ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การเกิดขึ้นของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษได้นำมาซึ่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน อุตสาหกรรม และการหลั่งไหลของแรงงานข้ามชาติ ในขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาสังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคงและปัญหาด้านสาธารณสุขเช่นกัน ซึ่งได้นำเสนอในตอนแรกว่า ปัญหาสาธารณสุขเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมีการคาดการณ์ว่าโรคที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในจังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีทั้งโรคติดต่อ โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรม โรคที่เกิดจากวิถีชีวิตอันเนื่องจากความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม การบาดเจ็บทางถนน โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงปัญหาสุขภาพจิต ดังนี้

โรคติดต่อที่สำคัญ ได้แก่ มาลาเรีย และวัณโรค ยังคงเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ชายแดนไทย และการเกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทำให้มีการเคลื่อนย้ายประชากร โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในไทย อาจทำให้ปัญหาโรคติดต่อดังกล่าวมีมากขึ้น ในกรณีของมาลาเรียแม้ปัจจุบันประเทศไทยสามารถควบคุมไข้มาลาเรียได้ระดับหนึ่งทำให้อุบัติการณ์และอัตราการตายลดลง แต่ในพื้นที่บริเวณจังหวัดชายแดนไทย-เมียนมา และไทย-กัมพูชายังคงเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะเชื้อมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัมดื้อยาผสมอนุพันธ์อาร์ติมิซินินที่พบใน 3 จังหวัดเขตเศรษฐกิจพิเศษ ได้แก่ ตราด กาญจนบุรี และตาก

นอกจากนี้ ยังพบว่าจังหวัดในเขตเศรษฐกิจพิเศษมีอุบัติการณ์และอัตราตายสูงกว่า 31 จังหวัดชายแดน ประมาณ 1 เท่า และประเทศประมาณ 3 เท่า โดยจังหวัดที่มีอุบัติการณ์และอัตราการตายสูงคือ จังหวัดตาก กาญจนบุรี และสงขลา พบผู้ป่วยข้ามชาติอยู่ที่ 6,028-10,721 ราย

สำหรับวัณโรคที่ยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศนั้น การเกิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในประเทศไทยอาจส่งผลให้ปัญหาวัณโรคเพิ่มขึ้น ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าร้อยละ 80 ของผู้ป่วยวัณโรครายใหม่อยู่ในเอเซีย โดยในปี พ.ศ.2556 พบประเทศเพื่อนบ้าน คือ เมียนมาและกัมพูชามีอัตราป่วยวัณโรคสูงสุดถึง 377 และ 411 ต่อประชากร 100,000 คน ประเทศไทยใน พ.ศ.2555-2558 คาดประมาณอัตราป่วยวัณโรคมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 119 ต่อ 100,000 คน เป็น 170 ต่อ 100,000 คน

สำหรับจังหวัดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้นพบอัตราป่วยจริงที่ขึ้นทะเบียนอยู่ระหว่าง 75-83 ต่อ 100,000 คน และในส่วนของผู้ป่วยวัณโรคข้ามชาติส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา รองลงมาเป็นชายแดนไทย-กัมพูชา โดยใน พ.ศ.2555-2558 พบผู้ป่วยวัณโรคข้ามชาติถึง 662-876 ราย

โรคที่เกิดจากการประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยพบว่าอัตราป่วยจากการบาดเจ็บจากการทำงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี พ.ศ.2556-2557 จาก 266.9 ต่อ100,000 คน เป็น 312.8 ต่อ 100,000 คน รองลงมาเป็นประสาทหูเสื่อม ส่วนโรคพิษจากสารทำลาย และโรคปอดจากฝุ่นมีอัตราคงที่ และเมื่อมีการส่งเสริมกิจการอุตสาหกรรมกว่า 13 กิจการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจึงคาดว่าโรคดังกล่าวจะมีแนวโน้วเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม ซึ่งต้องมีการดูแลและเฝ้าระวังสุขภาพแรงงานต่อไป

