ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมบัญชีกลาง เปิดระดมความเห็น “ดึงประกันเอกชนบริหารกองทุนรักษา ขรก.” ตัวแทน ขรก. สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ภาคประชาชน ผู้บริหารโรงเรียนแพทย์ ร่วมส่งเสียงคัดค้านไม่เห็นด้วย ระบุขาดความชัดเจน ใช้งบบริหารสูง ทั้งมีความเสี่ยงกระทบระบบและสิทธิรักษา ขรก. เผยบทเรียนจากกองทุนผู้ประสบภัยจากรถ แนะกรมบัญชีกลางหากคุมงบประมาณต้องแก้ที่ต้นเหตุ ด้าน สมาคมประกันฯ ขอความชัดเจนภายใน ก.พ. 60 เพื่อเตรียมเดินหน้าระบบ 1-2 ปีแรกออกแบบระบบก่อน และต้องประกันระยะยาว 5 ปีขึ้นไป ขณะที่ “สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ” ทำหนังสือถึง รมว.คลัง ทบทวน

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 ที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง –ในเวทีระดมความเห็นเรื่อง “การนำระบบประกันสุขภาพมาใช้แทนระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน” จัดโดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง โดยเชิญผู้แทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมให้ความเห็น ทั้งตัวแทนข้าราชการในฐานะผู้ได้รับผลกระทบ ผู้ให้บริการ ผู้แทนกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ อาทิ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนโรงเรียนแพทย์ ผู้แทนโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม ผู้แทนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานประกันสังคม ตัวแทนข้าราชการจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร และสมาคมผู้พิทักษ์สิทธิข้าราชการ เป็นต้น 

นายอานนท์ วังวสุ

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การที่สมาคมประกันเอกชนเสนอเรื่องนี้เพื่อเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับกองทุนสวัสดิการข้าราชการ เช่นเดียวกับที่เข้ามาบริหารประกันความเสี่ยงด้านเกษตรที่ได้ดำเนินการ สามารถลดเบี้ยประกันจากไร่ละ 300 บาท เหลือเพียงไร่ละ 100 บาทเท่านั้น เพราะหากให้ภาครัฐดำเนินการคงเดินไปได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันกองทุนสวัสดิการข้าราชการมีค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยสูงกว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและประกันสังคม ทั้งนี้การดำเนินงานของสมาคมฯ จะบริหารภายใต้เงื่อนไขที่ได้รับมอบจากกรมบัญชีกลาง คือสิทธิประโยชน์รักษาข้าราชการต้องไม่ลดลงกว่าเดิม การบริหารที่ได้รับต้องเหมือนเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม และงบประมาณที่ภาครัฐจ่ายต้องไม่มากกว่าเดิม แต่ทั้งนี้ยังมีสิ่งที่กังวลใจคือตัวเลขการเบิกจ่ายที่ได้รับก่อนหน้านี้อยู่ที่ 22 ล้านครั้งต่อปี แต่ปี 2559 ล่าสุดขยับไปถึง 29.4 ล้านครั้ง ตรงนี้จะทำอย่างไร ประกอบกับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งจะทำให้มีผู้ป่วยโรคเรื้อรังไม่ติดต่อเพิ่มขึ้น

ดังนั้นในช่วง 1-2 ปีแรก คงยังไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากนัก ยังคงเป็นเพียงช่วงการออกแบบระบบและบริหารจัดการก่อน ซึ่งต้องใช้ข้อมูลคณิตศาสตร์ในเชิงลึกเพื่อวางระบบ ปีแรกเราจึงขอเพียงไม่ขาดทุนเท่านั้น โดยจะรับประกันสวัสดิการรักษาข้าราชการเท่ากับงบที่ภาครัฐใช้ในการจ่ายค่ารักษาข้าราชการในปัจจุบัน เพื่อโอนจ่ายเป็นเบี้ยประกัน ขณะที่ค่าบริหารจัดการเพื่อวางระบบในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลเราพร้อมที่จะลงทุนเอง เนื่องจากเรามีเครือข่ายพอควรเพียงแต่ยังไม่เป็นระบบเดียวกัน โดยตั้งเป็นหน่วยงานร่วมเพื่อบริหารเรื่องนี้โดยเฉพาะ 

“จำนวนอัตราเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล 30 ล้านครั้งต่อปี ตรงนี้คงต้องมาดูว่าจะบริหารอย่างไร เพื่อให้ทันและเป็นที่พอใจทั้งผู้ใช้บริการซึ่งเป็นข้าราชการและครอบครัว ผู้ให้บริการที่เป็นหน่วยบริการต่างๆ รวมถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่จะมีการเจ็บป่วยและเบิกจ่ายเพิ่มขึ้นตรงนี้จะรับมืออย่างไร ซึ่งสิ่งที่คาดหวังในปีแรก เราจึงยังไม่ได้มุ่งลดค่ารักษาพยาบาลหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่ายในระบบ เพียงแต่หวังจะได้ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ อาทิ อายุ เพศ ภาวะเจ็บป่วย การเบิกจ่ายยา และค่ารักษาในระบบรักษาพยาบาลข้าราชการ เพื่อใช้สำหรับการวางแผนบริหารงานสำหรับอนาคต ในระยะต่อไปอาจเริ่มมีการปรับระบบบ้าง แต่ไม่ใช่การตัดทอนสิทธิประโยชน์ และการประกันให้ข้าราชการนั้นต้องเป็นการประกันระยะยาว 5 ปีขึ้นไป” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าว

นายอานนท์ กล่าวว่า เพื่อให้ระบบเดินหน้า สมาคมฯ อยากได้คำตอบชัดเจนเรื่องนี้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2560 เพื่อให้มีเวลา 6-7 เดือนที่เพียงพอในการจัดวางระบบก่อนเริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 นี้ ซึ่งที่ผ่านมาทางสมาคมฯ ได้เริ่มพูดคุยกับบริษัทซอฟต์แวร์เพื่อออกแบบระบบบริหารแล้ว

ขณะที่ตัวแทนสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า หลักการในการรับประกันของสมาคมประกันชีวิตไทยคล้ายกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ซึ่งโจทย์ที่ได้รับมายอมรับว่าเป็นโจทย์ที่ใหญ่มาก เพราะไม่สามารถไปแตะต้องสิทธิสวัสดิการเดิมที่ข้าราชการเคยได้รับ ทั้งยังต้องมีบริการที่ดีกว่าเดิม ขณะที่ในงบประมาณ 7 หมื่นล้านบาทที่รัฐจ่ายเป็นค่ารักษาพยาบาลข้าราชการอยู่นี้ ยังมีค่าใช้จ่ายการบริหารระบบแฝงอยู่ในการทำงานของกรมบัญชีกลางและหน่วยบริการภาครัฐ ซึ่งตรงนี้เราต้องเป็นผู้รับค่าใช้จ่ายตรงนี้ทั้งหมด โดยจากการศึกษาคาดว่าเฉพาะค่าใช้จ่ายการลงทุนเพื่อจัดทำระบบนี้คงไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามในปีแรกเราคงทำอะไรไม่ได้มากเพราะคงต้องยึดรูปแบบการจ่ายเดิม แต่หลังจากนั้นเมื่อได้เข้ามาทำงานร่วมกับกรมบัญชีกลาง และให้นักคณิตศาสตร์ประกันภัยช่วยในการออกแบบจัดทำระบบ จึงสามารถเสนอควบคุมค่าใช้จ่ายได้   

