่ดีพอใช้ และที่สำคัญคือต้องคาดเดาได้แหละเหมือนๆ กันทุกกระป๋อง

นี่ก็คือภาพที่แตกต่างกันระหว่างสองสิ่งที่อยู่กันคนละขั้ว นั่นคืองานศิลปะและอุตสาหกรรม ในรูปแบบที่บริสุทธิ์ที่สุดของงานศิลปะนั้นมันไม่สำคัญเลยว่าจะมีผลงานที่ล้มเหลวมาสักกี่ชิ้น ขอเพียงแค่ให้มีผลงานชั้นเลิศออกมาเพียงแค่หนึ่งชิ้นก็เพียงพอแล้ว แทบทุกคนรู้ว่าลีโอนาร์โด ดาวินชีถูกยกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดจิตรกรในประวัติศาสตร์โลก แต่จะมีซักกี่คนที่บอกได้ว่าดาวินชีเคยสร้างผลงานอะไรไว้บ้างนอกจากโมนา ลิซา?

ในทางกลับกันในรูปแบบที่บริสุทธิ์ที่สุดของงานอุตสาหกรรมนั้น ก็ไม่มีความสำคัญเลยว่าจะมีผลงานชั้นเลิศกี่ชิ้น ขอให้ผลงานทุกชิ้นได้มาตรฐานเหมือนๆ กันก็เพียงพอแล้ว ผมไม่เคยเห็นใครเดินเข้าร้านสะดวกซื้อเพื่อหาสินค้าเกรดเอ แต่ทุกคนเข้าไปด้วยความคาดหวังว่าจะซื้อสินค้าที่ได้มาตรฐานและเหมาะสมกับราคา

เมื่อครั้งที่ผมเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ผมมีโอกาสได้เวียนไปที่กองศัลยกรรม และมีวันหนึ่งซึ่งเป็นวันที่นักศึกษาจะเตรียมกรณีศึกษามาให้อาจารย์แสดงแนวทางในการซักประวัติและตรวจร่างกาย อาจารย์ที่สอนในวันนั้นก็คืออ.สุชาติ อารีมิตร (อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหาสารคามในปัจจุบัน) จริงๆ แล้วตามหลักนั้นไม่ควรจะมีใครรู้รายละเอียดของผู้ป่วยนอกจากคนที่เป็นคนเตรียมมาเพื่อที่ทุกคนจะมีโอกาสในการคิดตามขณะที่อาจารย์อภิปราย แต่ตอนนั้นเราก็ดันเอามาบอกกัน และทุกคนในห้องก็รู้กันหมด มีอาจารย์ไม่รู้อยู่แค่คนเดียว

ด้วยความที่นักศึกษารู้คำตอบกันหมดแล้วคาบนั้นก็เลยไม่ได้เป็นการเรียนรู้แนวทาง แต่กลับกลายเป็นคาบที่เราลองดีเพื่อที่จะดูว่าอาจารย์จะเก่งสักแค่ไหน รู้ประวัติและผลตรวจร่างกายแล้วจะวินิจฉัยได้สักแค่ไหน ผมและเพื่อนอีก 2-3 คนใจจดใจจ่อรอดูว่าอาจารย์จะตอบถูกไหม

ผู้ป่วยรายนั้นเป็น retroperitoneum mass (ก้อนเนื้อส่วนหลังของช่องท้อง) อาจารย์ค่อยๆ ถามประวัติและผลการตรวจร่างกายไปเรื่อยๆ เวลาได้ชิ้นข้อมูลอะไรที่มีความสำคัญอาจารย์ก็จะอธิบายว่าข้อมูลชิ้นนี้มีความสำคัญยังไง และมันบอกอะไร มันทำให้เราคิดถึงกรณีแบบไหนและทำให้เราตัดกรณีแบบไหนออกจากการพิจารณาได้บ้าง ขณะที่อาจารย์ค่อยๆ ถามไปเรื่อยๆ และอธิบายไปเรื่อยๆ คิ้วของผมกับเพื่อนก็ค่อยๆ เลิกสูงขึ้นเรื่อยๆ จากประวัติและผลการตรวจร่างกายที่ได้มานั้น อาจารย์สามารถอธิบายได้หมดว่าก้อนน่าจะอยู่ตรงไหน ลึกแค่ไหน เป็นก้อนประเภทใด กดทับอะไรอยู่บ้าง ติดกับอวัยวะไหน และบอกด้วยว่าการรักษาน่าจะทำอย่างไร ซึ่งสิ่งที่อาจารย์บอกมาตรงกับข้อมูลจริงทุกอย่างอย่างกับอาจารย์ได้เห็นภาพซีทีสแกนมาแล้วก็ไม่ปาน ผมกับเพื่อนได้แต่มองหน้ากันด้วยความอัศจรรย์ใจ และจวบจนปัจจุบันผมก็ยังคิดว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นเป็นการวินิจฉัยด้วยข้อมูลทางคลินิกที่ติดตราตรึงใจผมมากที่สุด

