ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

9 สาขาวิชาชีพสุขภาพ จับมือเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพ เน้นเรียนรู้ประสบการณ์จริง ศึกษาวิจัยแบบสหสาขาวิชาชีพ บูรณาการตั้งแต่ต้นทางการผลิต จากสถาบันการศึกษาจนถึงการทำงานจริงในพื้นที่ มุ่งแก้ปัญหาการผลิตบุคลากรสุขภาพแบบแยกส่วน ไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน สธ.และอีก 8 หน่วยงานลงนามพัฒนาบุคลากรสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและความต้องการของประชาชน

คณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 (พ.ศ.2557-2561) จัดประชุมวิชาการระดับชาติ เรื่อง “การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพครั้งที่ 3” ภายใต้หัวข้อ “เรียนร่วมวิชาชีพ สู่ทีมสุขภาพไทย : IPE towards Thai Health Team” ซึ่งการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายบุคลากรด้านสุขภาพ 9 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ วิชาชีพพยาบาล สาธารณสุข เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด สัตวแพทย์ แพทย์แผนไทย เภสัชกร ทันตแพทย์ และแพทย์ ตลอดจนองค์กรผู้ผลิตและผู้ใช้บัณฑิตจากทุกภาคส่วน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการองค์ความรู้และขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเน้นการมีส่วนร่วมของผู้ผลิต ผู้ใช้ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนการสร้างขีดความสามารถและเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างสาขาวิชาชีพ และระหว่างสถาบันการศึกษาทั้งระดับชาติและนานาชาติ ระหว่างวันที่ 21 - 22 พ.ย. 2559 ณ โรงแรมพูลแมน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ   

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กำลังคนด้านสุขภาพเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาระบบสุขภาพ ดังนั้นการพัฒนาบุคลากรด้านสุขภาพจึงควรมองภาพทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การจ้างงาน ไปจนถึงการพัฒนาศักยภาพ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ทุกภาคส่วน ทั้งจากกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข ตระหนักถึงความสำคัญในการสร้างจิตสำนึก และจับมือกัน ปฏิรูปการศึกษาบุคลากรสุขภาพในศตวรรษที่ 21 จากการเรียนรู้แบบแยกส่วน เน้นวิชาความรู้แต่ในตำรา มุ่งสู่การเรียนรู้แบบบูรณาการจากประสบการณ์จริงในพื้นที่ เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะ และยกระดับคุณภาพของบุคลากรสุขภาพไทยให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล อันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถ ในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศ  

“สอดคล้องกับยุทธศาสตร์โลกว่าด้วยการพัฒนากำลังคน ค.ศ. 2030 ตลอดจนข้อแนะนำของคณะกรรมาธิการระดับสูงจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการเพิ่มอัตราการว่าจ้างงานบุคลากรสุขภาพเพื่อความเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเน้นความร่วมมือกันทุกภาคส่วนทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ และการคลัง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนกำลังคนด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยปรับเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนา เป็นระบบการเรียนรู้แบบตลอดชีวิต และมุ่งเน้น “สร้างนำซ่อม” พร้อมผลิตบัณฑิตที่จะก้าวมาเป็นบุคลากรด้านสุขภาพ ให้มีทักษะการสื่อสาร มีความคิดสร้างสรรค์ เป็นผู้นำ ทำงานเป็นทีม เพื่อส่งเสริมระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิที่มีความเชื่อมโยงกับระบบบริการระดับสูง โดยการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐานและประชาชนเป็นศูนย์กลาง” นพ.ปิยะสกล กล่าว  

ด้าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ได้มีการทำงานทั้งในเชิงวิชาการและการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากฝั่งผู้ผลิตและผู้ใช้บัณฑิต ที่ผ่านมาสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นได้มีฉันทามติรับรอง แผนยุทธศาสตร์พัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 (พ.ศ.2557-2561) แล้ว ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เป็นกรอบแนวทางในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการจัดประชุมวิชาการเพื่อการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีนั้น เป็นส่วนหนึ่งของเวทีความร่วมมือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่จุดประเด็นการพัฒนา และสร้างโอกาสในการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม 

ซึ่งกระบวนการทำงานที่คู่ขนานไปกับการพัฒนา เน้นไปที่การสร้างกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรวิชาชีพสุขภาพ การพัฒนาศักยภาพและสมรรถนะบุคลากรสุขภาพด้านหมอครอบครัว การเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based)  

ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือการพัฒนาบุคลากรสุขภาพเพื่อตอบสนองต่อนโยบายการพัฒนาระบบบริการสุขภาพและความต้องการของประชาชน ร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุข โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริหารอีก 8 ฝ่าย ซึ่งจะเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานระดับชาติที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการพัฒนาระบบการศึกษาของบุคลากรสุขภาพให้มีสมรรถนะที่เหมาะสม นำไปสู่การพัฒนาระบบบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ มีความเสมอภาค ทั้งในด้านการให้บริการที่นำโดยกระทรวงสาธารณสุข ด้านการเงินการคลัง โดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ด้านการศึกษา โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ด้านการวิจัยของบุคลากรด้านสุขภาพ โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ด้านการทำงานในพื้นที่กับประชาคมต่างๆ ที่เชื่อมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) การพัฒนาบุคลากรสุขภาพตามแนวคิดสร้างนำซ่อม เชื่อมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พร้อมกำกับทิศทางการทำงานโดยคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติ และคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ดังนั้นการขับเคลื่อนครั้งนี้ จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการเรียนรู้ร่วมกันทุกสาขาวิชาชีพ ในทุกสถาบันอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน