ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นสพ.ประชาชาติธุรกิจ : หลังจากเงียบไปพักใหญ่ สำหรับกระแส แนวคิดการให้ธุรกิจประกันภัยเข้ามาดูแลสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัวกว่า 5 ล้านคน เพราะถูกรัฐบาล "ติดเบรก" เพื่อลดดีกรีความร้อนแรงของเสียงค้านจาก "บรรดาหมอ ๆ และข้าราชการ" บางส่วน

อย่างไรก็ตาม กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง และทางสมาคมประกันวินาศภัยไทย ยังคงเดินหน้าศึกษาเรื่องนี้มาโดยตลอด กระทั่ง "อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์" รมว.คลัง ยอมรับว่า มีแนวคิดจะทำ "บัตรเบิกเงินค่ารักษาพยาบาล" ให้ข้าราชการและครอบครัว เพราะเชื่อว่าจะช่วยอุดช่องโหว่จากการรั่วไหลของค่ารักษาพยาบาลลงได้ และคาดว่าจะเริ่มได้ในเดือน พ.ค.-มิ.ย.นี้

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

ขณะที่ "อานนท์ วังวสุ" นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ สมาคมได้สรุปผลศึกษาส่งให้ภาครัฐพิจารณาแล้ว รอเพียงการตัดสินใจเชิงนโยบายเท่านั้น ซึ่งมีแนวทางที่จะสามารถบริหารค่ารักษาพยาบาลข้าราชการได้ดีขึ้น เพราะมีระบบตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้รู้ที่มาของค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

โดยที่ผ่านมา งบฯรักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากปีงบประมาณ 2557 อยู่ที่ 62,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 66,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2558 และทะลุขึ้นไปถึง 71,000 บาท ปีงบประมาณ 2559 ซึ่งพบว่าค่าใช้จ่ายกว่า 60% เป็นค่ายา และอีก 40% เป็นค่าหมอ ค่าบริการ ค่าอวัยวะเทียม ฯลฯ

"ค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเพิ่มขึ้นจากหลายสาเหตุ แต่หลัก ๆ มาจากข้าราชการสูงอายุมากขึ้น ต้องรักษาตัวบ่อย ค่ายาจึงเพิ่มขึ้น และกว่า 70% เป็นผู้ป่วยนอก ซึ่งมาหาหมอและรับยากลับบ้าน เราก็ต้องดูว่าการจ่ายยาซ้ำซ้อนหรือไม่" อานนท์กล่าว พร้อมยืนยันว่า ข้อเสนอของสมาคม เป็นไปตามเงื่อนไขว่าข้าราชการจะได้รับสิทธิการรักษาไม่มีปรับลดลงจากที่เคยได้รับอยู่แน่นอน

ขณะเดียวกัน การให้ธุรกิจประกันภัยเข้ามาบริหารจัดการยังมี "จุดเด่น" คือ จะมีระบบเชื่อมโยงกับโรงพยาบาลและการบริหารค่ารักษาพยาบาลอยู่แล้ว ซึ่งสมาคมได้เสนอให้ทำบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (e-Card) เพิ่มขึ้นมา เพื่อระบุตัวตนของข้าราชการที่ได้รับสิทธิอย่างชัดเจน ซึ่งบัตรนี้เวลาเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลใด รักษาอะไร จะมีการบันทึกข้อมูลชัดเจน ทำให้ตรวจสอบง่าย

ส่วนเบี้ยประกันภัยปีแรก จะเป็นจำนวนเดียวกับงบฯค่ารักษาพยาบาลปีนั้น ๆ ที่ ภาครัฐตั้งไว้ แต่ในปีต่อ ๆ ไป เบี้ยประกันภัย อาจจะปรับขึ้นตามอัตรารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมั่นใจว่าการให้ธุรกิจประกันดูแล อย่างน้อยค่ารักษาพยาบาลน่าจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงได้ เพราะจะมีเครือข่ายการจ่ายสินไหม และระบบตรวจสอบที่ชัดเจนกว่าที่ภาครัฐทำอยู่

อีกทั้งยังมีผลการศึกษาของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พบว่า บริษัทประกันมีการตรวจสอบเคลม (การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน) ที่ 25% จากจำนวนเคลม 22 ล้านเคลม แต่กรมบัญชีกลาง มีการตรวจสอบการจ่ายค่ารักษาแค่ 0.02% เท่านั้น เพราะกำลังคนไม่เพียงพอ

"ระบบที่เอกชนนำเสนอ จะรองรับการขยายขอบเขตให้ข้าราชการและครอบครัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนได้ในอนาคต ทำให้สะดวกขึ้น ไม่ต้องรอคิวนาน ขณะที่ บริษัทประกันสามารถควบคุมค่ารักษาพยาบาลได้เหมือนการจ่ายเงินให้โรงพยาบาลรัฐ ผ่านระบบวินิจฉัยโรคร่วม (DRG) ซึ่งเป็นระบบเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลในแต่ละโรค และเป็นระบบที่บริษัทประกันจ่ายเงินให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนอยู่แล้วในปัจจุบัน" อานนท์กล่าว

ด้าน "กี่เดช อนันต์ศิริประภา" ผู้อำนวยการ บริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย เล่าเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีบริษัทประกันภัยที่คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการนี้ จำนวน 32 บริษัท ซึ่งทางสมาคมจะกำหนดสัดส่วนการรับประกันในโครงการ โดยพิจารณาจาก "เงินกองทุน" ของแต่ละบริษัทว่ามีเพียงพอหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์ขั้นต่ำของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กำหนดว่า ต้องมีเงินกองทุนไม่ต่ำกว่า 140% ขณะเดียวกันสมาคมยังต้องคำนึงถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย

ทั้งหมดนี้ หากสามารถอธิบายกับบรรดาคุณหมอและข้าราชการที่คัดค้านข้อเสนอ เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้ แนวคิดเหล่านี้ก็น่าจะผ่านฉลุยได้ไม่ยาก

ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 20 - 22 ก.พ. 2560