โรคที่เกิดจากวิถีชีวิตอันเนื่องจากความเจริญทางเศรษฐกิจและสังคม พบว่าความเปลี่ยนแปลงวิถีการดำเนินชีวิตของผู้คนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นมาก อาทิ มีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ขาดการออกกำลังกาย และอาจมีความเครียดในการปรับตัวต่อการดำเนินชีวิต ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงส่งผลให้เกิดโรคจากวิถีชีวิตหรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สามารถป้องกันได้เพิ่มมากขึ้น โดยในปี พ.ศ.2555-2558 พบอัตราผู้ป่วยในและอัตราตายด้วยโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด รองลงมาเป็นหัวใจ เบาหวาน มะเร็ง และหลอดเลือดสมอง ขณะที่อัตราตายด้วยโรคดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น คือ มะเร็งมากที่สุด รองลงมาเป็น หัวใจ หลอดเลือดสมอง เบาหวาน และความดันโลหิตสูง

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเนื่องจากมีการเคลื่อนย้ายประชากรวัยแรงงานเข้ามาทำงานมากขึ้น จากข้อมูลพบว่าในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีอัตราป่วยเพิ่มขึ้นจาก 78.2 ต่อ 100,000 คนใน พ.ศ.2555 เป็น 84.7 ต่อ100,000 คนใน พ.ศ.2557 และลดลงเหลือ 65.3 ต่อ 100,000 คนใน พ.ศ.2558 ซึ่งนับเป็นอัตราป่วยสูงกว่าค่าประเทศ

สำหรับคนข้ามชาติพบว่ามีผู้ป่วยข้ามชาติด้วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ปีละ 600-900 ราย ในปี พ.ศ.2555-2558 และจากผลการสำรวจการเฝ้าระวังพฤติกรรมที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี ใน พ.ศ. 2553 และ พ.ศ.2555 เฉพาะจังหวัดที่สุ่มคัดเลือกมาพบว่าจังหวัดตราดมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีสูงที่สุด รองลงมาเป็นนครพนม และกาญจนบุรี

นอกจากนี้ ในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมีอัตราการบาดเจ็บทางถนนเพิ่มสูงขึ้น โดยพบว่าในปี พ.ศ. 2555-2557 มีอัตราการบาดเจ็บทางถนนอยู่ระหว่าง 22.4-24.8 ต่อ100,000 คน และในปี พ.ศ.2558 ยังพบว่าจังหวัดเชียงรายและสงขลามีอัตราตายจากการบาดเจ็บทางถนนสูงถึง 33.3 และ 26.7 ต่อ 100,000 คน ตามลำดับ

อีกทั้งการเปิดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษและประชาคมอาเซียนยังทำให้ผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศไทยแตกต่างค่านิยม ความเชื่อ วัฒนธรรม ตลอดจนการใช้ชีวิตทำให้อาจเกิดความเครียดและขัดแย้งระหว่างคนในพื้นที่กับคนที่เคลื่อนย้ายเข้ามา ตลอดจนนักท่องเที่ยว ซึ่งอาจทำให้ปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้น โดยในจังหวัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษพบอัตราป่วยด้วยโรควิตกกังวล โรคจิต โรคซึมเศร้า และฆ่าตัวตาย อยู่ระหว่าง 245.3-615.5 ต่อประชากร 100,000 คน ในพ.ศ. 2555-2558 และพบอัตราฆ่าตัวตายอยู่ที่ 7.0 ต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งในจังหวัดเชียงรายและตากยังมีอัตราฆ่าตัวตายสูงกว่าค่าประเทศอีกด้วย

แนวโน้มของโรคและความเจ็บป่วยในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าว เป็นสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันในการรับมือป้องกันและเยียวยาเพื่อสุขภาพของประชากรท่ามกลางการพัฒนาประเทศในปัจจุบัน

ตอนต่อไปติดตาม 'กำลังคนสุขภาพ' ศักยภาพและความพร้อมในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

เรียบเรียงจาก

สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข. (ร่าง) แผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขเพื่อรองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. 2560-2564. นนทบุรี :กระทรวงสาธารณสุข, 2559, หน้า 12-20.