ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.เร่งดึงแรงงานข้ามชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา พร้อมผู้ติดตามเข้าสู่ระบบสุขภาพ ล่าสุดซื้อบัตรประกันสุขภาพตามมติ ครม.แล้ว 1.5 ล้านคน สั่งการ สสจ.ให้แรงงานข้ามชาติในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ทำงานไป-กลับหรือตามฤดูกาล ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพ ตามมาตรา 14 กฎหมายการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.2551 

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้บริหารจัดการแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมา ลาว และกัมพูชา ภายหลังวันที่ 31 มีนาคม 2559 ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในกลุ่มที่มีบัตรสีชมพู และกลุ่มที่มีเอกสารที่ประเทศต้นทางออกให้ จากการตรวจสัญชาติหรือพิสูจน์สัญชาติทุกกลุ่ม รวมถึงผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตรของแรงงานต่างด้าวที่อายุไม่เกิน 18 ปี มีเอกสารหนังสือเดินทางที่เคยมีใบอนุญาตทำงานแล้ว โดยระหว่างวันที่ 1 เมษายน-29 กรกฎาคม 2559 ได้ดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม มีแรงงานต่างด้าว ผู้ติดตามและคนต่างด้าวเข้ารับการตรวจสุขภาพและซื้อบัตรประกันสุขภาพ 1,527,204 คน  ประกอบด้วย สัญชาติเมียนมา 929,964 คน ลาว 96,558 คน กัมพูชา 498,550 คน และสัญชาติอื่นๆ 2,132 คน

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกประชาคมอาเซียน ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างเสรี โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย ตาก กาญจนบุรี ตราด สระแก้ว นครพนม หนองคาย มุกดาหาร นราธิวาส และสงขลา ดังนั้น การดูแลด้านสุขภาพแรงงานต่างด้าว ต้องมีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป ทั้งการลงทะเบียน การกำหนดสิทธิประโยชน์ การเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ระบบการเงินกองทุนหลักประกันตนคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว เพื่อให้การดูแลเป็นไปตามสิทธิประโยชน์ การบริหารจัดการกองทุนแรงงานต่างด้าว ตามมาตรา 14  แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551

ดังนั้น เพื่อให้การดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวครอบคลุมตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทั้ง 10 จังหวัด ส่งข้อมูลแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา ลาวและกัมพูชา ที่เข้ามาทำงานในลักษณะไป - กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ทุกเดือน พร้อมผลการตรวจสุขภาพและการประกันสุขภาพ ซึ่งผู้ที่เข้ามาทำงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษต้องตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ในสถานบริการของรัฐ และมีการประกันสุขภาพในช่วงระยะเวลาไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่ให้ทำงานในประเทศไทย