แต่ในปัจจุบันถ้าผู้ป่วยคนเดียวกันมาตรวจ หมอจำนวนมากก็จะไม่ได้คิดอะไรลึกขนาดนั้น อาจจะถามประวัติแล้วก็ตรวจร่างกายตามสมควร เสร็จแล้วก็จะส่งผู้ป่วยไปทำซีทีสแกน

ในทางคล้ายกัน แต่ก่อนนั้นภาวะคลอดยากหลายๆ ภาวะก็จะมีวิธีจัดการต่างๆ กันไป มีเทคนิคและอุปกรณ์ทางสูติกรรมมากมายที่ไว้ใช้จัดการกับสถานการณ์ต่างๆ กัน เด็กตัวใหญ่ให้ทำแบบนี้ คลอดท่าก้นให้ทำแบบนี้ เด็กไม่กลับหัวให้ทำแบบนี้ ฯลฯ แต่ปัจจุบันถ้ามีปัญหาใดๆ เกี่ยวกับการคลอดสิ่งที่มักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ก็คือการผ่าตัดคลอด

ทั้งการทำซีทีสแกนและการผ่าตัดคลอดดเป็นความพยายามในการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดและทำให้ผลออกมาคล้ายๆ กันมากที่สุดไม่ว่าแพทย์คนไหนจะเป็นคนให้การดูแล การวินิจฉํยจากประวัติและการตรวจร่างกายอย่างที่ผมได้เจอตอนข้างต้นนั้นแม้จะสามารถทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำได้ การทำคลอดท่าก้นด้วยคีมก็เช่นกัน แม้จะทำได้รวดเร็วและส่งผลต่อมารดาน้อยแต่ก็ทำได้ยากและไม่ใช่ทุกคนจะทำได้ มิหนำซ้ำยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้หากผู้ทำไม่มีประสบการณ์เพียงพอ

ในทางกลับกัน ผ่าตัดคลอดนั้นมีขั้นตอนที่ชัดเจนเป็นส่วนใหญ่ สิ่งที่ต้องทำโดยทั่วไปแล้วก็จะคล้ายๆ กัน ดังนั้นผู้ทำการผ่าตัดจึงสร้างความคุ้นเคยได้เร็ว เราเห็นได้ทั่วไปว่าแพทย์ที่อยู่ในปีท้ายๆ ของการฝึกอบรมเฉพาะทางด้านสูติกรรมสามารถที่จะทำการผ่าตัดคลอดได้อย่างปลอดภัย แต่การคลอดด้วยคีมนั้นแม้กระทั่งสูติแพทย์ที่มีประสบการณ์บางครั้งก็ยังขยาด ไม่แค่นั้นการผ่าตัดคลอดยังสามารถจัดการกับปัญหาหลากหลายประเภทได้ด้วยเทคนิคเดียว ซึ่งให้ความรู้สึกคล้ายคลึงกับงานอุตสาหกรรมที่ใช้วิธีการเดียวกันเพื่อให้ผลออกมาเหมือนๆ กันให้มากที่สุดโดยไม่ต้องการความสวยงามหรือความน่าอัศจรรย์ใจ

ณ เวลานี้คงไม่มีใครยอมรับได้ถ้าหมอให้การรักษาผู้ป่วยคนหนึ่งให้หายได้อย่างน่าอัศจรรย์ในขณะที่ผู้ป่วยอีก 999 คนต้องพิการหรือเสียชีวิต แต่สิ่งที่คนยอมรับได้คือหมอรักษาผู้ป่วย 999 คนให้หายตามมาตรฐานและมีผู้ป่วยเสียชีวิตหรือพิการหนึ่งคน จริงอยู่ที่เราอาจยังเห็นการแพทย์ที่มีลักษณะของงานศิลปะได้ในวิทยาการส่วนที่เป็นพรมแดนใหม่ เช่น การปรับแต่งพันธุกรรม การปลูกถ่ายอวัยวะที่ยากๆ หรือการใช้เทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาช่วยในการวินิจฉัยและรักษาภาวะที่ก่อนหน้านี้ไม่สามารถทำได้ แต่ในภาพรวมแล้วสังคมปัจจุบันก็ไม่ได้คาดหวังให้หมอเป็นศิลปินที่สร้างงานมหัศจรรย์ไม่กี่ชิ้น แต่คาดหวังให้หมอเป็นแม่พิมพ์บนสายพานอุตสาหกรรมที่ผลิตงานได้มาตรฐานอย่างสม่ำเสมอมากกว่า

