ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ยินดีให้ภาครัฐทยอยแบ่งจ่ายเบี้ยประกันสุขภาพข้าราชการเป็นงวด ๆ ได้ หากเห็นว่าเงินที่ต้องจ่ายสูงเกินไป สำหรับวงเงินเบี้ยประกันอยู่ระหว่างการรอข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปภายในเดือน พ.ค.นี้

นายอานนท์ วังวสุ

นสพ.เดลินิวส์ : นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้สมาคมฯ ได้สรุปผลศึกษา และเงื่อนไขการจัดทำโครงการประกันภัยค่ารักษาพยาบาลแก่ข้าราชการ แทนการใช้ระบบสวัสดิการของภาครัฐให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว โดยแนวทางการรับชำระเบี้ยประกันสมาคมฯ ยินดีให้ภาครัฐทยอยแบ่งจ่ายเบี้ยเป็นงวด ๆ ได้ หากเห็นว่าเงินที่ต้องจ่ายสูงเกินไป สำหรับวงเงินเบี้ยประกันอยู่ระหว่างการรอข้อมูลเพื่อหาข้อสรุปภายในเดือน พ.ค.นี้

"ที่ผ่านมางบรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปีงบประมาณ 57 อยู่ที่ 62,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 66,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 58 และทะลุขึ้นไปถึง 71,000 บาทในปีงบประมาณ 59 โดยพบว่าค่าใช้จ่ายค่ายามีสัดส่วนสูง 70% และอีก 30% เป็นค่าหมอ ค่าบริการ ค่าอวัยวะเทียม ฯลฯ ซึ่งในปี 60 หากงบประมาณยังเพิ่มขึ้นอีก ก็จำเป็นต้องนำแนวโน้มรายจ่ายของรัฐที่เพิ่มขึ้นมาใช้คำนวณ ร่วมกับฐานงบประมาณที่ใช้ในปีล่าสุดด้วย"

นายอานนท์ กล่าวต่อว่า สมาคมฯ ยังได้เสนอแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจสอบ และลดการรั่วไหลของรายจ่ายค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ โดยจะเน้นการนำระบบอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยตรวจสอบและจัดเก็บข้อมูล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยนอกจะมีการจับตาเป็นพิเศษ เพราะมีสัดส่วนมากถึง 70% ของผู้ป่วยทั้งหมด ที่สำคัญผู้ป่วยนอกเหล่านี้ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับยาเกือบ 70% ซึ่งส่วนมากเป็นการใช้ยานอกบัญชีราคาแพงที่นำเข้าจากต่างประเทศด้วย ซึ่งจะต้องเข้าไปตรวจสอบว่ามีความจำเป็นในการใช้มากน้อยแค่ไหน หรือมีความปกติอะไรบ้าง เพราะปัจจุบันงบค่ารักษาข้าราชการแต่ละปีใช้ไปกับการจ่ายค่ายาสูงมาก  ขณะที่ผู้ป่วยในส่วนใหญ่ไม่น่ามีปัญหาเพราะเป็นโรคที่เห็นได้ชัดเจน และเป็นโรคที่มีการรักษาอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้สอดคล้องกับผลการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า ที่พบว่าที่ผ่านมากรมบัญชีกลางมีการตรวจสอบการจ่ายค่ารักษาเพียง 0.02% จากจำนวนการขอเบิกจ่ายเฉลี่ย 22 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งถือว่ามีการตรวจสอบไม่เยอะเนื่องจากกรมบัญชีกลางมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณและบุคลากรตรวจสอบ ขณะที่บริษัทประกันภัยมีความพร้อมและความเชี่ยวชาญมากกว่า โดยค่าเฉลี่ยการตรวจสอบการเคลมสูงถึง 25% ของจำนวนที่ขอเคลมเข้ามาทั้งหมด

"เอกชนจะใช้จุดแข็งในเรื่องการตรวจสอบเพื่อช่วยให้เกิดความถูกต้อง โดยเฉพาะการดูแลกระบวนการจ่ายเคลมผู้ป่วยนอก รวมถึงดูความเสี่ยงในการบริหารค่ารักษาพยาบาลจากอายุของข้าราชการ เพราะตามสถิติคนที่อายุมากจะเข้ารับการรักษาบ่อย และค่ายาจะปรับขึ้นทุกปี ตลอดจนจะจัดทำข้อมูลประวัติการเคลม หรือการเบิกยา กรณีผู้ป่วยนอกที่ยังไม่ค่อยชัดเจน จนทำให้เกิดจุดอ่อนก่อให้เกิดการทุจริต"

ด้านนายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทได้ตอบรับสมาคมประกันวินาศภัย เพื่อเข้าร่วมโครงการประกันภัยค่ารักษาพยาบาลแก่ข้าราชการแทนการใช้ระบบสวัสดิการของภาครัฐแล้ว โดยมองว่าเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยให้รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันก็ช่วยให้ข้าราชการได้รับความสะดวกในการรักษาพยาบาลไม่แตกต่างจากเดิม

สำหรับสัดส่วนการเข้าไปรับประกันในโครงการ ขณะนี้ยังไม่ได้สรุป เพราะต้องรอดูการเข้าร่วมของบริษัทประกันภัยแห่งอื่นด้วย ซึ่งหากมีผู้สนใจไม่มาก ทิพยประกันภัยก็พร้อมเข้าไปรับประกันในส่วนที่ขาดให้ครบ

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560