ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน เผย ตัวแทน คกก.กำลังคนด้านสุขภาพ กำลังทบทวนผลการศึกษาที่สรุปว่ากำลังคนด้านสาธารณสุขล้น หลังเครือข่ายวิชาชีพสาธารณสุขยื่นหนังสือค้านผลการศึกษา ระบุควรมองบทบาทวิชาชีพสาธารณสุขในภาพกว้าง ไม่ควรยึดแค่กรอบอัตรากำลัง สธ.และงานบริการเฉพาะที่ รพ.สต. พร้อมหนุนท้องถิ่นให้ร่วมรับผิดชอบงานสาธารณสุขตามบทบาท

รศ.สุรชาติ ณ หนองคาย

รศ.สุรชาติ ณ หนองคาย รองเลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า ภายหลังจากที่คณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพแห่งชาติได้นำเสนอผลการศึกษาการวางแผนกำลังด้านสุขภาพของประเทศไทยในทศวรรษหน้า (2560 – 2569) ระบุว่ากำลังคนด้านสาธารณสุขในอนาคตจะมีจำนวนที่เกินกว่าความต้องการในระบบ พร้อมกับเสนอให้มีการจำกัดกำลังคนพร้อมทบทวนการผลิตนั้น ผลการศึกษานี้สวนทางกับรายงาน Global Strategy on Human Resource for Health: 2030 ของ WHO ที่พยากรณ์ว่าในปี 2030 (พ.ศ.2573) ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะขาดแคลนกำลังคนด้านสาธารณสุขในภาพรวมถึง 33% ที่ผ่านมาสมาคมวิชาชีพสาธารณสุขและสำนักงานเลขาธิการสภาการสาธารณสุขชุมชน จึงได้เข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานสุขภาพแห่งชาติ (สช.)ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการกำลังคนด้านสุขภาพ เพื่อขอให้ทบทวนรายงานผลการศึกษาดังกล่าวในส่วนของวิชาชีพสาธารณสุข และได้มีการเข้าให้ข้อมูลในส่วนของบทบาทและทิศทางของวิชาชีพสาธารณสุข

รศ.สุรชาติ กล่าวว่า กำลังคนด้านการสาธารณสุขอาจแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มที่มิใช่ผู้ประกอบวิชาชีพ และกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรองรับ ซึ่งในปัจจุบัน ประกอบด้วย เวชกรรม ทันตกรรม เภสัชกรรม พยาบาลและการผดุงครรภ์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด แพทย์แผนไทย รวมถึงกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ ภายใต้กฎหมายการประกอบโรคศิลปะ และวิชาชีพหลังสุดที่มีกฎหมายรองรับคือ วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ดังนั้นการวิจัยจึงจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตหรือคำนิยามให้ชัดว่า กำลังคนด้านการสาธารณสุขที่สรุปว่ามีจำนวนล้นเกินความต้องการนั้นหมายถึงกลุ่มใดให้ชัดเจน

หากยึดเอาฐานคิดว่างานด้านการสาธารณสุขเป็นงานของกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก โดยกำหนดมาตรฐานว่า สัดส่วนของบุคลากรสาธารณสุข 1 ต่อประชากร 1,250 คนเป็นหลัก ประกอบกับนโยบายไม่เพิ่มอัตรากำลังในการบรรจุ จะบรรจุได้เฉพาะที่ทดแทนที่ว่างจากการเกษียณอายุราชการ หรือ ลาออกเท่านั้น ซึ่งนำมาเทียบกับจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาในสถาบันทั้งภาครัฐและเอกชนซึ่งมีอยู่มากกว่า 60 แห่ง จะมีจำนวนเกินตำแหน่งของทางราชการที่มีอยู่ หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่า หากมุ่งเข้าสู่ระบบราชการอย่างเดียวมีแนวโน้มตกงานสูงมาก หรือ อาจต้องเป็นเพียงลูกจ้างชั่วคราว หรือ แม้แต่ยอมทำงานต่ำกว่าวุฒิ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจมาก

งานด้านการสาธารณสุขโดยแท้จริงแล้วต้องมีฐานมาจากชุมชน หน่วยงานท้องถิ่นจึงเป็นหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง กระทรวงสาธารณสุขควรทำหน้าที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเท่านั้น โดยทั่วๆ ไปงานของท้องถิ่นมีงานหลักที่กฎหมายกำหนดที่เรียกกันติดปากอยู่ 4 งานคือ ครู คลัง ช่าง หมอ “ครู” คือ จัดการศึกษา, คลัง คือ การจัดเก็บภาษี รายได้ของท้องถิ่น, ช่าง คือ งานโยธา และ หมอ คือ งานด้านการสาธารณสุข แต่งานหมอหรืองานสาธารณสุขเป็นงานที่ท้องถิ่นส่วนใหญ่จัดสรรงบประมาณให้กับงานนี้น้อยที่สุด อาจเป็นไปได้ว่าท้องถิ่นเห็นว่ามีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้รับผิดชอบงานนี้อยู่แล้ว

ดังนั้นการผลิตบุคลากรสาธารณสุขของสถาบันการศึกษาที่ประเมินในมุมแคบแล้วจะล้นอย่างแน่นอน แต่ถ้าหากเอางานมาเป็นตัวกำหนด เฉพาะงานตามกฎหมายก็มีมากมาย เช่น การปฏิบัติงานตามกฎหมายอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพเพียง 3 ฉบับ คือ พ.ร.บ.การสาธารณสุข, พ.ร.บ.โรคติดต่อ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค กำลังคนกับงานที่ต้องทำก็ไม่น่าจะครอบคลุมหรือเพียงพอแล้ว ยังไม่รวมกับการเปิดเสรีอาเซียนซึ่งจะทำให้การเข้า-ออกระหว่างประเทศของประชาชน สัตว์ และพืช เป็นไปอย่างกว้างขวาง เป็นช่องทางของโรคภัยต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก งานของนักวิชาการสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขย่อมมีเพิ่มมากขึ้น

รศ.สุรชาติ กล่าวว่า ทั้งนี้จากกรอบอัตรากำลังคงของกระทรวงสาธารณสุขที่ถูกจำกัด ที่ผ่านมาจึงมีข้อเสนอให้ท้องถิ่นพิจารณาให้ความสำคัญกับงานสาธารณสุขเพิ่มขึ้นและใช้เป็นตัววัดประสิทธิภาพ ท้องถิ่นใดมีศักยภาพเพียงพอให้ถ่ายโอนงานสาธารณสุขเต็มรูปแบบไปโดยต้องคำนึงถึงความก้าวหน้าและความมั่นคงของบุคลากรด้านการสาธารณสุข ทั้งยังทำให้การทำงานด้านสาธารณสุขตรงกับความต้องการในพื้นที่ เพียงแต่ต้องมีการจัดทำแผนรองรับ ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามจากการที่ได้เข้าให้ข้อมูลและควาเห็นเพิ่มเติมต่อคณะกรรมการกำลังคนสุขภาพ จึงได้ให้มีการศึกษาเพิ่มเติม โดยขยายขอบเขตการศึกษา ซึ่งหลังจากนี้คงต้องมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันต่อไป