มีคำอธิบายที่หลากหลายว่าทำไมจึงเกิดปรากฎการณ์นี้ขึ้น อาจเป็นเพราะผู้ป่วยมีความคาดหวังสูงขึ้นเรื่อยๆ ว่าจะต้องได้ผลที่ดีตามมาตรฐานโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาจเป็นเพราะความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องทำให้แพทย์มีแนวโน้มที่จะเลือกวิธีที่การันตีผลได้มากกว่า อาจเป็นเพราะองค์กรต้องการผลลัพธ์ซึ่งคาดการณ์ได้เพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการ อาจเป็นเพราะเหตุผลอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวมาในที่นี้ หรืออาจเป็นเพราะเหตุผลหลายๆ เหตุผลรวมกันก็ได้

แต่ไม่ว่าเหตุผลที่แท้จริงจะมีอะไรบ้าง ถ้าตัวผมเองต้องรับการรักษา ก็ไม่มีทางเลยที่ผมจะเลือกวิธีการรักษาที่ให้ผลไม่แน่นอนและสามารถทำได้เฉพาะผู้ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ซึ่งทั้งประเทศอาจมีอยู่เพียงหยิบมือเดียว แม้ผมจะรู้ว่าการคลอดด้วยคีมนั้นเมื่อทำอย่างถูกต้องแล้วจะให้ผลที่ดีกว่า แต่หากภรรยาของผมตั้งครรภ์และมีปัญหาใดๆ ที่ทำให้คลอดยากผมก็จะไม่ต้องการให้ทำคลอดด้วยคีม เพราะผมรู้ดีว่ามันเป็นวิธีที่ซับซ้อน ต้องใช้ประสบการณ์สูงซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะมี และยังมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้หากมีอะไรผิดพลาด ผมจะเลือกอยากให้ภรรยาของผมคลอดด้วยการผ่าตัดมากกว่า เพราะผมรู้ว่ามันมีกระบวนการที่ไม่มีความซับซ้อนเท่า และยังมีความชัดเจนว่าต้องทำอย่างไร ไม่ต้องใช้ประสบการณ์สูงมาก และเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรงน้อยกว่า

ผมเคยได้ยินแพทย์หลายคนรำพึงถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ หลายคนบอกว่าศิลปะและความสวยงามหลายๆ อย่างในการแพทย์กำลังสูญหายไป อุปกรณ์และความรู้หลายต่อหลายอย่างที่เคยเป็นสิ่งสำคัญในอดีตนั้นในปัจจุบันอาจจะหาได้แต่ในหนังสือเก่าๆหรือในพิพิธภัณฑ์ หลายคนบอกว่าน่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นแค่อดีต ซึ่งผมก็เห็นด้วยว่านี่เป็นเรื่องน่าเสียดายจริง

ทว่า ถึงแม้ว่ามันอาจเป็นเรื่องน่าเสียดาย แต่ผมไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องแย่ สิ่งสำคัญคือเราต้องไม่ลืมว่าความรับผิดชอบที่สำคัญที่สุดของเราคืออยู่ที่ไหน หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของเราไม่ได้อยู่ที่การเก็บรักษามรดกทางประวัติศาสตร์การแพทย์ แต่หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของเราคือการดูแลรักษาผู้ป่วยให้ปลอดภัย มันไม่สำคัญเลยว่าผมจะเป็นศิลปินหรือเป็นแม่พิมพ์อาหารกระป๋อง ถ้าความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันนั้นนำพาให้เราไปสู่สถานการณ์ที่แนวทางการรักษามีความชัดเจนมากขึ้น มีความสม่ำเสมอของผลของการรักษามากขึ้น และผู้ป่วยปลอดภัยมากขึ้น

นั่นคือสิ่งที่เราควรยินดี และเป็นหนทางที่เราควรดำเนินไป

ผู้เขียน : นพ.อธิพงศ์ พัฒนเศรษฐพงษ์