“ในช่วง 2 ปีแรกยังเป็นเพียงการลงทุนและเรียนรู้ระบบ หลังจากนั้นจึงจะสามารถเสนอแนวทางการควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ในงบประมาณที่รัฐกำหนดได้ ขณะนี้จึงยังไม่สามารถให้พันธะสัญญาอะไรได้ว่ารูปแบบการดำเนินงานของเราจะเป็นอย่างไร เพราะเรายังไม่เห็นตัวเลขที่ใช้ในการทำธุรกิจชัดเจนเช่นกัน ซึ่งคงต้องใช้เวลาเก็บรายละเอียดก่อนเพื่อนำมาเสนอแนะต่อรัฐบาลได้ เพียงแต่ยืนยันได้ว่าสิทธิต่างๆ ของข้าราชการยังคงเหมือนเดิม” ตัวแทนสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าว 

ทั้งนี้ภายหลังการเสนอข้อมูลโดยสมาคมประกันภัยฯ ได้เปิดเวทีรับฟังความเห็น โดย นายมงคล ดวงคำ ข้าราชการบำนาญ กล่าวว่า สมัยที่ยังเด็ก พ่อแม่บอกให้รับราชการถึงเงินเดือนน้อย แต่มีสวัสดิการ มีบำนาญ และที่ดีที่สุดคือค่ารักษาพยาบาล แต่มาถึงวันนี้ทำให้ไม่แน่ใจในระบบราชการเพราะกำลังจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบที่อาจกระทบต่อสิทธิเดิมที่เคยได้รับโดยนำระบบเข้าสู่ธุรกิจ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีข่าวการวิ่งยา แต่ข้อมูลผู้กระทำเพียง 19 ราย เพียงพอแล้วหรือไม่ที่จะส่งเรื่องนี้ให้บริษัทเอกชนดำเนินการแทน อีกทั้งการบริหารของกรมบัญชีกลางที่ผ่านมาใช้เพียงแค่ 1 บาทต่อการเบิกจ่าย 1 ครั้ง ขณะที่การดำเนินธุรกิจเอกชนย่อมหวังกำไรทำให้กังวลว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

“จากการนำเสนอของสมาคมประกันภัย 1-2 ปีแรกเป็นเพียงการศึกษาข้อมูล และต่อไปจึงส่งมอบให้เอกชนดำเนินการภายใต้งบประมาณที่ยืดหยุ่นที่เชื่อว่าน่าจะเพิ่มมากกว่าลดลง ขณะที่ข้อมูลประชากร เมื่อหมดยุคประชากรในช่วงเบบี้บูมที่เข้าสู่ช่วงสูงอายุขณะนี้ ค่ารักษาพยาบาลก็คงลดลงแล้ว รู้สึกเสียใจทำไมรัฐจึงมีแนวคิดขายระบบสวัสดิการข้าราชการให้เอกชนที่กระทบต่อข้าราชการโดยตรง” ตัวแทนข้าราชการบำนาญ กล่าวและว่า ทั้งนี้อยากให้มีการจัดเวทีนี้ไปทั่วประเทศเพื่อรับฟังความเห็นจากข้าราชการภาคส่วนต่างๆ ว่าเขาอยากให้ระบบเป็นแบบไหน เพราะแม้ว่าบริษัทเอกชนจะตั้งใจทำดีที่สุด แต่ทั้งหมดก็ไม่สามารถรับประกันได้

นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ในฐานะตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า เราไม่ควรยกระบบรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการให้บริษัทเอกชนบริหารเพราะมีความเสี่ยงสูง และมองไม่ออกว่าการให้บริษัทเอกชนเข้ามาบริหารและจะทำให้ค่ารักษาพยาบาลไม่สูงขึ้นได้อย่างไร แม้ว่าปัจจุบันค่ารักษาพยาบาลระบบสวัสดิการข้าราชการจะสูงมาก แต่การควบคุมค่าใช้จ่ายรัฐบาลควรดูว่าจะควบคุมอย่างไรโดยดูจากสาเหตุมากกว่า ซึ่งหากเกิดจากการเบิกจ่ายตรง หน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงการคลังและหน่วยบริการต้องมาช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร ประกอบกับที่ผ่านมามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าข้าราชการต้องได้รับการรักษาที่ราคาแพง จึงส่งผลให้ค่ารักษาพยาบาลพุ่งสูง โดยใช้เงินถึงร้อยละ 50 ของงบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดูแลประชากรทั้งประเทศ ตรงนี้จะทำอย่างไรมากกว่า เหล่านี้ต้องใช้ความร่วมมือในการควบคุมค่าใช้จ่าย

