ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมประกันวินาศภัยไทยจ่อนัดถก 20 กว่าบริษัทหาข้อสรุปสัดส่วนรับประกันค่ารักษาพยาบาลข้าราชการ พร้อมต่อรองภาครัฐยกเว้นภาษีแวต-จ่ายเงินสมทบให้กับ คปภ.

นายอานนท์ วังวสุ

นสพ.สยามรัฐรายงานเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรับประกันค่ารักษาพยาบาลข้าราชการว่า ขณะนี้มีบริษัทยื่นความจำนงสนใจร่วมโครงการนี้มากว่า 20 บริษัท ซึ่งก็มีการเสนอสัดส่วนรับประกันมารายละ 3%, 5% หรือ10% ซึ่งคงจะต้องประชุมร่วมกันภายในบริษัทที่สนใจอีกทีเพื่อบริหารจัดการแบ่งสัดส่วนรับประกันให้เหมาะสม โดยอาจต้องส่งรายชื่อกว่า 20 บริษัทนี้ให้กับทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อพิจารณาความเสี่ยงในสัดส่วนที่เสนอรับประกันมาเมื่อเทียบกับฐานะเงินกองทุนว่า มีขีดความสามารถรับประกันขนาดไหนอีกที

ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องไม่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือแวต รวมถึงต้องยกเว้นเงินสมทบที่ปกติแล้ว คปภ.จะเรียกเก็บจากเบี้ยประกันที่ธุรกิจรับเข้ามาเพื่อนำไปสมทบหล่อเลี้ยงองค์กร คปภ.ด้วย เพราะมิฉะนั้นแล้วรัฐบาลต้องเป็นผู้จ่ายทั้งภาษีแวตและเงินสมทบจุดนี้ ซึ่งธุรกิจต้องมาบวกตัวเลขค่าใช้จ่ายจุดนี้เข้าไปอีกจะทำให้ต้นทุนโครงการนี้สูงขึ้น

นายอานนท์ กล่าวต่อว่า ต้องถือเป็นเรื่องที่ดี ซึ่งกรมบัญชีกลางมีการดำเนินการใน 2 เรื่องในขณะนี้ตามโมเดลที่สมาคมฯได้เคยเสนอแนวทางให้ไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องให้มีบัตรประจำตัวข้าราชการเพื่อจะได้ติดตามได้ว่า มีข้าราชการคนใดเข้าไปรักษาอย่างไร มีค่ารักษาเท่าไหร่ รวมถึงการให้มีรายงานไปยังเจ้าตัวและหน่วยงานต้นสังกัด รวมไปถึงการจะขยายขอบเขตของระบบคนไข้ในที่จะเป็นระบบเหมาจ่ายแบบเหมาโรค (DRG) ให้สามารถเข้ารักษาเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชนที่กรมบัญชีกลางเปิดให้เข้าร่วมได้เพิ่มเติม จากเดิมกำหนดให้เฉพาะกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเท่านั้นจึงจะเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลเอกชนได้ ทำให้ข้าราชการได้เข้าถึงการรักษาได้สะดวกขึ้น

โดยจากจุดนี้เชื่อว่า น่าจะเป็นตัวแปรให้ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นมาสำหรับตัวเลขปีงบประมาณเดือน ก.ย.60 เพราะจุดนี้ทำให้โครงสร้างค่ารักษาพยาบาลน่าจะเปลี่ยนเพราะแทนที่ข้าราชการต้องรอคิวเข้าเป็นคนไข้ในโรงพยาบาลรัฐเป็น 6 เดือน ต่อไปไม่ต้องรอนานขนาดนั้น อาจจะรอคิวเพียงแค่ 1-2 เดือนเท่านั้น ซึ่งยังไม่รู้ว่า ค่ารักษาพยาบาลปีงบประมาณ 2560 จะเป็น 7.6 หมื่นล้าน หรือเป็น 7 หมื่นล้านบาทยังไม่ทราบ แต่ภาคธุรกิจจะใช้ตัวเลขปิดหีบปี 2560 มาเป็นฐานในการรับประกันในปีงบประมาณ2561 ต่อไป โดยสมาคมฯ จะมีนักคณิตศาสตร์ และมีนักวิชาการมาคำนวณหรือวิเคราะห์เป้าหมายและทิศทางอนาคตโครงการนี้ต่อไปได้ถูกต้องและแม่นยำ

"โครงการนี้ต้องขอยืนยันว่า ธุรกิจประกันภัยเราเข้มแข็งแล้ว เราต้องการมาตอบแทนชาติบ้านเมือง ถ้ามีกำไรในปีแรก เราจะลดเบี้ยประกันลง เพราะเวลานี้ปัญหาคือ 70% เป็นคนไข้นอก และเป็นค่ายาเกือบ 70% ซึ่งมีการใช้ยานอกบัญชีส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งไม่รู้ว่า ทุกวันนี้ภาครัฐจ่ายออกไปนอกประเทศเท่าไหร่ และที่สำคัญจากรายงานล่าสุดของอาจารย์นิด้าระบุออกมาชัดเจนว่ากรมบัญชีกลางมีการตรวจสอบเรื่องค่ารักษาพยาบาลข้าราชการเพียง 0.02% แต่ระบบประกันมีการตรวจสอบเรื่องนี้ถึงร้อยละ 25% สะท้อนให้เห็นว่าประกันภัยน่าจะบริหารจัดการจุดนี้ได้ดีกว่าเพราะต้องอย่าลืมกรมบัญชีกลางมีงบประมาณและบุคลากรไม่เพียงพอ"

ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560