“หากเราดูจากประสบการณ์จากกองทุนรักษาพยาบาลผู้ประสบภัยจากรถ บริษัทประกันใช้ค่าบริหารจัดการถึงร้อยละ 47 ของงบประมาณกองทุน เห็นได้ชัดว่าประโยชน์ตกสู่เอกชน และเมื่อฟังการนำเสนอของสมาคมประกันภัยว่าไม่สามารถให้พันธะสัญญาว่าจะบริหารแบบไหน ทั้งยังจะใช้งบมากกว่า จึงไม่เห็นคุณค่าที่กรมบัญชีกลางจะไปเปลี่ยนระบบใหม่นี้” ตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าว  

พ.ต.ท.หญิง ฐิชาลักษณ์ ณรงค์วิทย์ สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ กล่าวว่า จากการนำเสนอของสมาคมประกันภัยที่ผ่านมายังมองไม่เห็นว่าระบบการจ่ายที่สมาคมฯ จะลงทุนเป็นพันล้านบาทเพียงเพื่อศึกษาระบบในช่วง 1-2 ปี ซึ่งต้องถามว่าหากไม่เป็นไปตามที่สมาคมฯ ตั้งเป้าหมายไว้ ตรงนี้ถามว่าจะทำอย่างไร แล้วใครจะรับผิดชอบ อีกทั้งการดำเนินการที่ได้รับการยืนยันให้คงสิทธิการรักษาข้าราชการที่ยังเหมือนเดิม จึงมองไม่ออกว่ากรมบัญชีกลางจะทำทำไมและทำไมไม่ใช้ระบบเดิม ทั้งนี้ปัจจุบันในระบบรักษาพยาบาลผู้ทำงานในภาครัฐยังมีความแตกต่างกันมาก จึงอยากให้ภาครัฐหันมาดูแลในส่วนนี้มากกว่าก่อนที่จะเดินหน้าไปทำระบบอื่น

ขณะเดียวกันยังมีความเห็นจากผู้บริหารกลุ่มโรงเรียนแพทย์ อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียติ เป็นต้น โดยต่างไม่เห็นด้วยกับแนวทางมอบให้บริษัทประกันภัยเข้ามาบริหารกองทุนรักษาพยาบาลสวัสดิการข้าราชการ โดยต่างตั้งคำถามถึงการบริหารจัดการตามที่สมาคมประกันภัยได้นำเสนอที่ยังขาดความชัดเจน โดยเฉพาะการขอระยะเวลาทดลองศึกษาระบบในช่วง 2 ปีแรก ความเป็นไปได้ในการคงสิทธิประโยชน์เช่นเดิม และการปรับเปลี่ยนยืดหยุ่นระบบในภายหลัง รวมถึงแนวทางการควบคุมงบประมาณที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐานทางการแพทย์ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์

ทั้งนี้ นอกจากนี้สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ ยังได้ทำหนังสือถึง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เพื่อขอหารือเกี่ยวกับการลิดรอนสิทธิ์อันอาจจะเกิดการเปลี่ยนแปลงระบบสวัสิการรักษาพยาบาลข้าราชการ โดยขอให้กระทรวงการคลังทบทวนการดึงบริษัทประกันภัยเข้ามาบริหารกองทุนรักษาพยาบาลข้าราชการ เนื่องจากเป็นรูปแบบที่จะกระทบต่อผู้ใช้สิทธิในระบบจำนวน 5 ล้านคน